ส่องแนวโน้มความต้องการและตลาดอุตสาหกรรม Superfood ของจีนและทั่วโลก

แนวคิด “Superfood” เกิดขึ้นครั้งในแรกในยุค 80 โดย Superfood หมายถึง อาหารที่มีไฟเบอร์สูง โปรตีนสูง แคลอรี่ต่ำ และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้อะโวคาโด แครนเบอร์รี และควินัว ถูกจัดว่าเป็นอาหารประเภท Superfood โดยปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคจำนวนมากหันมาให้ความสนใจต่อสิ่งที่ตัวเองรับประทานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อผลไม้ที่แปลกใหม่หรือมีคุณภาพที่พิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะด้านสุขภาพ จำพวกเบอร์รี อะโวคาโด มะม่วง ทับทิม มะละกอ มันเทศ ได้รับความนิยมมากขึ้น และถูกเรียกว่าเป็น “Superfood” แต่อย่างไรก็ดี Superfood ยังหมายรวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ

 

ปัจจุบันยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของโลกต่างหันมาจับกระแส Superfood เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการ Superfood มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Nestle ที่เข้าซื้อหุ้นจำนวนมากของบริษัท Terrafertil ซึ่งเป็นบริษัท Superfood แห่งหนึ่ง ที่ต่อมาคือบริษัทผู้ผลิต Golden Berries ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Golden Berries ก็เป็นหนึ่งใน Superfood ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเมื่อพิจารณา Superfood ในตลาดยุโรป พบว่าเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี คือผู้นำด้าน Superfood จึงทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างจีน ยังไม่สามารถเปิดตลาด Superfood ในยุโรปได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจีนจึงต้องส่งเสริมการยกระดับ Superfood เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์จีนในประเทศยุโรป นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างจีนกับยุโรปภายใต้บริบทของ One Belt One Road เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และมาตรฐานการค้า เพื่อผลักดัน Superfood ของจีนเข้าสู่ตลาดยุโรปต่อไป

 

นอกจาก Superfood จำพวกตระกูลเบอร์รีแล้ว ผู้บริโภคยังให้ความสนใจต่อส่วนผสมของสมุนไพรตะวันออกมากขึ้น เนื่องจากเข้าข่ายที่จะเป็น Superfood เช่นกัน อาทิ ขมิ้น มัทฉะ โสมอินเดีย และโรดิโอลา นอกจากนี้ พืชตระกูลเห็ดยังมีฤทธิ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และต่อต้านริ้วรอย ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอาหารหลายประเภท เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต และข้าวโพดคั่ว เป็นต้น

 

การพัฒนาของอุตสาหกรรม Superfood เกิดจากการแสวงหาการมีสุขภาพดีของผู้บริโภค และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของอาหารแบบดั้งเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายใต้สถานการณ์ความต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังทำให้อุตสาหกรรม Superfood มีโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถสร้างสรรค์อาหารแบบดั้งเดิม และอาหารแปลกใหม่เข้าด้วยกันอย่างปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รายงานการสำรวจผู้บริโภคฉบับหนึ่งเปิดเผยว่า กลุ่มคนที่อายุ 21 – 35 ปี คือกลุ่มผู้บริโภคหลักของ Superfood ชนิดผง และในกลุ่มนี้ ผู้บริโภคที่มีอายุ 26 – 30 ปี มีสัดส่วนมากที่สุด และเป็นผู้บริโภคเพศหญิงมากกว่า โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความต้องการด้านสุขภาพ ความงาม และด้านจิตใจเป็นหลัก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ ต้องติดตามความต้องการของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในอดีตความต้องการ Superfood มีวัตถุประสงค์เพื่อความงามและลดน้ำหนักเป็นหลัก ทำให้ Superfood ในช่วงแรกส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและมีแคลอรี่ต่ำ เช่น อาซาอิเบอร์รี เม็ดแมงลัก และโกโก้ดิบ เป็นต้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ วัตถุดิบอาหารอย่างขมิ้น มาคา โสมอินเดีย ทำให้ค้นพบว่านอกจากผู้บริโภคต้องการความงามและหุ่นสวยแล้ว ยังเริ่มสนใจการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และบรรเทาความวิตกกังวลมากขึ้น เป็นต้น

 

นับตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ปี ค.ศ. 2023 พร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19  เริ่มลดลง ทำให้จีนเข้าสู่ช่วงยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคฯ จึงก่อให้เกิดโอกาสและแนวคิดใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมการบริโภคของจีน ถึงแม้การใช้ชีวิตและการผลิตกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ตลาดการบริโภคยังมีความไม่แน่นอนอย่างมาก สืบเนื่องจากสังคมผู้สูงอายุของจีนที่สูงขึ้น ทำให้อนาคตความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จีนยุคหลังปี 80 – 90 จะนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและเป็นออร์แกนิกมากขึ้น รวมทั้ง แนวคิดการบริโภคของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายความต้องการของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในจีนมากยิ่งขึ้นด้วย

 

สำหรับสถานการณ์ตลาดอุตสาหกรรม Superfood ของโลก ในปี ค.ศ. 2021 พบว่าตลาด Superfood ของโลกมีมูลค่าถึง 152,710 ล้านเหรียญสหรัฐ (5.34 ล้านล้านบาท) และคาดว่าในปี ค.ศ. 2027 ตลาดจะมีมูลค่าถึง 214,950 ล้านเหรียญสหรัฐ (7.52 ล้านล้านบาท) และมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 9.2 โดยในที่นี้ อเมริกาเหนือถือเป็นตลาดหลักขนาดใหญ่ของ Superfood ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดดาวรุ่งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 35 บาท)

 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการทางวัตถุที่พิถีพิถันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารอินทรีย์ต่างๆ จึงทำให้ Superfood ไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวคิดในการแสวงหาชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี และจะกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา จนทำให้ Superfoods จะกลายเป็นสารอาหารที่ขาดไม่ได้ในอาหารประจำวันของมนุษย์ โดยเมื่อพิจารณาตลาด Superfood ของจีน ก็พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2020 ตลาด Superfood ของจีน เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น Superfood จึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใส และมีปัจจัยสนับสนุนที่ดี เช่น นโยบายด้านสุขภาพของจีน หรือ “Healthy China 2023” โดยจีนให้ความสำคัญต่อ “ความปลอดภัยของอาหาร” เป็นแกนหลัก แสดงให้เห็นว่าอาหารเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่รัฐบาลระดับประเทศให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ยังกำหนดกฎหมายและมาตรฐานทางเทคนิคโดยเฉพาะสำหรับการพัฒนา Superfood และส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้น ยังการสนับสนุนอาหารออร์แกนิกและส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงร่างกาย รวมทั้งส่งเสริมให้วิสาหกิจลงทุนในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการบริโภค และการพัฒนาระดับสูงในระดับสากล พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี Superfood ใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ Superfood ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณานำเสนอพืช ผัก ผลไม้ไทย สมุนไพรไทยที่มีสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ร่างกาย และมีรสชาติถูกปากผู้บริโภคชาวจีน เช่น มะม่วง มะพร้าว ตะไคร้ ขมิ้น อัญชัน มะนาว เป็นต้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทางเลือกของ Superfood อาหารและเครื่องดื่มไทยในตลาดจีน และให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทยให้มีความแม่นยำ และมีคุณค่าทางโภชนาการตามที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายต้องการ ก็จะยิ่งทำให้ Superfood ของไทยได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้นจากผู้บริโภคชาวจีน และสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการ Superfood ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

แหล่งที่มา: https://www.chinairn.com/news/20230920/114342460.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai