สถานการณ์โดยทั่วไปของบังกลาเทศคาดว่าจะยังคงมีความเสี่ยงทางการเมือง ด้านการจัดหาอาหาร และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การค้าโลกตกต่ำจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้บังกลาเทศยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม IMF ได้ประมาณการเจริญเติบโตของบังกลาเทศในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 6.5

  • ราคาสินค้าอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 อันเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และจากผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของอุปทานสินค้าอาหาร และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น (หมวดอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.56 ในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี)
  • ความผันผวนของราคาอาหารส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้บริโภคที่ยากจนและมีรายได้ปานกลาง ทั้งในเขตเมืองและชนบท
  • บังกลาเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อันมีสาเหตุจากการส่งออกสินค้าหลักลดลง รวมถึงเงินโอนจากต่างประเทศของแรงงานบังกลาเทศโพ้นทะเลลดลง
  • ผลจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลบังกลาเทศได้ออกมาตรการจำกัดการอนุมัติ L/C (เลตเตอร์ออฟเครดิต) ให้ผู้นำเข้า รวมถึง การจำกัดการนําเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้สินค้าบางรายการขาดตลาด
  • บังกลาเทศจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม 2567 ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม 2566 มีการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องให้มีรัฐบาลปัจจุบันลาออก และจัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อบริหารจัดการเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดการจลาจล เผายานพาหนะ ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ฝ่ายรัฐบาลได้จับกุมแกนนำและผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่ง มีการสร้างสถานการณ์ต่อเนื่องตลอดต้นสัปดาห์เดือนพฤศจิกายน โดยกลุ่มผู้ต่อต้านประกาศปิดเส้นทางเข้าออกกรุงธากา เพื่อประท้วงการจับกุมแกนนำและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว รวมทั้งมีเหตุการณ์พนักงานโรงงานเสื้อผ้าออกมาประท้วงขอขึ้นค่าแรง นอกจากนั้น แกนนำพรรคฝ่ายค้านได้ประกาศปิดเส้นทางเข้าออกกรุงธากาเป็นเวลา 48 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566-6 นาฬิกาของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

ราคาข้าวทรงตัว

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ราคาข้าวทุกประเภททรงตัว ในช่วงสัปดาห์ของวันที่ 22 ตุลาคม ราคาข้าวคุณภาพต่ำคงอยู่ที่ 50 ตากา (16 บาท) ต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า ส่วนราคาข้าวคุณภาพปานกลางอยู่ที่  55 ตากา (17.50 บาท) ต่อกิโลกรัม ส่วนราคาข้าวคุณภาพสูงลดลงเหลือ 72 ตากา (23 บาท) ต่อกิโลกรัม ลดลงร้อยละ 4 จากเดือนเมษายน 2566

รูปที่ 1: ราคาเฉลี่ยข้าวคุณภาพต่ำรายเดือน (2560-2566)                             ราคา ตากาต่อกิโลกรัม

สถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์ทางอาหารของบังกลาเทศ

ที่มา: บรรษัทการค้าบังกลาเทศ (Trading Corporation of Bangladesh (TCB))

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน USD $1.00 = 110.00 ตากา = 36.17 บาท

 

การนำเข้า

ในปีงบประมาณ 2566-67 ของบังกลาเทศ (กรกฎาคม 2566-มิถุนายน 2567) ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2566 รัฐบาลบังกลาเทศยังไม่มีประกาศออกใบอนุญาตการนําเข้าข้าว โดยปกติ รัฐบาลบังกลาเทศ จะออกใบอนุญาตนําเข้าข้าว ให้แก่ผู้นําเข้าภาคเอกชนเมื่อราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น

ในเอกสารชี้แจงงบประมาณแห่งชาติของรัฐบาลบังกลาเทศ ได้จัดสรรเงินทุนสําหรับการนําเข้าข้าวของรัฐบาล จำนวน 5 แสนตัน ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลบังกลาเทศจะนำเข้าจากต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการอาหารของบังกลาเทศ ได้ติดต่อสอบถาม สคต. ว่ารัฐบาลใหม่ของไทย มีแนวนโยบายต่อการซื้อขายข้าว G to G เป็นอย่างไร

 การส่งออก

โดยปกติ รัฐบาลบังกลาเทศ จะไม่อนุญาตให้ส่งออกข้าว ยกเว้นการส่งออกข้าวหอมบ้างเป็นบางปี โดยบังกลาเทศจะส่งออกไปยังประเทศที่มีชุมชนบังกลาเทศอาศัยอยู่ ปริมาณส่งออกมีประมาณ 1 หมื่นตันต่อปี โดยก่อนหน้านี้มีบริษัท 45 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าวหอม อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 รัฐบาลบังกลาเทศได้ประกาศสั่งห้ามการส่งออกข้าวทุกชนิด

สถานะปัจจุบันของการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวฤดูอามัน

ในปีการผลิตนี้ แม้ฤดูฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติเมื่อเริ่มการเพาะปลูกข้าวฤดูอามัน จากสำรวจพบว่าต้นข้าวในอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เกษตรกรบางส่วนได้เริ่มเก็บเกี่ยวบ้างแล้ว ในขณะที่ส่วนใหญ่จะเริ่มการเก็บเกี่ยวในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2566 คาดว่า ในปีการผลิตนี้ เกษตรกรน่าจะได้ผลผลิตที่ดี แต่ปัญหาเงินเฟ้อ ต้นทุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแรง ที่เพิ่มสูงขึ้น จะฉุดรั้งผลกำไรจากการขายข้าวลง

ในบังกลาเทศเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ยูเรีย, MoP, TSP และ DAP ในการผลิตสินค้าทางการเกษตร ซึ่งในปีนี้ยังไม่มีรายงานข่าวการขาดแคลนปุ๋ยเคมี แต่ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นและสูงกว่าราคาที่รัฐบาลบังกลาเทศกำหนด โดยในแต่ละปีบังกลาเทศ มีความต้องการปุ๋ยเคมีประมาณ 6 ล้านตัน ส่วนใหญ่จะเป็นการนําเข้า ปริมาณปุ๋ยประมาณร้อยละ 70 ใช้ในการเพาะปลูกข้าว

ราคาแป้งข้าวสาลี

ในบังกลาเทศประชากรนิยมรับประทานแป้งข้าวสาลีในรูปแบบต่างๆ กัน โดยส่วนใหญ่นำแป้งข้าวสาลีผสมน้ำ นวดให้เข้ากัน แผ่เป็นแผ่นบาง นำไปปิ้ง อบ สำหรับรับประทานคู่กับแกง ราคาแป้งข้าวสาลีมักจะต่ำกว่าราคาข้าวเล็กน้อย ในสัปดาห์นี้ รายงานราคาแป้งข้าวสาลีชนิดคุณภาพต่ำบรรจุหีบห่อ ราคา 48 ตากา (15 บาท) ต่อกิโลกรัม และราคาแป้งข้าวสาลีชนิดคุณภาพสูงบรรจุหีบห่อ ราคา 60 ตากา (19 บาท) ต่อกิโลกรัม ตามลําดับ ลดลงประมาณร้อยละ 6 และร้อยละ 8 จากเดือนก่อน

รูปที่ 2: ราคาเฉลี่ยของแป้งข้าวสาลีคุณภาพต่ำรายเดือน  (2560-2566)

สถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์ทางอาหารของบังกลาเทศ

ที่มา: บรรษัทการค้าบังกลาเทศ (Trading Corporation of Bangladesh (TCB))

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน USD $1.00 = 110.00 ตากา = 36.17 บาท

สต็อกข้าวและข้าวสาลีลดลง

ปริมาณข้าวและข้าวสาลีในสต็อกรัฐบาลยังคงลดลงต่อเนื่อง จากการนำสินค้าออกไปจำหน่ายภายใต้โครงการจำหน่ายสินค้าลดค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด สามารถซื้อข้าวและแป้งข้าวสาลี ได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาในท้องตลาด โดย ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2566 ปริมาณข้าวในสต็อกรัฐบาลลดลงเหลือ 1.57 ล้านตัน และข้าวสาลีอยู่ที่ 1.58 แสนตัน (รูปที่ 3)

เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณข้าวในสต็อก รัฐบาลบังกลาเทศได้วางแผนการจัดซื้อข้าวเปลือกจากเกษตกรโดยตรงประมาณ 5 แสนตัน ราคารับซื้อประมาณ 30-44 ตากาต่อกิโลกรัม (9.6-14 บาท)

นอกจากนั้น รัฐบาลบังกลาเทศได้วางแผนการจัดซื้อข้าวสาลีจากบัลแกเรีย (5 หมื่นตัน) จากโรมาเนีย (5 หมื่นตัน) และจากรัสเซีย (3 แสนตัน) ผ่านข้อตกลงการซื้อขายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และจัดประมูลซื้อข้าวสาลีจากนานาชาติเพิ่มอีกจำนวน 1 แสนตัน

รูปที่ 3: สต็อกข้าวและข้าวสาลีรายเดือนในสต็อกรัฐบาล (2565-66)

สถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์ทางอาหารของบังกลาเทศ

ที่มา: กระทรวงการอาหาร

 

ราคาน้ำมันพืชลดลง

ในสัปดาห์นี้ราคาเฉลี่ยของน้ำมันถั่วเหลืองที่ยังไม่ได้บรรจุขวดลดลงเป็น 155 ตากา (49.6 บาท) ต่อลิตร ประมาณร้อยละ 3 จากเดือนที่แล้ว ส่วนราคาน้ำมันปาล์มที่ยังไม่ได้บรรจุขวด ลดลงเหลือ 125 ตากา (40 บาท) ตากาต่อลิตร โดยลดลงประมาณร้อยละ 7 จากเดือนก่อนหน้า (รูปที่ 4)

 

รูปที่ 4: ราคาขายปลีกเฉลี่ยของน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม (2565-66)

สถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์ทางอาหารของบังกลาเทศ

ที่มา: บรรษัทการค้าบังกลาเทศ (Trading Corporation of Bangladesh (TCB))

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน USD $1.00 = 110.00 ตากา = 36.17 บาท

 

ความเห็นสำนักงาน:- สถานการณ์เศรษฐกิจบังกลาเทศยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบาง ประชากรได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์การเมืองที่มีการกระทบกระทั่ง ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออก ไม่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวก ในส่วนของการจัดหาอาหารเพิ่มเติม แม้ว่าในขณะนี้ รัฐบาลบังกลาเทศจะยังคงมีปริมาณข้าวสำรองอยู่ในระดับที่สร้างความมั่นใจ แต่มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะนำเข้าข้าวและ/หรืออนุญาตให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำเข้า

thThai