ตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ชะลอตัวแต่สินค้าไทยยังมีโอกาส - สคต. ชิคาโก

“ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะเลือกลดปริมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารและของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นกลุ่มสุดท้าย”

 

โดยปกติแล้วพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันเมื่อจำเป็นที่จะต้องประหยัดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็มักจะเลือกประหยัดการซื้อสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงของตนเป็นอย่างหลังสุด อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวอันเนื่องมาจากปัจจัยภาวะเงินเฟ้อในตลาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้กลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางส่วนเริ่มที่จะลดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสัตว์เลี้ยงฟุ่มเฟือย เช่น ของเล่น เป็นต้น

 

จากข้อมูลภาวะเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐฯ ล่าสุดพบว่า ราคาสินค้าอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวอเมริกันบางส่วนเริ่มปรับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากเดิมที่มักจะเลือกซื้อสินค้าคุณภาพสูงแบรนด์พรีเมี่ยม (Gourmet Brand) ไปเป็นสินค้าแบรนด์คุณภาพทั่วไป หรือสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายแทน

 

Mr. Max Gumport ตำแหน่งนักวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอาหารแปรรูป ธนาคาร BNP Paribas กล่าวว่า ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคมที่ผ่านมา สัดส่วนตลาดสินค้าอาหารสุนัขแห้งพรีเมี่ยม (Premium Dry Dog Food) ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงร้อยละ 2.9 ในผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ โดยแนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น ผู้บริโภคในตลาดมีความกังวลว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและตัดสินใจลดการใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงลง

 

นอกจากนี้ จากรายงานข้อมูลตลาดบริษัท Circana พบว่า ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงประเภทคุณภาพทั่วไป (Non-Premium Pet Food) สหรัฐฯ เริ่มมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดิมร้อยละ 20.8 ในไตรมาสที่ 1 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 14.8 ในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกันกับอาหารสัตว์เลี้ยงประเภทคุณภาพสูง (Premium Pet Food) ที่มีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดิมร้อยละ 10.7 ในไตรมาสที่ 1 เหลือเพียงร้อยละ 8.5 ในไตรมาสที่ 2

 

ตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ชะลอตัวแต่สินค้าไทยยังมีโอกาส - สคต. ชิคาโก

 

ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัท General Mills ผู้ผลิตและสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงแบรนด์ “Blue Buffalo” รายงานแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันมีพฤติกรรมหันไปเลือกซื้อสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงที่มีขนาดบรรจุเล็กลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ ของบริษัทในปีนี้ได้

 

โดย Mr. Kofi Bruce ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารด้านการเงิน บริษัท General Mills กล่าวว่า  ปัจจัยด้านปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในช่วงที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดส่งผลให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงหันไปเลือกซื้อสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงทดแทนในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อราคาสินค้าในตลาดทำให้ปรับตัวสูงขึ้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงเริ่มมีพฤติกรรมหันไปพิจารณาเลือกซื้อสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพ ราคา และขนาดบรรจุที่เหมาะสมมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มพฤติกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัวของชาวอเมริกันในปัจจุบันคาดว่า พฤติกรรมการประหยัดเลือกซื้อสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงน่าจะเกิดขึ้นเพียงช่วยระยะสั้นเท่านั้น โดยในระยะยาวหากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นผู้บริโภคในตลาดน่าจะกลับมาเลือกซื้อสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงและผลักดันให้อุตสาหกรรมขยายตัวในอนาคต

 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในช่วงที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดที่ผ่านมาชาวอเมริกันจำนวนมากหันไปเลือกเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นกิจกรรมยามว่างและคลายเหงาเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดส่งผลทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ขยายตัวจากมูลค่า 5.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็นมูลค่า 7.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.12 ต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของภาวะการแพร่ระบาดทำให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมได้เป็นปกติจึงทำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนสัตว์เลี้ยงในประเทศลดลง ประกอบกับการที่สหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อจึงทำให้ผู้บริโภคพยายามตัดลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงที่ไม่จำเป็นลง โดยแนวโน้มดังกล่าวมีส่วนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยที่สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.89 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

 

โดยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 909.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 21.87 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของตลาดผู้บริโภคในสหรัฐฯ อีกทั้ง ปัจจัยการขยายการนำเข้าสูงผิดปกติของผู้ประกอบการสหรัฐฯ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนสินค้าจากปัจจัยปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในปี 2565 ซึ่งทำให้มีสินค้าคงคลังเหลือมากกว่าระดับปกติในช่วงต้นปีนี้ ยังส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของสหรัฐฯ ด้วย

 

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้ภาพรวมการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ จากไทยในช่วงดังกล่าวชะลอตัวลงร้อยละ 32.74 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดสหรัฐฯ เหลือมูลค่าทั้งสิ้น 317.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยยังคงครองตลาดสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.97 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และ 2564 (ก่อนที่จะเกิดปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน) จะพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.70 และร้อยละ 4.15 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยยังคงมีศักยภาพทำตลาดในสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไทยจะเริ่มหันไปผลิตสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงเพื่อทำตลาดมากขึ้น แต่สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ส่วนมากยังเป็นกลุ่มสินค้าอาหารคุณภาพทั่วไปซึ่งมีระดับราคาเหมาะสมสามารถแข่งขันได้ในตลาด ดังนั้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันในการลดค่าใช้จ่ายสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงดังกล่าว จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยมากนัก ในทางกลับกันน่าจะเป็นผลดีทำให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพทั่วไปส่งออกจากไทยสามารถเพิ่มยอดส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแนวโน้มพฤติกรรมเจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวอเมริกันที่มักจะนิยมดูแลสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันกับสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ยังจะยังมีอิทธพลสำคัญต่อตลาดทิศทางตลาดอุตสาหกรรมสินค้าสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ภาวะขยายตัวซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า โดยปัจจัยดังกล่าวน่าจะผลักดันให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวอเมริกันหันกลับไปเลือกซื้อสินค้าอาหารและของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะพิจารณาเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการผู้บริโภคในตลาดที่น่าจะขยายตัวในอนาคตอันใกล้เพื่อรักษาสัดส่วนตลาดส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยในสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ในภาพรวมระยะยาวคาดว่า อัตราการขยายตัวของจำนวนสัตว์เลี้ยงในตลาดสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มทรงตัว เจ้าของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่มากกว่าการเพิ่มจำนวนสัตว์เลี้ยงของตน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะให้ความสำคัญกับคุณภาพการดูแลสัตว์เลี้ยงมากขึ้นและจะต้องการซื้อสินค้าที่ช่วยสนับสนุนคุณภาพการดำรงชีวิตของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เช่น กรงอยู่อาศัยขนาดใหญ่ เบาะที่นอนลดการกดทับ เสาสำหรับแมว บันไดสำหรับขึ้นลง แผ่นรองพื้น รวมถึงกลุ่มสินค้าอาหารเสริมและอุปกรณ์สำหรับดูแลทำความสะอาดสุขอนามัยขน ผิว และเล็บของสัตว์เลี้ยง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในอนาคตด้วย

 

ตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ชะลอตัวแต่สินค้าไทยยังมีโอกาส - สคต. ชิคาโก

“ตัวอย่างสินค้าของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงที่น่าจะมีโอกาสทำตลาดในระยะยาว”

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai