เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.3

เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Central Bureau van Statistiek : CBS) ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรายไตรมาสลดลงติดต่อกันสองไตรมาส โดย GDP ลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรกของปี 2566 และลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสที่สองของปี 2566 การหดตัวทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 0.3 ถือว่าเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อาทิ ฝรั่งเศสที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ที่ร้อยละ 0.5 และเบลเยี่ยมที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และสำหรับเยอรมนี เศรษฐกิจยังคงทรงตัวเช่นเดียวกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านและการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ปัจจัยหลักของการหดตัวทางเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์เป็นผลมาจากการส่งออกและการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลง โดยการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นผลให้ดุลการค้าส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการหดตัวของตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 รวมถึงการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลงร้อยละ 1.6 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่ 2 ปัจจัยหลักมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภาคการขนส่งและเครื่องจักร แต่การลงทุนในที่อยู่อาศัยลดลง ส่วนการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7

เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์หดตัว 3 ใน 4 ไตรมาสล่าสุดที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์หดตัวร้อยละ 0.2  แต่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี และเศรษฐกิจกลับมาหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสถาบันยังคงมองในเชิงบวกและยังคงเชื่อมั่นว่าเนเธอร์แลนด์จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยและกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยมองว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้กลับมาฟื้นตัว ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ประสบกับภาวะถดถอยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยหดตัวรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 8.5 ในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งก่อนหน้านั้น เนเธอร์แลนด์ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในปี 2551 และถดถอยต่อเนื่องติดต่อกันถึง 6 ไตรมาส นอกจากนี้ ยังมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยในปี 2554 และ 2555

Mickey Adriaansens รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยนี้ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาและตัดสินใจอย่างรอบคอบในการประชุมงบประมาณ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงกำลังซื้อที่เพียงพอของผู้บริโภคและความมั่นคงทางธุรกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ คณะรัฐมนตรีจึงต้องระมัดระวังอย่างมากไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นเรื่องการปรับอัตราภาษี โดย Mickey Adriaansens ต้องการมุ่งเน้นไปที่การจัดการด้านตลาดแรงงานและการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ และการจัดการและป้องกันไม่ให้เกิดการปรับขึ้นราคาโดยไม่จำเป็น

 

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ในยูโรโซนและเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการขนส่งที่สำคัญของยุโรป เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน วิกฤตพลังงาน วิกฤตเงินเฟ้อ และปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในประเทศที่ทำให้สภาวะทางการเงินตึงตัวมากขึ้น ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในไตรมาสที่ 2 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี ทำให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในครึ่งปีแรกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หลายฝ่ายก็คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 4 และการปรับเพิ่มสูงขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉลี่ยจะสามารถชดเชยราคาค่าอาหารและค่าพลังงานที่สูงขึ้นในปีหน้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดปี 2567 ที่ประมาณร้อยละ 4 ซึ่งอาจยังคงส่งผลต่อปัญหาค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ว่าจะมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชนเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai