ฮังการีเตรียมใช้ระบบมัดจำคืนเงินค่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม 1 ม.ค. 2567 นี้ แก้ปัญหาขยะพลาสติก

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 9-13 ตุลาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

ระบบฝากบรรจุภัณฑ์และการคืนเงิน (Deposit Return Scheme-DRS) เป็นนโยบายภาครัฐที่ต้องการจะส่งเสริมการลดปริมาณขยะ ผ่านการจูงใจผู้บริโภคให้ส่งคืนบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบเครื่องดื่มกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของสินค้าที่ใช้ให้เกิดประโยชน์หมุนเวียน และที่สำคัญ เป็นการกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าต้องรับคืนบรรจุภัณฑ์ของตัวเองไปเข้าระบบการรีไซเคิลหรือกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ภายใต้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility-EPR) ของสหภาพยุโรป ระบบ DRS เป็นแนวทางปฏิบัติที่มีมานานแล้วในยุโรปตะวันตก ปัจจุบัน ณ เดือนตุลาคม 2566 ประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area) ที่นำระบบ DRS ไปใช้จริงแล้ว ได้แก่ โครเอเชีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เยอรมนี ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวาเกีย เอสโตเนีย และไอซ์แลนด์

 

ระบบ DRS ได้รับแรงสนับสนุนจากกฎหมายสำหรับบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ฉบับใหม่ (EU Legislation on Packaging and Packaging Waste) ของสหภาพยุโรปเมื่อปลายปี 2565 เพื่อแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ ผ่านแนวทาง 3R ได้แก่ Reduce, Reuse และ Recycle ดังนั้น ฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็ต้องปฏิบัติเช่นกัน รัฐบาลจึงปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบรรจุภัณฑ์สินค้าภายในประเทศให้สอดคล้องกับกรอบกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 รัฐกิจจานุเบกษาฮังการี ฉบับที่ 140 ประจำปี 2566 เผยแพร่รัฐกฤษฎีกา เลขที่ 450/2023. (X. 4.) ว่าด้วยการประกาศใช้ระบบมัดจำคืนเงินค่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ครอบคลุมบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำเปล่า น้ำแร่ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยังไม่รับบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นม) ทั้งแบบขวดรีฟิลและขวดใช้แล้วทิ้ง รูปทรงมาตรฐาน ที่ทำจากแก้ว พลาสติก (ขวด PET) หรือโลหะ และมีปริมาณระหว่าง 0.1 ถึง 3 ลิตร

 

ข้อกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ร้านค้าปลีกที่เข้าเกณฑ์ข้างต้น ต้องลงทะเบียนเป็นจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์โดยทั่วประเทศมีร้านค้าปลีกที่เข้าเกณฑ์นี้ราว 2,000 แห่ง ส่วนร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่น้อยกว่า 400 ตารางเมตรจะลงทะเบียนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่เข้าเกณฑ์ข้างต้นและผลิตเครื่องดื่มเกินปีละ 5,000 ขวดหรือใบ ต้องลงทะเบียนประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เข้าเกณฑ์การคิดค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์กับบริษัทที่ชนะการประมูลภาครัฐ รัฐบาลมอบหมายให้ดำเนินการกระบวนการนี้ คือ บริษัท MOL Hulladékzágászólji Zrt. โดยจะเป็นหน่วยงานที่จ่ายค่าบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง เป็นเงิน 50 โฟรินท์/จำนวนสินค้า 1 ชิ้น ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่วางขายในตลาด ทั้งนี้ บริษัท MOL Hulladékzágászólji Zrt จะประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่องให้ภาคเอกชนปรับฉลากบรรจุภัณฑ์สินค้า เพิ่มสัญลักษณ์ที่ระบุว่า สินค้าชิ้นนี้เข้าร่วมระบบ DRS ตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปคืนที่จุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ได้

 

ฮังการีเตรียมใช้ระบบมัดจำคืนเงินค่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม 1 ม.ค. 2567 นี้ แก้ปัญหาขยะพลาสติก

รูปภาพที่ 1: ตัวอย่างสัญลักษณ์ที่แสดงว่าบรรจุภัณฑ์นั้นๆ เข้าร่วมระบบ DRS ผู้บริโภคสามารถนำไปคืนที่จุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ได้
ที่มาของข้อมูล: Portfolio.hu

 

