รายงาน “A country of snacks” จัดทำโดย Sigma brand ซึ่งสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวสเปนมากกว่าพันคนในการบริโภคขนมขบเคี้ยว (snack) ระบุว่า สเปนเป็นหนึ่งในประเทศหลักของยุโรปที่บริโภคขนมขบเคี้ยว โดยมีการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อขนมขบเคี้ยวอยู่ที่ 57.5 ยูโร/หัว/ปี รองจากสหราชอาณาจักร (72 ยูโร/หัว/ปี และเนเธอร์แลนด์ (68 ยูโร/หัว/ปี)
ในวันหนึ่งๆ ชาวสเปนทุก 1 ใน 2 คนจะบริโภคขนมขบเคี้ยวในช่วงบ่าย 33% จะบริโภคขนมขบเคี้ยวในช่วงชมโทรทัศน์ 19% ในช่วงหยุดพัก และ 13% ในช่วงพักเรียนหนังสือ นอกจากนี้ ชาวสเปนทุก 8 ใน 10 คน จะบริโภคขนมขบเคี้ยวเป็นประจำ 56% จะบริโภคทุกสัปดาห์ และ 24% จะบริโภคทุกวัน แม้ปกติ ผู้บริโภคชาวสเปนจะบริโภคขนมขบเคี้ยวนอกบ้าน แต่ทุก 8 ใน 10 คน ชื่นชอบบริโภคขนมขบเคี้ยวที่บ้าน
ในแง่กลุ่มผู้บริโภคขนมขบเคี้ยว พบว่า ผู้บริโภคในวัยกลางคนชื่นชอบขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็มซึ่งมักจะบริโภคในช่วงบ่ายหรือบ้านพักหรือเป็นการฆ่าเวลา โดยปกติ ขนมขบเคี้ยวมักมีแนวโน้มด้านโภชนาการต่ำและมักจะไม่เรียกน้ำย่อยมาก ปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นให้มีการบริโภคขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่มาจากความพึงพอใจ เช่น รสชาติ (15%) และสุขภาพ (12%)
ชาวสเปนชื่นชอบขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็มมากกว่ารสหวาน โดยเฉพาะมันฝรั่งทอดกรอบ ข้าวโพดคั่ว เป็นขนมขบเคี้ยวที่ชื่นชอบมาก (14%) รองลงมา ได้แก่ ถั่วประเภทต่างๆ (9.2%) ผลไม้ (8.9%) และไส้กรอก (8%) อย่างไรก็ตาม รสนิยมของผู้บริโภคสเปนอาจแตกต่างกันไปตามแคว้นในสเปน เช่น ชาวมาดริดนิยมขนมขบเคี้ยวรสเค็มมากกว่าค่าเฉลี่ย (19%) ชาวบาร์เซโลนาชื่นชอบถั่ว (12%) หรือชาวสเปนบริเวณแถบตะวันออกเฉียงเหนือชื่นชอบไส้กรอก (11%) เป็นต้น
ความท้าทายของธุรกิจขนมขบเคี้ยวก็คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสของฉลากผลิตภัณฑ์ กล่าวง่ายๆ ก็คือ “what you see is what you eat” ผู้บริโภคต้องรู้ว่ากำลังจะบริโภคอะไรและอะไรคือคุณค่าทางโภชนาการ
ความเห็นของ สคต.
ตลาดขนมขบเคี้ยวของไทยในสเปนยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก ผลิตภัณฑ์ของไทยที่วางจำหน่ายในปัจจุบันจะเป็นประเภทถั่ว ขนมอบกรอบ สาหร่าย บิสกิต/คุกกี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดสเปนควรเน้นขนมขบเคี้ยวประเภทใหม่ๆ และรสชาติใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว/ธัญพืช และเน้นคุณค่าทั้งด้านโภชนาการ การใช้นวัตกรรมที่เพิ่มส่วนผสมของวัตถุดิบธรรมชาติในขนมขบเคี้ยว เช่น ธัญพืช ผลไม้ ผัก เมล็ดถั่ว การใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล และสะดวกง่ายต่อการพกพาและการบริโภคในแต่ละครั้ง
นอกจากนี้ ผู้ผลิตจะต้องให้ข้อมูลสินค้าบนบรรจุภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวที่ชัดเจน ง่าย และเป็นความจริง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ พร้อมทั้งวิธีการรับประทานตามจำเป็นด้านอาหาร โดยบรรจุภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวทุกประเภทนั้น สเปนกำหนดเป็นข้อบังคับในการให้ข้อมูลเช่นเดียวกับ EU ทั้งนี้ สเปนกำหนดให้ภาษาที่ใช้บนฉลากผลิตภัณฑ์เป็นภาษาสเปน ส่วนจะใช้ภาษาอื่นมากกว่า 1 ภาษา เช่น ภาษาไทย ก็สามารถทำได้
————————-
ที่มา : Aral Food magazine
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จาก สคต.มาดริด ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566