เมื่อเร็วๆ นี้พบว่าเมืองในภาคเหนือของจีนเริ่มมีร้านขนมขบเคี้ยวเปิดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยถนนสายหนึ่งมีมากถึง 2 ร้านด้วยกัน และที่น่าสนใจก็คือร้านเหล่านี้เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคย ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่เพิ่งเกิดใหม่ แสดงให้เห็นว่าภาคเหนือของจีนกำลังจะกลายเป็นสนามการแข่งขันของตลาดขนมขบเคี้ยวแห่งใหม่ของจีน

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ตลาดขนมขบเคี้ยวในแต่ละภูมิภาคของจีน พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงทิศใต้ ถือเป็นสนามหลักของการแข่งขันของขนมขบเคี้ยว ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีแบรนด์ร้านขนมขบเคี้ยวจำนวนมาก เช่น ร้านขนม Busy For You และร้าน YAN JIN PU ZI (เหยียนจินฟู่จึ) ส่วนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ก็มีร้าน Yummy Snack ร้าน Yu Rong Liang Pin (หยูหลงเหลียงผิ่น) และร้าน LING SHI MO FA (หลิงสือหมอฝ่า) โดยในที่นี้ร้าน Yummy Snack ได้ตั้งเป้าที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีกให้มีจำนวนกว่า 20,000 แห่งภายใน ปี ค.ศ. 2026

ร้านขายขนมขบเคี้ยวแบรนด์ Busy For You

ผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวจีน เดินหน้าลุยเปิดตลาดภาคเหนือ

ที่มา: https://www.hnlshm.com/mdzs.html
ร้านขายขนมขบเคี้ยว Yummy Snack

ผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวจีน เดินหน้าลุยเปิดตลาดภาคเหนือ

ที่มา: image.baidu.com

ภาคตะวันออกก็ถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันของตลาดขนมขบเคี้ยวมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมามีทั้งแบรนด์ใหม่และแบรนด์เก่าเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น แบรนด์ Three Squirrels แบรนด์ BESTORE แบรนด์ YAN JIN PU ZI  (เหยียนจินฟู่จึ) แบรนด์ LYFEN แบรนด์ BE & CHEERY แบรนด์ BALL & CHAIN แบรนด์ HAOXIANGLAI (หาวเสี่ยงหลาย) แบรนด์ Busy For You และแบรนด์ SUPER MING เป็นต้น

ร้านขายขนมขบเคี้ยวแบรนด์ Three Squirrels

ผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวจีน เดินหน้าลุยเปิดตลาดภาคเหนือ

ที่มา: image.baidu.com
ร้านขายขนมขบเคี้ยวแบรนด์ LYFEN

ผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวจีน เดินหน้าลุยเปิดตลาดภาคเหนือ

ที่มา: image.baidu.com

เนื่องจากภาคใต้ของจีนมีร้านแบรนด์ขนมขบเคี้ยวจำนวนมากจึงถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทำให้การเติบโตของมูลค่าและกำไรจึงชะลอตัวลง ส่งผลให้แบรนด์ขนมขบเคี้ยวจำนวนมากเริ่มเล็งที่จะขยายพื้นที่และเปลี่ยนสนามแข่งขันแห่งใหม่ไปที่ตลาดตอนเหนือของจีน

2. สถานการณ์ทางภาคเหนือของจีน พบว่าร้านขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่เปิดอยู่บริเวณใกล้ชุมชนประมาณ 2 – 3 ร้าน เช่น ร้าน LINGSHICHANGXIANG (หลิงสือฉางเซียง) ร้าน XIAOKOUDAKOU (เสียวโข่วต้าโข่ว) ร้าน A DI A DI (อาตีอาตี) เป็นต้น ขณะที่แต่เดิมจะมีเพียงแค่แบรนด์ XIAOKOUDAKOU (เสียวโข่วต้าโข่ว) เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากที่สุด

ร้านขายขนมขบเคี้ยวแบรนด์ XIAOKOUDAKOU

ผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวจีน เดินหน้าลุยเปิดตลาดภาคเหนือ

ที่มา: image.baidu.com

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ภาคเหนือของจีนจะยังไม่พบว่ามีแบรนด์ยักษ์ใหญ่เข้ามาร่วมแข่งขันอย่างเป็นทางการ แต่ภาคเหนือของจีนก็เริ่มมีแบรนด์ร้านขนมท้องถิ่นเปิดตัวมากขึ้นแล้วเช่นกัน

3. นิสัยการกินขนมขบเคี้ยวของผู้บริโภคชาวเหนือจะไม่ได้ร้อนแรงเท่ากับภาคใต้ แต่ก็ถือว่ายังมีความชื่นชอบการรับประทานขนมขบเคี้ยวอยู่ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก คนวัยทำงาน และสาววัยรุ่น ซึ่งล้วนเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของตลาดร้านขนมขบเคี้ยว ทำให้ภาคเหนือของจีนยังถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการขยายตัวของผู้บริโภคและมูลค่าตลาดเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้

