นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและแนวโน้มการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้มีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกและการบริโภคสินค้า ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเวียดนามเข้าถึงตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น
โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการจำนวนมากเมื่อเข้าร่วมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70-80 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้เพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนประหยัดเวลาและต้นทุนการดำเนินงาน
นาย เหงียน วัน ทันห์ (Nguyen Van Thanh) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอีคอมเมิร์ซในสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade: MoIT) กล่าวว่า ในปี 2565 ยอดค้าปลีกออนไลน์ในเวียดนามมีมุลค่า 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 49,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลได้ร่วมมือกับผู้ค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon และ Alibaba เพื่อจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME) ของเวียดนามให้มีความรู้และทักษะในการส่งออก ในปี 2566 ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางมีมากกว่า 1,300 รายได้รับประโยชน์จากหลักสูตรดังกล่าวและตั้งร้านค้าใน Amazon และ Alibaba
สถิติแสดงให้เห็นว่าจังหวัดเซินลา (Son La) ทางตอนเหนือของเวียดนาม เป็นที่ตั้งของบริษัทประมาณ 3,250 แห่ง และสหกรณ์ 806 แห่ง ซึ่งใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อส่งเสริมและขายผลิตผลทางการเกษตร ตั้งแต่ต้นปี 2566 ผลไม้มากกว่า 500 ตัน จากเกษตรกร Son La ได้รับการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อปรับปรุงประสิทธิผลของการส่งออกและขายสินค้าเวียดนามผ่านอีคอมเมิร์ซ MoIT ได้ร่วมมือกับท้องถิ่นเพื่อจัดทำแผนการเชื่อมต่ออีคอมเมิร์ซต่างๆ ช่วยให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าถึงวิธีการจัดจำหน่ายและปลูกฝังนิสัยการช้อปปิ้งออนไลน์
ในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะยังคงมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงขีดความสามารถของแอปพลิเคชันและพัฒนาอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ปัจจุบัน 3 ประการในอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่ การไลฟ์สด (live commerce) การตลาดแบบพันธมิตร และ ChatGPT โอกาสในการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเวียดนามยังมีมาก เนื่องจาก คนใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คนเข้าถึงสมาร์ทโฟนและใช้โซเชียลมีเดียขยายตัวมากขึ้น มีการซื้อขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซในสัดส่วนสูง การจ่ายเงินออนไลน์มีหลายรูปแบบมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อค้าปลีกออนไลน์ขยายตัว ทำให้ธุรกิจอื่นได้รับประโยชน์และเติบโตไปด้วย ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้า, บรรจุภัณฑ์, ขนส่ง และธุรกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง เช่น โฆษณาออนไลน์ คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ความงาม แฟชั่นผู้หญิงและเครื่องใช้ในครัวเรือน
(จาก https://vietnamnews.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
ในปี 2566 อีคอมเมิร์ซมีการขยายเติบโตและมีเสถียรภาพมากที่สุดในเวียดนาม ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2563 – 2565 และปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ได้เพียงแค่ขายสินค้าในประเทศเท่านั้น การซื้อขายคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเติบโตอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ยิ่งในช่วงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ยังเป็นอัตราเร่งการเข้าสู่ดิจิทัลออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ E-commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเติบโตสูงทำให้ภาคส่วนต่างมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เช่น โลจิสติกส์ และ การคลัง เป็นต้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหลายแห่งในเวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนอีคอมเมิร์ซจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 เนื่องจากเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เติบโตได้เร็วขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลเน็ตเวิร์ก แอพพลิเคชั่นเป็นหลัก ผู้บริโภคออนไลน์ในเวียดนามมากกว่าร้อยละ 57 ซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างประเทศที่มีขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่นิยมในเวียดนามโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เหตุผลที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะมีราคาถูก คุณภาพสินค้าดี ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาด ส่งออกสินค้ามายังเวียดนาม เนื่องจากสินค้าจากไทยได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม โดยผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาช่องทางการเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทาง e-Commerce ด้วยผู้ประกอบการที่ต้องการจำหน่ายสินค้ามายังเวียดนามผ่านช่องทาง e-Commerce ควรต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าสู่ตลาด