ผลผลิตข้าวของบังกลาเทศ มีแนวโน้มลดลงและมีโอกาสนำเข้าเพิ่มขึ้น

รายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States department of Agriculture-USDA) ฉบับล่าสุด 23 สิงหาคม 2566 ในปีการผลิต 2566-67 พื้นที่เพาะปลูกข้าวในบังกลาเทศมีแนวโน้มลดลง โดยมีสาเหตุจากการที่ฝนขาดช่วงและมีคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมในพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวลดลงร้อยละ 1.7 เหลือ 72.81 ล้านไร่

ผลผลิตข้าวคาดว่าจะลดลงเหลือ 36.40 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.6 จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ที่ 37.00 ล้านตัน

ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนร้อยละ 16 ในเดือนกรกฎาคมปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติร้อยละ 51 และปริมาณฝนกลับมาเป็นปกติตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม  โดยกรมอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศคาดการณ์ว่าฝนจะตกต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนกันยายน

รายงานของ USDA ยังอ้างอิงข้อมูลประมาณการของกรมส่งเสริมการเกษตรบังกลาเทศ (Department of Agricultural Extension-DAE) โดยระบุว่า ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและคลื่นความร้อนได้หยุดยั้งการเพาะปลูกข้าวในฤดูออส (Aus) ในหลายพื้นที่ของประเทศในปีนี้ ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวในฤดูออส (Aus) ปีนี้ลดลงลดลงประมาณร้อยละ 5 ปริมาณผลผลิตคาดว่าจะลดลงร้อยละ 4 และผลผลิตข้าวฤดูออสนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างมาก

สำหรับฤดูอามาน (Aman) ซึ่งต้นกล้าได้เพาะเตรียมไว้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม และจะย้ายต้นกล้าไปปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เมื่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับน้ำฝนที่เพียงพอและทันเวลา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนดังกล่าวนี้ มีความสำคัญต่อต้นกล้าในระยะเริ่มต้นเป็นอย่างมาก และเมื่อต้นข้าวโตขึ้นเกษตรกรจะต้องได้น้ำจากระบบชลประทานมาช่วยหล่อเลี้ยงให้ต้นข้าวเจริญเติบโตขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำจากระบบชลประทานเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 2,000 ตากา (ประมาณ 640 บาท) ต่อพื้นที่ปลูกข้าว 2.5 ไร่

ทั้งนี้ USDA ได้ลดการคาดการณ์การผลิตข้าวในฤดูอามาน (Aman) โดยคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวลดลงร้อยละ 3 และผลผลิตลดลงร้อยละ 4

ด้วยการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวที่จะลดลงจาก 2 ฤดูกาลนี้ หน่วยงาน DAE จึงได้ประมาณการนำเข้าข้าวของบังกลาเทศให้สูงขึ้นเป็น 1.00 ล้านตัน (จากเดิม 0.9 ล้านตัน)

ในส่วนของการบริโภคข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักในบังกลาเทศ USDA ประมาณว่าการบริโภคโดยรวมอาจลดลงเล็กน้อยเป็น 38.00 ล้านตัน ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ประมาณ 0.2 แสนตัน

ในปีการผลิตนี้ DAE ยังได้แสดงความกังวลปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นสำหรับเกษตรกร โดยระบุว่าปัจจุบันเกษตรกรใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกข้าว เนื่องจากบังกลาเทศยังคงขาดแคลนปุ๋ยเคมีในฤดูกาลนี้ รวมถึงต้นทุนปัจจัยการผลิตอย่างอื่น เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ยากำจัดวัชพืช และยาฆ่าแมลง ยิ่งกว่านั้น ค่าแรงและต้นทุนการชลประทานเพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

USDA ประมาณการณ์ว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน เพื่อชดเชยปริมาณผลผลิตที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามทั้งผู้นำเข้าภาคเอกชนและภาครัฐที่กำกับการนำเข้าข้าวของบังกลาเทศ ต่างยืนยันตรงกันว่า บังกลาเทศไม่ได้ขาดแคลนข้าว ในโรงสียังมีข้าวที่รอการแปรรูป ส่วนสต๊อกรัฐบาลยังมีข้าวเพียงพอ ปกติการนำเข้ารัฐบาลจะนำเข้าเองและอนุญาตให้เอกชนนำเข้า ซึ่งจากการข้อมูลที่ได้รับจากภาคเอกชน รัฐบาลยังไม่ออกใบอนุญาตจากผู้นำเข้ารายใด รวมทั้งภาษีนำเข้าที่สูงถึงร้อยละ 62.5 คงไม่มีเอกชนรายใดนำเข้าข้าว

จากการสังเกตโดยทั่วไป หากมีแนวโน้มความต้องการนำเข้าข้าวหรือเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการกักตุน หรือต้องการปรับลดราคาข้าวในประเทศลง รัฐบาลบังกลาเทศจะออกใบอนุญาตนำเข้าข้าวแก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าให้ด้วย โดยอาจจะเหลือประมาณร้อยละ 15-20 ทั้งนี้ แนวโน้มที่เป็นไปได้ รัฐบาลบังกลาเทศต้องได้รับข้อมูลการผลิตจากหน่วยงานในประเทศก่อน ก่อนจะมีมาตรการบริหารจัดการการจัดซื้อในประเทศหรือประกาศให้มีการนำเข้า โดยมีความเป็นไปได้ว่า ภายในเดือนตุลาคมจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ในส่วนของผลกระทบมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบังกลาเทศ ยังคงยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อแนวทางบริหารจัดการข้าวในประเทศ

ที่มา 1. https://www.thedailystar.net

    2. USDA Grain and Feed Update : Report Number: BG2023-0018, Date: August 23, 2023
thThai