1) จำนวนประชากรจำนวนมาก ซึ่งแม้ความหนาแน่นของประชากรจะไม่มากเท่ากับเมืองทางภาคใต้ แต่ก็มีจำนวนประชากรมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นของประชากรไม่ได้น้อยหน้าทางภาคใต้ ทำให้เมืองหลักในภาคเหนือเป็นตลาดที่เหมาะสำหรับการขยายร้านขนมขบเคี้ยวแฟรนไชส์เป็นอย่างมาก

2) กลุ่มผู้บริโภคขนมขบเคี้ยวหลักอย่างเด็ก ผู้หญิง และคนหนุ่มสาว ในภาคเหนือมีจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมในการซื้อซ้ำสูง

3) ความต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวเพิ่มสูงขึ้น โดยมีผลสืบเนื่องจากคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ทำให้ขนมขบเคี้ยวกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค อีกทั้งระดับการบริโภคของเมืองภาคเหนือก็มีแนวโน้มที่ถูกยกระดับให้สูงขึ้นพอๆ กับเมืองทางภาคใต้ ทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และเติบโตอย่างต่อเนื่อง

4. ปัจจุบันแบรนด์ร้านขนมขบเคี้ยวจำนวนมากวางแผนขยายตลาดมายังภาคเหนือมากขึ้น โดยขณะนี้มีร้านขนมขบเคี้ยวทั่วประเทศเกือบ 20,000 แห่ง มีแบรนด์กว่า 1,000 แบรนด์ นอกจากนี้แบรนด์ท้องถิ่นยังขยับเพิ่มขึ้นจากสิบกว่ารายเป็นหลายสิบราย

ที่ผ่านมาการที่ร้านขนมขบเคี้ยวเลือกที่จะเปิดตลาดในภาคใต้ก่อนนั้น นอกจากปัจจัยด้านศักยภาพการบริโภคแล้ว ก็ยังมีเรื่องของห่วงโซ่อุปทานด้วย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดภาคเหนือแล้วจะพบว่าภาคใต้ของจีนมีโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก ดังนั้นการขยายตลาดขนมขบเคี้ยวไปสู่ภาคเหนือนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาอันดับแรกก็คือต้นทุนของห่วงโซ่อุปทานในการผลิต และกลยุทธ์การตั้งราคา ที่ต้องคำนึงถึงราคาสินค้าที่จะต้องกำหนดให้มีราคาถูกหรือใกล้เคียงราคาเดิม เนื่องจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องเจอกับคู่แข่งท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ในมณฑลซานตงซึ่งถือว่าเป็นมณฑลในภาคเหนือของจีน ในปัจจุบันมีแบรนด์ XueJi Chao Huo (เสว่จี๋เฉ่าฮั้ว) ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองจี่หนาน (เมืองหลวงของมณฑลซานตง) ซึ่งนับจนถึงขณะนี้มีหน้าร้านเกือบ 1,000 แห่ง ทั้งในกรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเหอเป่ย และมณฑลเจียงซู เป็นต้น และผลิตภัณฑ์หลักของร้านนี้ก็คือ เมล็ดทานตะวันและเกาลัด นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภทอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น โยเกิร์ตอัลมอนด์ นมพุทรา เค้กถั่วเขียว เป็นต้น ซึ่งมีข้อได้เปรียบที่แตกต่างจากแบรนด์ขนมขบเคี้ยวอื่นๆ

หน้าร้านแบรนด์ XueJi Chao Huo

ผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวจีน เดินหน้าลุยเปิดตลาดภาคเหนือ

ที่มา: image.baidu.com

เมื่อเปรียบเทียบกับร้านขายขนมขบเคี้ยวทั่วไปแล้ว พบว่าแบรนด์ XueJi Chao Huo (เสว่จี๋เฉ่าฮั้ว) มีความแตกต่างจากแบรนด์ทั่วไปที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานการผลิตจากแบรนด์ที่อยู่ในภาคใต้ในด้านความสามารถในการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทำให้แบรนด์ร้านขนมขบเคี้ยวอื่นๆ เมื่อเข้าสู่ตลาดซานตงจะต้องเจอคู่แข่งเบอร์ใหญ่อย่างแบรนด์ XueJi Chao Huo (เสว่จี๋เฉ่าฮั้ว) ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคหลักในภาคเหนือของจีนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อมีจำนวนร้านขนมขบเคี้ยวมากขึ้นก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่สองประการ ได้แก่ (1) ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ส่งผลต่อความคุ้มค่าในการลงทุนที่น้อยลง และ (2) ราคาสินค้าแพงขึ้นเนื่องจากมีต้นทุนในการขยายตลาด ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อขนมขบเคี้ยวของผู้บริโภคมากขึ้นตามไปด้วย จึงถือเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการขยายธุรกิจและการแข่งขันในสนามการแข่งขันใหม่ๆ เป็นอย่างมากเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันช่องทางในการเลือกซื้อขนมขบเคี้ยวในจีนก็มีเป็นจำนวนมากไม่เพียงแต่ร้านค้าออฟไลน์ ร้านแฟรนไชส์ ร้านขนมขบเคี้ยวโดยเฉพาะ และซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่ยังมีร้านค้าออนไลน์ที่ผู้บริโภคหลักเลือกใช้บริการอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น แม้ตลาดภาคเหนือของจีนจะมีโอกาสในการขยายตัวของการจำหน่ายขนมขบเคี้ยว แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมของตลาด และความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งก่อนการดำเนินการธุรกิจด้วยเช่นกัน เนื่องจากการขยายตลาดโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็อาจนำมาซึ่งความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น มีร้านจำหน่ายขนมขบเคี้ยวแห่งหนึ่งของจีน ตอนที่เพิ่งเริ่มเปิดกิจการ ในช่วง 3 – 4 วันแรกได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ภายหลังจากนั้นก็เข้าสู่ภาวะปกติและเงียบไปในที่สุด โดยที่ผ่านมาราคาในการบริโภคโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 หยวนต่อคน (250 บาท) ซึ่งถ้ามีลูกค้าประมาณ 150 คนต่อวัน แสดงว่าใน 1 วัน ร้านจะมีรายได้ 7,500 หยวน (37,500 บาท) ซึ่งหากอยู่ในช่วงเทศกาลรายได้ของร้านก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ในวันทำงานปกติ จำนวนลูกค้าโดยทั่วไปจะมีไม่มากนัก ดังนั้น หากทำเลที่ตั้งของร้านไม่ดี และการตลาดไม่สามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ร้านค้าประสบกับปัญหาและล้มเหลวในการขยายธุรกิจได้ แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าขนมขบเคี้ยวจะเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังไม่ใช่สินค้าจำเป็นที่สุดในชีวิต ทำให้การขยายตลาดร้านขนมขบเคี้ยวเข้าสู่ภาคเหนือของจีนยังต้องใช้เวลาในการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนทางภาคเหนือได้อย่างแท้จริง เพื่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการแบรนด์ขนมขบเคี้ยวจะได้ใช้โอกาสของตลาดที่มีศักยภาพในการบริโภคอย่างภาคเหนือของจีนได้อย่างคุ้มค่าและมีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจขนมขบเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบันร้านขนมขบเคี้ยวในภาคใต้ของจีนมีความหลากหลาย และมีจำนวนแบรนด์มาก ทำให้มีการแข่งขันสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการจีนหันมาขยายตลาดร้านขนมขบเคี้ยวในภาคเหนือของจีนมากขึ้น ดังนั้น การขยายร้านขนมขบเคี้ยวมากขึ้นก็ถือเป็นอานิสงส์ที่ดีสำหรับผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวไทยที่จะได้เข้ามาขยายตลาดขนมขบเคี้ยวในภาคเหนือของจีนเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคทางภาคเหนือของจีนค่อนข้างเปิดรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและมีความคุ้นเคยกับสินค้าจากอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าไทย ยกตัวอย่างเช่น เมืองชิงต่าว ที่ปัจจุบันสามารถพบเห็นขนมขบเคี้ยวแบรนด์ไทยอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นทั่วไปมากขึ้น รวมถึงร้านขายขนมขบเคี้ยวเฉพาะประเภทด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าขนมขบเคี้ยวไทยเริ่มเป็นที่รู้จัก ได้รับการตอบรับที่ดี และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคภาคเหนือไม่แพ้สินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่นกัน ทำให้ภาคเหนือของจีนจึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรมากและมีกำลังซื้อสูง มีความคุ้นเคยกับสินค้าต่างประเทศ เนื่องจากมีที่ตั้งติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานขนมขบเคี้ยวของชาวจีนภาคเหนือยังไม่ได้รับการสร้างการรับรู้ที่ดี และยังมีพฤติกรรมที่หลากหลาย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้วิธีการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักด้วยการร่วมมือกับผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าภายในมณฑล/ เมืองทางภาคเหนือของจีนให้มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ รวมถึงหาพันธมิตรท้องถิ่นโดยตรง เพื่อให้มีข้อได้เปรียบในด้านการกำหนดราคา ซึ่งราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนทางภาคเหนือให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านคุณภาพ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคชาวจีนทางภาคเหนือมีการรับรู้สินค้าไทยมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนทางภาคเหนือได้ดีขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เราสามารถส่งออกสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคหลักได้ง่ายดายมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จะทำให้การขยายตลาดขนมขบเคี้ยวของไทยเข้าสู่ตลาดจีนภาคเหนือประสบความสำเร็จ และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดสินค้าไทยประเภทอื่นๆ เข้าสู่เมืองรองที่มีศักยภาพของจีนได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

แหล่งที่มา: https://www.foodaily.com/articles/33628

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai