(ที่มา : สำนักข่าว Yonhap News ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2566)
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศเกาหลี (BOK) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน 2566 ดัชนีราคานำเข้าของเกาหลีใต้ในเดือนสิงหาคมพุ่งสูงสุดในรอบ 17 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น โดยเมื่อเทียบเป็นรายเดือน เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากเดือนกรกฎาคม ในขณะที่เดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนมิถุนายน โดยการเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 ที่ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.6 อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ตัวเลขในเดือนสิงหาคม จะลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบเป็นรายปี
ดัชนีราคานำเข้า เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดอัตราเงินเฟ้อของประเทศ โดยเมื่อลงในรายละเอียดของดัชนีราคานำเข้า ในส่วนของวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ในขณะที่สินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่เกาหลีใต้ใช้เป็นตามเกณฑ์อ้างอิง ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 86.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเพิ่มจาก 80.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในเดือนกรกฎาคม
ในส่วนของดัชนีราคาส่งออก เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งในเดือนที่แล้วเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ในขณะที่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 7.9
ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญของอัตราเงินเฟ้อ ในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุด นับตั้งแต่เดือนเมษายน ปีที่แล้ว ที่มีอัตราเพิ่มที่ร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2566 BOK ได้คงอัตราดอกเบี้ยหลักไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลงที่ร้อยละ 3.5 เป็นครั้งที่ห้าติดต่อกัน หลังจากที่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 7 ครั้งตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ถึงมกราคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องด้วยดัชนีราคานำเข้าที่สูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 17 เดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นด้วย แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้อาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ควรระวัง และจะส่งกระทบต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเกาหลีใต้ ที่จะต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น อาจจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง และคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นของสินค้ามากยิ่งขึ้น
ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ามายังเกาหลีใต้อยู่แล้ว หรือบริษัทที่มีความต้องการที่จะรุกตลาดเกาหลี จำเป็นที่จะต้องสำรวจตลาด หาสินค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเกาหลี เพื่อจะได้เป็นตัวเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคเกาหลีใต้ เช่น สินค้าอาหารพร้อมรับประทาน สินค้าอาหารวีแกน หรือเจาะกลุ่มตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยง สินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และควรพิจารณาถึงการลดต้นทุนในการผลิต เพื่อจะได้แข่งขันด้านราคากับผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่มีแนวโน้มจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล