สปป.ลาว ยังคงบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะกลาง (5 ปี) แม้มีความท้าทายต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้รายงานเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะกลาง 5 ปี (2564-2568) ว่ามีการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.03 ซึ่งบรรลุเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 4 ที่ตั้งไว้ในแผน 5 ปี แม้ว่าลาวจะเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายที่ไม่เคยเผชิญมานานหลายปีซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมภายในประเทศ ภูมิภาค และระดับโลกโดยภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุดที่ร้อยละ 4.53 รองลงมาคือการบริการ ภาษีและภาษีศุลกากร รวมถึงเกษตรกรรม และป่าไม้ ที่ร้อยละ 4 3.6 และ 3.1 ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ ภาคบริการมีความโดดเด่นที่สุดในแง่ของการมีส่วนร่วมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นร้อยละ 37 รองลงมาคืออุตสาหกรรม เกษตรกรรมและป่าไม้ และภาษีและภาษีศุลกากร อยู่ที่ร้อยละ 33.4 18.4 และ 11.23 ตามลำดับ โดยคาดว่าการจัดเก็บรายได้ปี 2566 จะเกินแผนเป้าหมายเล็กน้อย สำหรับการจัดเก็บรายได้ในระยะกลาง สามารถรวบรวมรายได้ 80,704 พันล้านกีบ คิดเป็นร้อยละ 44.9 ของแผนงาน และคิดเป็นร้อยละ 15.55 ของ GDP

 

นอกจากนี้ มาตรการเพื่อหนุนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและลดอัตราเงินเฟ้อกำลังได้รับการผลักดันโดยจำนวนเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31 ของรายได้รวมในปี 2563 เป็นร้อยละ 41.32 ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 50 ตลอดทั้งปี ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของ สปป. ลาว เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับประกันการนำเข้า รวมทั้งบรรเทาความผันผวนที่รุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยน และลดอัตราเงินเฟ้อจากร้อยละ 40 ในกลางปี 2565 เหลือร้อยละ 25.69 ในเดือนกันยายน 2566 อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งบั่นทอนอำนาจการใช้จ่ายของครัวเรือน ในขณะที่ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องส่งผลให้รายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ลดลงโดยรัฐบาลยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรายังคงเปราะบางท่ามกลางผลกระทบของสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลก การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและภาระหนี้สินต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอยังเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ต้องใช้ความพยายามร่วมกันในการแก้ไข

ที่มา : Vientiane Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว

thThai