เทคโนโลยีล้ำสมัยได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เนื้อที่ผลิตจากถั่ว และขนมขบเคี้ยวที่ทำจากแมลงรับประทานได้ กลายเป็นอาหารของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอาหารเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ได้เข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมอาหารในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การกักตุน ไปจนถึงการกระจายสินค้าสู่ครัวเรือนของผู้บริโภค องค์การการค้าเกษตรกรรมและการประมงของประเทศเกาหลี (aT) กล่าวว่า ในปี 2564 ตลาดของเทคโนโลยีด้านอาหารทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 272,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่า ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับตลาดเกาหลีใต้ ในปี 2560 ถึง 2563 อัตราเฉลี่ยของการเติบโตของตลาด เทคโนโลยีด้านอาหารคิดเป็นร้อยละ 31 ต่อปี  รัฐบาลพยายามนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยเหตุนี้ ในปีนี้กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท เกาหลีใต้ จึงเริ่มผลักดันให้บัญญัติกฎหมายอบรบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านอาหาร

บริษัทธุรกิจหลายแห่งเริ่มกระตือรือร้นในการวิจัยเทคโนโลยี และวัตถุดิบอาหารแห่งอนาคตประเภทต่างๆ อาทิ นม โปรตีน และเนื้อสัตว์จากพืช ซึ่งเหตุผลสำคัญที่อาหารแห่งอนาคตได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เป็นเพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน และความกังวลต่อการขาดแคลนเสบียงอาหาร

บริษัท Maeil ผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากโคนมของเกาหลีใต้ อยู่ระหว่างพิจารณาเซ็นสัญญา เพื่อก่อตั้งธุรกิจใหม่ร่วมกับ บริษัท SK, Perfect Day บริษัทสตาร์ทอัพมังสวิรัติจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทผู้ผลิตโปรตีนนม (Milk Protein) อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการวางแผนโครงสร้างธุรกิจในการนำเข้าโปรตีนที่มีคุณค่าเทียบเท่านมวัวจาก บริษัท Perfect Day มายังเกาหลี และให้บริษัท Maeil ทำหน้าที่กระจายและจัดจำหน่ายสินค้า ไม่เพียงเท่านั้น Maeil มีแผนที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหมักเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตโปรตีนทดแทนนมวัว เพื่อพัฒนาสินค้าอื่นๆ เช่น ไอศกรีม อาหารเสริมสำหรับผู้ใหญ่ เครื่องดื่มจากนม ฯลฯ ตามลำดับ

ประเภทของสินค้าที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในเกาหลีใต้ คือ เนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) ซึ่งผลิตมาจากวัตถุดิบที่สามารถเทียบเท่าเนื้อสัตว์ เช่น ถั่วหลากชนิด, โปรตีนจากพืช, เนื้อหมักจากจุลินทรีย์เนื้อสัตว์ และโปรตีนจากแมลงกินได้ เป็นต้น

ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในเกาหลีใต้ กำลังเร่งแสดงศักยภาพและความน่าเชื่อถือ โดยการพัฒนาสินค้าอาหารแห่งอนาคตประเภทต่างๆ โดยมีเทคโนโลยีด้านอาหารเป็นองค์ประกอบสำคัญ บริษัทผลิตสินค้าอาหารส่วนใหญ่ต่างก็มีแบรนด์อย่างน้อยหนึ่งแบรนด์ ซึ่งเน้นใช้วัตถุดิบจากพืชเป็นส่วนประกอบหลัก

ในปี 2564 บริษัทชินเซกเยฟู้ด (Shinsegae Food) ได้คิดค้นเนื้อจากพืชที่รสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ และวางจำหน่ายสินค้าในชื่อแบรนด์ Very Meat หลังจากนั้นได้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดตัวสินค้าอาหารที่ทำจากพืช (Plant-based) แบรนด์ใหม่ชื่อ You are what you eat สู่ตลาด นอกจากนั้น บริษัทชินเซกเยฟู้ด ได้วางจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชในร้านแฮมเบอร์เกอร์แฟรนไชส์ของบริษัท ร้านเบเกอรี่ในอีมาร์ท (E-mart) วางจำหน่ายขนมปังหน้าพิซซ่า ที่ใช้เนื้อสัตว์จกาพืช จากแบรนด์ Very Meat  ซึ่ง “ขนมปังพิซซ่าเวรี่มีท” สร้างยอดขายได้กว่า 50,000 ชิ้น ภายในเดือนแรกที่สินค้าวางจำหน่าย

บริษัท Pulmuone เริ่มเดินหน้าจริงจังกับแบรนด์สินค้าอาหาร Jigusikdan เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้มีการเพิ่มรายการสินค้าหลายรายการ อาทิ แฮมกระป๋องที่ทำจากพืช (Luncheon Meat), เส้นก๋วยเตี๋ยวจากถั่วเหลือง  Silky เป็นต้น ส่งผลให้อัตราการเติบโตของยอดขายอาหารกึ่งสำเร็จรูปของบริษัทในครึ่งปีสร้างสถิติที่ร้อยละ 55.7 และตั้งยอดไว้ว่าจะเพิ่มยอดขายตลาดสินค้าอาหารแห่งอนาคตให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 65

นอกจากสินค้าอาหารจากพืชแล้ว อาหารแห่งอนาคตอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มเป็นกระแสในธุรกิจสินค้าอาหารของเกาหลีใต้คือ แมลงรับประทานได้ บริษัทธุรกิจอาหารหลายแห่งมองเห็นว่า แมลงรับประทานได้จะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ในอนาคต และกำลังเร่งเตรียมความพร้อมในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจของกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท ตลาดอุตสาหกรรมแมลงของเกาหลีใต้เติบโตมากขึ้น และทำรายได้ประมาณ 3.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา ซึ่งโตขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.7ปัจจุบัน กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาเกาหลีใต้ (MFDS) ได้อนุญาตให้ จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนนก ด้วงดอกไม้ และแมลงอีก 10 ชนิด เป็นวัตถุดิบอาหารชนิดใหม่ ทำให้บริษัทผลิตอาหารรายใหญ่อย่าง Lotte Foods ระดมทุนเพื่อวิจัยและเร่งผลิตสินค้าจากแมลง โดยเฉพาะผงโปรตีนจากแมลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากสภาพอากาศโลกแปรปรวน ทำให้ผลผลิตทางเกษตรและปศุสัตว์ไม่สามารถออกผลผลิตได้ตรงตามฤดูกาลเหมือนแต่ก่อน บริษัทผู้ผลิตอาหาร รวมทั้งบริโภคเกาหลีใต้จึงเกิดความกังวลว่า อาจจะหาวัตถุดิบอาหารได้ยากขึ้น และอาจประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต บริษัทผลิตสินค้าอาหารจึงเร่งประยุกต์ใช้ Food Tech เพื่อวิจัยและพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ในเกาหลีใต้แนวโน้มความนิยมของ Plant-based Meat และอาหารที่ทำจากพืช เช่น ถั่ว และเห็ด เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทผู้ผลิตอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในการพัฒนาและวางขายสินค้า plant-based ในรูปแบบหลากหลายเพื่อเป็นตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภค ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่เคยมองแมลงเป็นอาหาร กลับกลายเป็นแหล่งอาหาร ซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะโปรตีน และแคลเซียม ซึ่งเทียบเท่าได้กับคุณค่าโภชนาการของนมวัว และเนื้อสัตว์

ในส่วนของประเทศไทย มีผู้บริโภคที่นิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเจเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ประกอบกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้อุตสาหกรรมอาหาร Plant-based และ Superfood ในประเทศไทยนั้น เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีหลากหลายชนิด ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารพร้อมทาน  นอกจากนั้น คนไทยบริโภคแมลงมาตั้งแต่ช้านาน และประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกแมลงรับประทานได้รายใหญ่ของโลก ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (SMEs) หลายบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจแมลงรับประทานได้ และผลิตสินค้าจากแมลงได้หลายรูปแบบ เช่น ผงแมลง, ซอสปรุงอาหาร, ซอสพาสต้าสำเร็จรูป, เสปรดหนอนนกทาขนมปัง และแมลงอบกรอบ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะนำเสนอ และเร่งส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวเพื่อตีตลาดเกาหลีให้มากขึ้น

********************************************************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

                                                                                                                                                                                                                                                                                  จัดทำโดย นางสาวกวิตา อนันต์นับ

ตรวจทานโดย นางสาวปิยพิชญ์ พัฒนาสุวรรณ

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ. สคต. ณ กรุงโซล

รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ สคต. ณ กรุงโซล

thThai