สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ (กลุ่มฮามาส) ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการประท้วงอิสราเอลขึ้นในหลายประเทศรวมถึงในหลายพื้นที่ของตุรกี โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 ได้มีการชุมนุมและเดินขบวนประท้วงที่จัดขึ้นโดยองค์การ National Will Platform เพื่อแสดงการต่อต้านต่อกรณีที่อิสราเอลโจมตีกลับปาเลสไตน์และประกาศที่จะกวาดล้างกลุ่มฮามาส โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงมากกว่าหนึ่งพันคนรวมตัวกันที่มิสยิดใหญ่ใกล้จตุรัส Beyazit ก่อนที่จะเริ่มเดินขบวนไปตามถนนพร้อมป้ายแสดงข้อความประท้วง ธงชาติปาเลสไตน์ และธงชาติตุรกีก่อนจะไปจบลงที่ Blue Mosque เพื่อร่วมกันสวดมนต์และแยกย้ายกันเดินทางกลับ
หลังจากนั้นไม่นาน ภายหลังจากเหตุการณ์โจมตีโรงพยาบาล El Ehli ในฉนวนกาซาในคืนวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยกลุ่มฮามาสกล่าวว่าเหตุดังกล่าวเป็นฝีมือของฝ่ายอิสราเอล ในขณะที่ฝ่ายอิสราเอลก็ออกมาปฏิเสธว่าเหตุดังกล่าวเป็นการยิงขีปนาวุธที่ผิดพลาดเองของฝ่ายกลุ่มอิสลามิกญิฮาด (กลุ่มองค์กรที่ใหญ่เป็นอันดับสองในฉนวนกาซา) ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดการประท้วงอิสราเอลที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
ที่เมืองอิสตันบูล ผู้ประท้วงที่ต่อต้านการโจมตีในพื้นที่ฉนวนกาซาของอิสราเอลอยู่แล้วต่างพากันเชื่อมั่นว่าเหตุดังกล่าวเป็นความผิดของฝ่ายอิสราเอล และได้มีการรวมตัวกันเพื่อประท้วงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่หน้าสถานกงสุลใหญ่อิสราเอล ณ เมืองอิสตันบูล โดยได้ปิดล้อมและพยายามจะเข้าไปให้พื้นที่บริเวณหน้าสถานกงสุลใหญ่อิสราเอลฯ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามป้องกันเพื่อรักษาความปลอดภัยจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งฝ่ายผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่รวมแล้วกว่าร้อยคน และหลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ต้องใช้แผงกำแพงเหล็กเข้าปิดกั้นพื้นที่ และไม่อนุญาตให้บุคคลและยานพาหนะผ่านบริเวณดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน ที่กรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี กลุ่มผู้ประท้วงนับพันคนได้รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงอังการา และที่เมืองอดานา เมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งของตุรกีก็มีการรวมตัวประท้วงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่บริเวณหน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ณ เมืองอดานา ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มผู้ประท้วงถือว่าสหรัฐฯ หนุนหลังฝ่ายอิสราเอลอยู่ในความขัดแย้งครั้งนี้ ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้มีการขว้างปาก้อนหินและระเบิดขวดเข้าไปในสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ด้วย ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
แม้ว่ารัฐบาลของตุรกีนำโดยประธานาธิบดีแอร์โดอานที่อยู่ในอำนาจมานานกว่า 20 ปี และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลจะมีท่าทีค่อนข้างเอนเอียงไปทางปาเลสไตน์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลก็ไม่ค่อยคงที่มากนัก แต่ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา (2022) ตุรกีได้เริ่มรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลและทำท่าว่าจะมีความใกล้ชิดและเป็นไปได้ด้วยดีมากยิ่งขึ้น และพยายามจะวางตัวเป็นคนกลางที่อาจจะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย โดยในช่วงต้นของความขัดแย้งในครั้งนี้ที่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลก่อน ทางตุรกีก็ได้แสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจต่ออิสราเอล จนกระทั่งฝ่ายอิสราเอลโจมตีกลับเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซา และประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างออกหน้า ทำให้ผู้สนับสนุนปาเลตไตน์ในตุรกีส่วนใหญ่เกิดความไม่พอใจ รวมถึงตัวประธานาธิบดีแอร์โดอานเองด้วย ดังจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้รัฐบาลตุรกีก็ยังไม่แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการว่าสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน
โดยรวมแล้วจนถึงขณะนี้ แม้ว่าการประท้วงต่ออิสราเอลที่เกิดขึ้นในตุรกีจะเริ่มขยายวงมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงมากนัก และดูจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเสียมากกว่า รวมทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและการดำเนินชีวิตตามปกติของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานฯ ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางการอิสราเอลโดยหน่วยงาน National Security ได้มีการเจ้งเตือนประชาชนชาวอิสราเอลที่พำนักอยู่ในตุรกีรวมทั้งนักท่องเที่ยวให้เดินทางออกจากตุรกี หรือเพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากมีโอกาสที่จะถูกทำร้ายจากกลุ่มคนในตุรกีที่ต่อต้านอิสราเอลได้ ซึ่งทางสำนักงานฯ จะได้ติดตามสถานการณ์ และผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป