ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ผู้บริโภคเวียดนามหันมาใช้การชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไม่ใช้เงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวียดนาม โดยธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.79 การชําระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 77 การทำธุรกรรมผ่านรหัส QR เพิ่มขึ้นร้อยละ 152 และร้อยละ 301 ในด้านปริมาณ และด้านมูลค่าตามลําดับ ขณะที่การทําธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มมีปริมาณลดลงร้อยละ 4 และมูลค่าลดลงร้อยละ 6
รัฐบาลเวียดนามได้วางนโยบาย National Digital Transformation ไว้ในปัจจุบัน ถึงปี 2568 โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบบดิจิทัล ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติเวียดนามยังได้กำหนดแผนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานไปสู่ระบบธนาคารดิจิทัล จากปัจจุบันจนถึงปี 2568 และวางวิสัยทัศน์การเป็นธนาคารดิจิทัลไว้ในปี 2573 จึงนับเป็นโอกาสสําหรับธนาคารในเวียดนามในการปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ และการให้บริการทางการเงิน โดยการนําเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ในงานสัมมนา “Finovate Innovation Day: When Innovation Meets Sustainability” ซึ่งจัดโดยศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติและ JobHopin รองประธานและเลขาธิการสมาคมธนาคารเวียดนาม นาย Nguyen Quoc Hung ได้เปิดเผยว่า ธนาคารและสถาบันสินเชื่อ 96 แห่งในเวียดนาม อยู่ระหว่างการวางกลยุทธ์เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล นอกจากนี้ ร้อยละ 92 ของธนาคารในเวียดนามได้พัฒนาการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต และแอปพริเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือด้วยแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตด้านการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม ธนาคารและตัวกลางการชําระเงินสามารถเชื่อมต่อกันในการทําธุรกรรมได้แบบ real-time โดยมีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันสูงถึงประมาณ 900,000 พันล้านเวียดนามด่ง (40 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งครอบคลุมธุรกรรมมากกว่า 8 ล้านรายการต่อวัน
นอกจากนี้ ประชากรวัยทำงานของเวียดนามกว่าร้อยละ 70 มีบัญชีธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัล ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ของธนาคาร ลดลงประมาณร้อยละ 30 ส่งผลให้ธนาคารลดต้นทุนการดำเนินการลงได้อย่างมาก และจากการสํารวจสถานะการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบบดิจิทัลในปี 2566 โดย DBS Financial Service Group พบว่า เวียดนามจัดอยู่ในอันดับที่ 2 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีระดับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบบดิจิทัล เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและการมีส่วนร่วมในภาคการเงิน รองมาจากสิงคโปร์เท่านั้น
วิเคราะห์ผลกระทบ
การระบาดใหญ่ของโควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงผู้บริโภคเวียดนามด้วยเช่นกัน จากการวิจัยทัศนคติในการชำระเงินของผู้บริโภคในปี 2565 ของบริษัท Visa ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก ระบุว่า เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้เวียดนามที่ใช้การชำระเงินด้วยบัตรหรือ e-wallet เพิ่มขึ้นในทุกวัย ผู้ใช้ร้อยละ 66 ชำระเงินผ่านบัตร และร้อยละ 70 ชำระเงินผ่าน e-wallet หรือผ่านแอปพลิเคชัน และยังพบว่าอัตราการชำระเงินด้วย QR Code เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 (ในปี 2565) เทียบกับร้อยละ 35 (ในปี 2564) นอกจากนี้ ในปี 2565 ร้อยละ 90 ของคนเวียดนามได้ทำธุรกรรมการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 77 ในปี 2564 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของผู้บริโภคเวียดนามที่จะทำธุรกรรมหรือจับจ่ายสินค้าโดยไม่ใช้เงินสด เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญหายหรือถูกโจรกรรม รวมทั้งมีหน่วยธุรกิจในเวียดนามจำนวนมากใช้วิธีการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
จากแนวโน้มการทำธุรกรรมทางการเงินของหน่วยธุรกิจ และผู้บริโภคชาวเวียดนามที่มีจำนวนและมูลค่าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแนวนโยบายการเปลี่ยนผ่านประเทศ และระบบการธนาคารไปสู่ระบบดิจิทัลในอนาคต ผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจเข้ามาขยายตลาดสินค้าและบริการในประเทศเวียดนาม ควรให้ความสำคัญกับช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยวิธีการชำระเงินแบบดิจิทัลด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างความสะดวกให้กับผู้บริโภค
จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์