มุมมองนักวิเคราะห์ Shrinkflation อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด (สคต.โทรอนโต)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9-13 ตุลาคม 2566

มุมมองนักวิเคราะห์ Shrinkflation อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด

ห้างค้าปลีกอาหารในแคนาดาถูกจับตาจากภาครัฐและผู้บริโภคว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อของสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีผ่านมา เนื่องจากห้างค้าปลีกส่วนใหญ่มียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นและผลกำไรเพิ่มมากเป็นประวัติการณ์อีกด้วย แต่สาเหตุที่แท้จริงส่วนใหญ่มาจากต้นทุนการผลิตสินค้าตั้งแต่วัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าแรงงานที่ปรับสูงขึ้น  โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าได้ใช้กลยุทธ์ Shrinkflation ในการลดขนาดของสินค้าในขณะที่ไม่ปรับขึ้นราคา หรือบางสินค้ามีทั้งการลดขนาด (สินค้า) และเพิ่มราคาสินค้าอีกด้วย

มุมมองนักวิเคราะห์ Shrinkflation อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด (สคต.โทรอนโต)

ทุกวันนี้ ผู้บริโภคในแคนาดาส่วนใหญ่ยังคงต้องดิ้นรนกับ
ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่อัตราค่าจ้างไม่ได้เพิ่มในสัดส่วนเดียวกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานที่สูงขึ้น อาทิ ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย (Shelter Cost) ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องปรับพฤติกรรมการจับจ่าย

ถึงแม้ว่ากลยุทธ์ Shrinkflation ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับห้างค้าปลีกอาหาร แต่เมื่อมีแรงกดดันจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริหารของผู้ผลิตหรือห้างค้าปลีกมีทางเลือกแค่ 2 ทาง ระหว่าง Shrinkflation หรือปรับขึ้นราคาสินค้า

จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มยอมรับกับสภาพ Shrinkflation มากกว่ายอมรับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยได้มีการทดลองวางจำหน่ายสินค้าภายในห้างโดยมีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวมีราคาเท่าเดิมแต่มีขนาดที่เล็กลง/ปริมาณที่ลดลง เปรียบเทียบกับสินค้าที่มีลักษณะเดียวกันที่ขนาด/ปริมาณเท่าเดิมแต่ราคาปรับสูงขึ้น พบว่าสินค้าที่ใช้กลยุทธ์ Shrinkflation กลับมียอดขายที่ดีกว่าสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์ได้สรุปว่า ราคาที่สูงขึ้นมีผลกระทบทางลบ (Negative Effect) ต่อจิตวิทยาผู้บริโภคที่ทำให้รู้สึกว่าสินค้าเหล่านั้นมีราคาแพงไม่น่าสนใจ และแม้ Shrinkflation ทำให้เพิ่มของเสียในแง่บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพราะบรรจุสินค้าน้อยลง แต่นักวิเคราะห์มองว่าสินค้าที่ขนาด/ปริมาณลดลงอาจมีผลดีต่อสินค้าและผู้บริโภคได้ด้วย เช่นกรณีคุกกี้ชิ้นแรกที่รับประทานนั้นอาจสร้างความพอใจสูงสุด แต่เมื่อรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงชิ้นสุดท้ายความพอใจของสินค้าจะลดลงตามลำดับ ที่เป็นไปตามทฤษฎี Diminishing Returns ในมุมมองของจิตวิทยา การลดขนาดสินค้า Serving Size อาจเหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการควบคุม Calories Intake (พลังงานสารอาหาร) เหมือนกับการบังคับทางอ้อมทำให้ลดการบริโภค โดยเฉพาะกับสินค้าขนมขบเคี้ยวหรืออาหารประเภท Junk Food

มุมมองนักวิเคราะห์ Shrinkflation อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด (สคต.โทรอนโต)

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เห็นว่าการใช้กลยุทธ์ Shrinkflation ถ้าไม่มีการแสดงข้อมูลที่โปร่งใสที่ชัดเจน (Data Transparency) อาจส่งผลเสียให้กับแบรนด์สินค้า ผู้ผลิตและห้างค้าปลีกได้ ที่จะถูกมองว่าเป็น “Sneakflation” (แอบลดขนาด/ปริมาณแบบไม่แจ้ง ทำให้ผู้บริโภคเหมือนถูกหลอก) ดังตัวอย่างสินค้าซีเรียลอาหารเช้า ที่บรรจภุภัณฑ์ส่วนใหญ่จะใช้กล่องกระดาษ ที่กล่อง (บรรจุภัณฑ์) จะขนาดเดิมแต่สินค้าด้านในมีปริมาณลดลง รวมไปถึงสินค้ายาสีฟันที่ปริมาณด้านในลดลงแต่หลอดยาสีฟันยังคงขนาดเดิม หรือกล่องชา (Tea Box) ที่แต่เดิมจะมีถุงบรรจุ 240 ชิ้นแต่ลดเหลือ 200 ชิ้น

ผู้ผลิตบางสินค้า อาทิ ไอศกรีมยี่ห้อ Tillamook เลือกที่จะแจ้งกับผู้บริโภคล่วงหน้าและมีการทำโฆษณาโดยบอกว่า สินค้าจะมีขนาดที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เป็นการสื่อสารและแสดงความจริงใจไปกับผู้บริโภคที่ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

ในมุมมองของผู้บริโภค จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 75 รู้สึกและรับรู้ได้ว่าผู้ผลิตสินค้าอาหารส่วนใหญ่ได้ใช้กลยุทธ์ Shrinkflation และกว่าร้อยละ 50 หันไปซื้อสินค้ายี่ห้ออื่นทดแทน นักวิเคราะห์สรุปได้ว่า ถึงแม้ว่ากลยุทธ์ Shrinkflation จะมีผลเสียต่อภาพพจน์สินค้าบ้าง แต่นับว่ามีผลกระทบด้านลบน้อยสุด  เมื่อเทียบกับกลยุทธ์อื่นๆ ในยุคที่เงินเฟ้อได้ส่งกระทบในวงกว้างต่อค่าครองชีพ และพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน

ความเห็นของ สคต.         

สภาพเศรษฐกิจแคนาดาในปัจจุบันยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่ ตั้งแต่ราคาสินค้าอาหาร ราคาพลังงาน และค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย โดยปัจจัยราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ ค่าแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ผู้ผลิตสินค้าและห้างค้าปลีกใช้กลยุทธ์ Shrinkflation ลดขนาดสินค้าแต่ไม่ขึ้นราคา แต่มีบางกรณีผู้ผลิตทั้งปรับลดขนาดสินค้าและขึ้นราคาสินค้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ Shrinkflation ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้หันซื้อสินค้าหรือแบรนด์อื่นทดแทนๆ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลประโยชน์ด้านบวกให้กับสินค้าไทย ที่ทำให้เกิด Brand Switching (การปรับเปลี่ยนเลือกซื้อสินค้ายี่ห้ออื่น) หรือ Product Replacement (หาสินค้าอื่นทดแทน) เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยนำเสนอสินค้าทางเลือกใหม่จากไทยมาทดแทนสินค้าที่การปรับราคาสูงขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคแคนาดาในยุค Shrinkflation

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

 

thThai