ประเด็นสำคัญสำหรับกระบวนการ DRS ในฮังการี จะประกอบด้วย ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มในกลุ่มที่กำหนดไว้จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียม การมัดจำขวด ขวดละ 50 โฟรินท์ (ประมาณ 0.13 ยูโร หรือ 5 บาท) ต่อสินค้า 1 ชิ้น ส่งให้กับบริษัท MOL Hulladékzágádzáksi Zrt. ส่วนผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มฯ ที่ขายสินค้าเครื่องดื่มให้กับผู้ค้าส่งในราคาที่รวมเงินมัดจำ 50 โฟรินท์แล้ว บริษัทฯ ก็จะได้เงินมัดจำ 50 โฟรินท์นี้คืน หลังจากนั้น ร้านค้าปลีกจะคิดเงิน 50 โฟรินท์ เพิ่มในราคาขายปลีกสินค้าเครื่องดื่ม แปลว่าลูกค้าจะต้องเสียเงินเพิ่ม 50 โฟรินท์จากเดิม แต่ร้านค้าจะได้เงินมัดจำ 50 โฟรินท์นี้คืน จากการจำหน่ายฯ

 

ทั้งนี้ ร้านค้าต้องระบุค่ามัดจำขวดและค่าสินค้าแยกกันชัดเจนในใบเสร็จรับเงิน จากนั้น ลูกค้าต้องดื่มเครื่องดื่มจนหมด ล้างขวดหรือกระป๋องให้สะอาด ห้ามทุบหรือบิดให้เสียรูป นำขวดหรือกระป๋องเปล่าที่ทำความสะอาดแล้ว ไปสแกนบาร์โค้ดสินค้าที่เครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ (Reverse Vending Machine) ซึ่งขั้นตอนการสแกนบาร์โค้ด มีไว้เพื่อป้องกันการโกงระบบด้วยการนำขวดหรือกระป๋องที่ผลิตในประเทศอื่นมาคืนเพื่อรับเงินมัดจำ ทั้งที่ขวดนั้นไม่ได้ผลิตหรือจัดจำหน่ายในฮังการี หากบรรจุภัณฑ์ที่นำมาคืนนั้นมีสภาพดี และผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายสินค้านั้นได้ลงทะเบียนกับบริษัท MOL Hulladékzágászólji Zrt. แล้ว ลูกค้าก็จะได้รับเงินค่ามัดจำคืน 50 โฟรินท์จากบริษัท MOL Hulladékzágászólji Zrt. โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบรับเงินมัดจำคืนเป็นคูปองส่วนลดในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จุดรับคืนบรรจุภัณฑ์นั้นตั้งอยู่ หรือจะเลือกบริจาคให้กับการกุศลได้ และท้ายสุด บริษัท MOL Hulladékzágászólji Zrt. ที่ได้เก็บขยะบรรจุภัณฑ์จากจุดรับทั่วประเทศ ก็จะไปดำเนินการกำจัดขยะอย่างถูกต้องต่อไป

 

ปัจจุบัน ในปีๆ หนึ่ง มีขยะจากการใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแล้วทิ้ง ประมาณ 3.3 พันล้านชิ้นในฮังการี รัฐบาลจึงคาดหวังว่ามูลค่าการหมุนเวียนเงินค่ามัดจำขวดในระบบ DRS จะอยู่ที่ประมาณ 1.65 แสนล้านโฟรินท์ (ประมาณ 1.6 หมื่นบาท) รัฐบาลฮังการีได้กำหนดเป้าหมายอัตราส่วนขวดพลาสติก ขวดแก้ว และขวดโลหะ ที่กลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 90% จากจำนวนที่วางขายในตลาดทั้งหมด ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลฮังการีอนุโลมให้สินค้าที่ยังไม่มีฉลาก DRS และผลิตหรือนำเข้ามาในฮังการีก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 วางจำหน่ายในท้องตลาดได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญของฮังการีคือ ฮังการียังไม่มีโรงงานกำจัดหรือรีไซเคิลขยะ ระดับ Food Grade ที่รองรับปริมาณขยะได้มากๆ ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้น บริษัท MOL Hulladékzágászólji Zrt. จะต้องใช้กระบวนการนำขยะไปกำจัดในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่เร่งลงทุนสร้างโรงงานกำจัดขยะในประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย

 

การปรับปรุงข้อกฎหมายในปี 2566 นี้แม้ว่าจะยังมิได้บังคับใช้ในฮังการีอย่างเป็นทางการ ทว่าซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำบางแห่งก็ได้นำร่องโครงการรับคืนบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่ของตนเองแล้ว เช่น ร้าน Lidl ร้าน SPAR และร้าน PENNY เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคในฮังการีเริ่มปรับพฤติกรรมการคัดแยกและทิ้งขยะอย่างถูกต้อง

 

ฮังการีเตรียมใช้ระบบมัดจำคืนเงินค่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม 1 ม.ค. 2567 นี้ แก้ปัญหาขยะพลาสติก

รูปภาพที่ 2: จุดรับคืนบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติที่ภาคเอกชนดำเนินการเอง ของซูเปอร์มาร์เก็ต PENNY
ที่มาของข้อมูล: Nyugat.hu

 

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

 

การเริ่มบังคับใช้มาตรการเก็บเงินมัดจำค่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม (DRS) ของรัฐบาลฮังการีในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลฮังการีมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของสหภาพยุโรปภายในปี 2593 อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในช่วงแรกอาจจะมีความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนที่เห็นด้วย และคนที่ไม่เห็นด้วย ดังนั้น ในช่วงปี 2565-2566 รัฐบาลฮังการีเริ่มจากการดำเนินการเชิงรุก ให้ความรู้การแยกขยะกับประชาชน กระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ให้เวลาภาคเอกชนในการปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่นี้ ที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านของฮังการีที่ใช้กระบวนการนี้ไปแล้ว ได้แก่ ประเทศโครเอเชีย และสโลวาเกีย โดยเริ่มใช้ระบบ DRS ตั้งแต่ปี 2548 และ 2565 ตามลำดับ ส่วนประเทศโรมาเนีย กำลังจะเริ่มใช้ระบบ DRS ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

 

ความตระหนักรู้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ ได้รับความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลทุกประเทศดำเนินการอย่างมีขั้นตอน เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และภาคเอกชนที่จะต้องมีการปรับตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมทั้ง มีการนำกรณีศึกษาตัวอย่างจากประเทศที่ทำสำเร็จมาแล้วมาใช้ในกระบวนการอธิบาย และติดตามแประเมินผลเป็นระยะอีกด้วย

 

ฮังการีเตรียมใช้ระบบมัดจำคืนเงินค่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม 1 ม.ค. 2567 นี้ แก้ปัญหาขยะพลาสติก

รูปภาพที่ 3: ตัวอย่างการตั้งถังขยะแยกประเภท ณ ซูเปอร์มาร์เก็ต เขต 2 SPAR กรุงบูดาเปสต์
ในประเทศฮังการี แบ่งประเภทขยะออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1) ประเภทที่รีไซเคิลได้ อาทิ กระดาษ (สีฟ้า) พลาสติก และโลหะ (สีเหลือง) และแก้ว (สีเขียว) 2) ประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น ขยะอินทรีย์ และขยะทั่วไป 3) ขยะอันตรายที่ต้องทิ้งในถังขยะแยกต่างหาก เช่น แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ หลอดไฟ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

จากแนวโน้มนี้ ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตสินค้า และผู้ส่งออกสินค้ามายังภูมิภาคนี้ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายนี้ อาทิ เลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และเลือกขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กลง เพื่อลดปริมาณทรัพยากรและพลังงานในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ใช้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติใช้วัสดุชนิดเดียวกันทั้งฝา ขวด ฉลาก รวมถึงกาวที่ติดผนึกฉลาก เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล ใช้ฉลากที่พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์สังเคราะห์จากน้ำมันถั่วเหลือง หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ เป็นต้น

 

หากสินค้าเครื่องดื่มนั้นๆ จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามระบบ DRS ผู้ส่งออกไทยจะต้องประสานงานกับกับคู่ค้าในฮังการีเพื่อขอลงทะเบียนตามกฎหมาย และออกแบบฉลากใหม่ให้มีสัญลักษณ์แสดงว่าขวด/กระป๋องนี้นำไปคืนที่เครื่องคืนบรรจุภัณฑ์ได้ การปรับตัวได้เร็ว จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถหาช่องทางและโอกาสการเข้าสู่ตลาดฮังการีได้ดียิ่งขึ้น

 

ที่มาของข้อมูล

    • https://24.hu/belfold/2023/10/05/kotelezo-visszavaltasi-rendszer-visszavaltas-szabalyzat-reszletek/
    • https://g7.hu/vallalat/20231012/eddig-azt-mondtak-gyurd-ossze-a-pet-palackot-most-azt-mondjak-nehogy-osszegyurd/
    • https://index.hu/gazdasag/2023/10/05/energiaugyi-miniszterium-rendelet-uvegvisszavaltas-dij-hulladek-palackvisszavaltas-automata/
    • https://telex.hu/gazdasag/2023/10/12/visszavaltas-hulladek-mohu-pet-uveg-muanyag-aluminium
    • https://trademagazin.hu/hu/megjelent-a-boltlista-ahol-a-pet-palackokat-vissza-lehet-valtani/
    • https://www.magro.hu/agrarhirek/januar-elsejetol-indul-a-kotelezo-visszavaltasi-rendszer-magyarorszagon/
    • https://www.portfolio.hu/gazdasag/20231012/keszulhetnek-a-magyar-haztartasok-igy-vihetjuk-csak-vissza-az-italos-uvegeket-palackokat-az-uj-visszavaltasi-rendszerben-644731

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
9-13 ตุลาคม 2566

thThai