จีนรุกตลาดออนไลน์ในอิตาลี เปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมอีคอมเมิร์ซ Temu พร้อมสินค้านับหมื่นรายการ
เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Temu ก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่เมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา แต่มีบริษัทจีนเป็นเจ้าของ (PDD Holdings Inc.) มีสำนักงานในยุโรปตั้งอยู่ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ และยังเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม Pinduoduo ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอีคอมเมิร์ซยอดนิยมในประเทศจีน ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด
หลังการเปิดตัว แพลตฟอร์ม Temu ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาอันรวดเร็วในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างสหรัฐอเมริกา และครองอันดับหนึ่งใน App Store และใน Google Play ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอย่างล้นหลามจนแซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่าง TikTok, Instagram, Amazon หรือ Wallmart
ชื่อ Temu มีความหมายว่ารวมทีมราคาลด (Team up, price down) เป็นร้านค้าออนไลน์ (Marketplace) ที่มุ่งจำหน่ายสินค้าราคาถูก ลักษณะคล้ายกับ Amazon หรือ AliExpress ซึ่งเสนอผลิตภัณฑ์จำนวนมหาศาลที่แบ่งออกได้มากกว่า 250 หมวดหมู่ ราคาถูกที่สุดบนช่องทางออนไลน์ บริษัทต้องการถ่ายทอดปรัชญาพื้นฐานในแง่ของความร่วมมือกับผู้บริโภคเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและลดราคาของผลิตภัณฑ์ลง
แพลตฟอร์ม Temu มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา เพราะการลงทุนทำโฆษณาในช่วงซูเปอร์โบวล์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ด้วยการแสดงภาพผู้หญิงคนหนึ่งกำลังซื้อสินค้าต่างๆจากแอปฯ Temu ผ่านมือถือด้วยสโลแกน “ช้อปแบบมหาเศรษฐี” เป็นการใส่แนวคิดการช้อปอะไรก็ได้ที่ต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องราคา หรือการใช้แคมเปญเชิงรุกด้วยการใช้ influencer ผู้มีอิทธิพลในสาขาต่างๆ และในส่วนของการตลาดเพื่อชักจูงความสนใจของผู้บริโภค และกระหน่ำด้วยข้อเสนอมากมาย เช่น แจกคูปองส่วนลดและผลิตภัณฑ์ฟรีเมื่อสามารถโน้มน้าวให้ครอบครัวและเพื่อนๆดาวน์โหลดแอปฯได้สำเร็จ
ในปลายเดือนเมษายน 2566 แพลตฟอร์ม Temu เข้าสู่ตลาดอิตาลีพร้อมกับการเปิดตัวครั้งใหญ่ “Temu Italy Grand opening” ด้วยส่วนลดและข้อเสนอสูงสุดถึง 90% จึงสามารถกวาดความสนใจอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว และมีผู้คนจำนวนมากเข้าดาวน์โหลดแอปฯ โดยเน้นสโลแกนความใส่ใจต่อราคาที่เป็นวัตถุประสงค์หลัก เมื่อเปิดเว็บไซต์หรือแอปฯ Temu ส่วนลดหรือโปรโมชั่นตามกำหนดเวลามากมายจะปรากฎขึ้นมาเพื่อชักจูงให้มีการสั่งซื้อในทันที
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ จะไม่พบแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Apple, Samsung หรือ Nike แบรนด์ที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของจีน ที่ยังไม่มีชื่อเสียงระดับสากล และบางอย่างก็พบได้ใน AliExpress และใน Amazon เช่นกัน ในราคาที่ถูกกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อสามารถค้นพบสินค้าทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้า ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ และทุกสิ่งที่ต้องการอย่างน่าทึ่ง ในราคาที่น่าอัศจรรย์ใจ
ความแปลกใหม่ของ Temu อยู่ในสองแนวคิด ประการหนึ่งคือความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลุ่มผู้ซื้อ ยิ่งมีผู้ซื้อสินค้าผ่าน Temu มากเท่าใด ราคาสำหรับผู้ซื้อแต่ละรายก็จะลดลงมากขึ้นเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
บนแพลตฟอร์มจะมีราคาต่ำที่สุดเช่นกัน อีกประการหนึ่งคือการจัดส่งฟรีสำหรับคำสั่งซื้อเกือบทั้งหมด ก็ยิ่งช่วยกระตุ้นให้มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าระยะเวลาในการขนส่งค่อนข้างนาน อยู่ระหว่าง 8 – 20 วันทำการก็ตาม แต่ก็มีข้อดีคือสามารถเรียกร้องขอคืนสินค้าฟรีภายในเวลา 90 วัน
บน Google Play และ App Store แพลตฟอร์ม Temu ได้รับคำวิจารณ์ดีๆมากมาย แต่ก็มีที่เป็นเชิงลบอยู่บ้างเช่นกัน โดยมีการให้คะแนนระดับแย่ที่สุดหนึ่งดาวถึงดีที่สุดห้าดาว ในส่วนของ Temu ในอิตาลี มีรีวิวที่ยอดเยี่ยมมากมาย เบื้องหลังเป็นการทำเพื่อแลกกับคูปองส่วนลด ส่วนคำวิจารณ์จาก Trustpilot ที่มีคนเขียนความคิดเห็นจำนวน 77,658 ราย เกือบครึ่ง (49%) ให้คะแนนสูงสุด 5 ดาว โดยให้เหตุผลว่าราคาสินค้าเหมาะสมกับคุณภาพ การขนส่งรวดเร็ว ได้ส่วนลดของแถม เป็นต้น ส่วนที่มีความเห็นตรงข้าม (31%) ได้รับประสบการณ์ในเชิงลบจากการสั่งซื้อ ไม่ได้รับส่วนลดตามที่โฆษณาไว้ ราคาสินค้าแพงเพื่อลด ของแถมไม่น่าสนใจและเลือกไม่ได้ มีแต่กลยุทธ์ที่แฝงด้วยการหลอกลวงทางการค้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์จากเว็บไซต์ต่างๆมีความแตกต่างกันอย่างมาก
แพลตฟอร์ม Temu มีให้บริการทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เมื่อเปิดขึ้นมาอาจทำให้นึกถึง Aliexpress ทั้งในแง่ของกราฟิกและประเภทของผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในหมวดแฟชั่นและเทคโนโลยีที่ขายในราคาที่ต่ำมาก การลงทะเบียนกับ Temu สะดวก ง่าย และรวดเร็วมาก เช่นเดียวกับการหลงทางไปกับผลิตภัณฑ์ โปรโมชั่น และส่วนลดตามเวลาที่ล่อและแทรกอยู่เต็มไปหมด
กลยุทธ์ทางการตลาดอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีคือการสะสมแต้มเพื่อแลกเครดิตมูลค่า 5/18/30 หรือ 40 ยูโร เช่น ต้องหาเพื่อนเพื่อส่งรหัสเชิญให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันและเข้าสู่ระบบ หากทำสำเร็จก็จะได้รับเพชร(แต้ม) แต่ละคนที่เชิญชวนได้จะได้รับเพชรหนึ่งเม็ด หากได้เพชร 4 เม็ด ก็ได้รับเครดิต 40 ยูโรสำหรับใช้จ่ายฟรีในแอปฯ Temu
แพลตฟอร์ม Temu มีรูปแบบการรับชำระเงินมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา กับบัตรเครดิตที่มีชื่อเสียงได้แก่ Visa, Mastercard American Express, Discover, Maestro, Diners และ JCB หรือPayPal, Apple Pay หรือ Google Pay หากต้องการผ่อนชำระกับ Klarna ก็มีให้บริการเช่นกัน
โดยล่าสุด จากการอัปเดตเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ 10 อันดับที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2566 เมื่อเทียบกับครั้งล่าสุด ปรากฎว่า 7 อันดับแรกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ Samsung เขยิบขึ้นหนึ่งอันดับ (จากอันดับที่ 9 มาเป็นอันดับที่ 8) และ Temu แพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งเปิดตัวได้เพียงไม่กี่เดือน กลับติด 10 อันดับแรก ดังนี้
1) Amazon (มาร์เก็ตเพลส) 2) Subito (มาร์เก็ตเพลส) 3) eBay (มาร์เก็ตเพลส) 4) Booking.com (การท่องเที่ยว) 5) Trenitalia (เดินทางโดยรถไฟ) 6) Leroy Merlin (ของใช้และตกแต่งบ้าน) 7) TicketOne (จำหน่ายตั๋วบันเทิงทุกประเภท) 8) Samsung (เครื่องใช้ไฟฟ้า) 9) Ikea (ของใช้และตกแต่งบ้าน) 10) Temu (มาร์เก็ตเพลส)
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์เป็นช่องทางการค้าที่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในวงกว้างเพราะสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ซึ่งการมีแพลตฟอร์มที่มีความง่ายต่อการใช้งาน สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยในการชำระเงินและมีหลายช่องทาง จะช่วยให้การสั่งซื้อมีจำนวนมหาศาล ซึ่งจีนมองเห็นโอกาสนี้ และเริ่มรุกตลาดยุโรป/อิตาลี ผู้ประกอบการไทยก็สามารถพัฒนาช่องทางดังกล่าวเช่นกัน ควรสร้างความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะบางประการที่ชัดเจน หากไม่สามารถนำเสนอสินค้าที่หลากหลายได้ ก็ควรเจาะหมวดสินค้าเฉพาะ แต่สร้างให้มีตัวเลือกเฉพาะเจาะจงของสินค้าในด้านคุณภาพ ดีไซน์ และแบรนด์
2. การค้าออนไลน์สินค้าราคาถูกมีมากมายในปัจจุบัน และมักจะใช้กลยุทธ์ราคาถูกในช่วงเปิดตัวเพื่อสร้างการยอมรับและความรู้จักให้กับตลาด กลยุทธ์ดังกล่าว มักเป็นการเข้าสู่ตลาดอย่างฉาบฉวย แบบมาเร็วไปเร็ว การค้าออนไลน์สินค้าไทยควรเน้นคุณภาพมาตรฐานมากกว่าเน้นการดึงลูกค้าด้วยราคาถูก ส่วนลด และโปรโมชั่น ซึ่งอาจจะทำให้สินค้าด้อยคุณค่าลงได้เช่นกัน
3. อิตาลีเป็นตลาดที่คนไม่ใช้จ่ายของฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ตลาดหลักสำหรับสินค้าราคาถูก ดังนั้น การแข่งขันด้วยราคาที่ถูกมากเกินไปไม่สามารถสร้างความเชื่อใจและดึงดูดความสนใจซื้อได้เสมอไป และอาจลังเลในการตัดสินใจซื้อ หรือซื้อเพียงเพื่อทดลองดูเท่านั้น
4. ผู้บริโภคชาวอิตาลียังติดค่านิยมของคุณภาพคู่ควรกับราคา ดังนั้น การค้าที่ยั่งยืนและระยะยาว จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือในตัวสินค้าและการบริการ
5. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การจำกัดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย และการมีสินค้าที่เป็นขยะเหลือทิ้งน้อยที่สุด เป็นนโยบายที่ตรงข้ามกับการซื้อสินค้าราคาถูก ที่สร้างปัญหาปริมาณขยะและการขจัดทิ้ง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรตระหนักถึงนโยบายดังกล่าว เพื่อการเสนอสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นตัวช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าได้เป็นอย่างดีและยั่งยืน
————————————————————————————————
ที่มา: www.smartworld.it/news/recensione-temu.html
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
27 กันยายน 2566
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 5 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 4357298 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