ที่เมือง Sakarya ทางตอนเหนือของตุรกี ชาวประมงในแถบทะเลดำ (Black Sea) จะออกทะเลตั้งแต่แสงแรกของวันเพื่อเก็บหอยทากทะเล โดยใช้อวนอัลการ์นา (อุปกรณ์จับปลาที่ประกอบด้วยโครงและอวน) กวาดไปตามพื้นทะเล หลังจากทำงานหนักประมาณ 15 ชั่วโมง หอยต่างๆ ที่ถูกจับได้จะถูกแยกตามขนาด หอยทากทะเลที่ตรงตามเกณฑ์จะถูกบรรจุขึ้นรถบรรทุกและส่งไปยังโรงงานในเมือง Sinop และเมือง Ordu เพื่อแปรรูป ในขณะที่หอยทากทะเลที่มีขนาดเล็กกว่าจะถูกปล่อยกลับสู่ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
นาย Bayram Ali Kaya ประธานสหกรณ์การประมง Melenağzı ให้ข้อมูลว่า โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาสามารถจับหอยทากทะเลได้ถึงวันละ 400 กิโลกรัมต่อเรือหนึ่งลำ การจับหอยทากทะเลเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญในภูมิภาคนี้ “หอยทากที่เก็บได้จะถูกส่งออกทั้งหมด เพราะไม่มีการบริโภคในตลาดตุรกี” ส่วนนาย Abdullah Tan ซึ่งทำการประมงมากว่า 35 ปี ระบุว่า การออกทำประมงนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงต้นปีใหม่ สำหรับช่วงฤดูหนาวการทำประมงหอยทากทะเลนั้นสามารถสร้างรายได้มากกว่าและแน่นอนกว่าการหาปลา
หอยทากทะเลที่จับได้จะถูกนำไปต้ม ส่วนเนื้อจะถูกแช่แข็งใส่บรรจุภัณฑ์และส่งออกไปต่างประเทศ สำหรับเปลือกหอยที่เหลืออยู่ก็สามารถขายให้กับประเทศในยุโรปอย่างสเปน และตะวันออกไกลอย่างเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่นิยมมากในการเลี้ยงไก่ โดยเปลือกหอยนับเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่มีปริมาณแคลเซียมสูงซึ่งจะช่วยให้ให้เปลือกไข่แข็งแรง อุตสาหกรรมเวชสำอางที่ใช้สารไบโอแคลเซียมคอร์บอเนตจากเปลือกหอยทดแทนไม่โครพลาสติกในผลิตภัณฑ์สครับผิว หรืออุตสาหกรรมเซรามิคที่ใช้สารสกัดจากเปลือกหอยในการเคลือบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
สำหรับในประเทศไทยก็มีการนำเปลือกหอยอย่างหอยแมลงภู่และหอยมุกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยกระแสการรีไซเคิลหรือนำของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมหนึ่งมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นและการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้คุ้มค่า ถือเป็นแนวทางที่แพร่หลายไปทั่วโลกและได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากการมีภาคการผลิตที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่