การผลิตธัญพืช
สำนักงานสถิติบังกลาเทศ (Bangladesh Bureau of Statistics-BBS) ได้สรุปสถิติการผลิตธัญพืช (ข้าวและข้าวสาลี) ปีงบประมาณ 2564-2565 (กรกฎาคม-มิถุนายน) รวมทั้งสิ้น 39.24 ล้านตัน เป็นการผลิตข้าวฤดู Aus จำนวน 3.00 ล้านตัน ฤดู Aman จำนวน 14.96 ล้านตัน และฤดู Boro จำนวน 20.19 ล้านตัน ส่วนในปีงบประมาณ 2565-66 รัฐบาลบังกลาเทศ โดยกระทรวงเกษตรบังกลาเทศกำหนดเป้าหมายการผลิต ไว้ที่ 42.80 ล้านตัน โดยประมาณการณ์จากผลผลิตจากข้าวฤดู Aus จำนวน 3.69 ล้านตัน Aman จำนวน 16.35 ล้านตัน และ Boro จำนวน 21.53 ที่เหลือเป็นข้าวสาลีจำนวน 1.23 ล้านตัน ในปีงบประมาณ 2566-67 ยังไม่มีคาดการณ์การผลิตออกมาอย่างเป็นทางการ
ที่มา- กรมการอาหาร บังกลาเทศ
การนำเข้าธัญพืช
ปีงบประมาณ 2565-2566 (กรกฎาคม-มิถุนายน) บังกลาเทศ (รวมภาครัฐและเอกชน) นำเข้าธัญพืชจำนวน 4.93 ล้านตัน เป็นการนำเข้าข้าวจำนวน 1.05 ล้านตัน (ภาครัฐนำเข้าจำนวน 0.63 ล้านตัน ภาคเอกชนนำเข้าจำนวน 0.42 ล้านตัน) และเป็นการนำเข้าข้าวสาลีจำนวน 3.87 ล้านตัน (ภาครัฐนำเข้าจำนวน 0.68 ล้านตัน ภาคเอกชนนำเข้าจำนวน 3.19 ล้านตัน
กระทรวงการอาหารประมาณการณ์การนำเข้าธัญพืชรวมภาครัฐและเอกชน ปีงบประมาณ 2566-67 จำนวน 1.10 ล้านตัน (ข้าว 0.50 ล้านตัน ข้าวสาลี 0.60 ล้านตัน) ขณะนี้ยังไม่ได้ประมาณช่วงหรือระยะเวลาที่จะนำเข้า
ตารางแสดงปริมาณนำเข้าธัญพืช หน่วย: พันตัน
ที่มา- กรมการอาหาร บังกลาเทศ
การจัดซื้อธัญพืชภายในประเทศ
ตามนโยบายความมั่นคงทางอาหาร ในแต่ละปีงบประมาณ รัฐบาลบังกลาเทศจะซื้อข้าวเปลือกหรือข้าวสารจากชาวนาหรือโรงสีโดยตรง เพื่อนำมาเป็นสต๊อกของรัฐบาล ทั้งนี้ได้เริ่มการจัดซื้อข้าวจากฤดูผลิต Boro ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ มีเป้าหมายเป็นการจัดซื้อข้าวเปลือกจำนวน 0.40 ล้านตัน และข้าวนึ่งจำนวน 1.25 ล้านตัน ปัจจุบันได้จัดซื้อข้าวเปลือกแล้วจำนวน 0.13 ล้านตัน และข้าวนึ่งจำนวน 0.74 ล้านตัน
ในปีงบประมาณ 2566-2567 เป้าหมายรวมการจัดซื้อธัญพืชทั้งปีกำหนดไว้ที่จำนวน 2.06 ล้านตัน ซึ่งประกอบด้วยข้าวจำนวน 1.96 ล้านตัน และข้าวสาลีจำนวน 0.10 ล้านตัน เนื่องจากขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลบังกลาเทศจึงจัดสรรงบประมาณการจัดซื้อข้าวภายในประเทศของปีงบประมาณนี้ สูงกว่างบประมาณปีก่อน
ร้อยละ 12.6
สต๊อกธัญพืชของรัฐบาล
ปริมาณสต๊อกธัญพืชคงเหลือของรัฐบาล ณ เดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 1.84 ล้านตัน ประกอบด้วยข้าวจำนวน 1.55 ล้านตัน และข้าวสาลีจำนวน 0.29 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณสต๊อกคงเหลือของปีงบประมาณที่แล้วประมาณ 0.24 ล้านตัน โดยปริมาณสต๊อกขณะนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่รัฐบาลบังกลาเทศไม่ต้องกังวล สต็อกธัญพืชเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการรักษาเสถียรภาพราคาอาหารตลอดจนระบบการแจกจ่ายอาหารของรัฐบาล เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าราคาธัญพืชจะเพิ่มสูงขึ้น หลังจากการประกาศห้ามส่งออกข้าวของรัฐบาลอินเดียและการไม่ต่อ MOU ของรัสเซีย รัฐบาลบังกลาเทศอาจต้องวางแผนการจัดซื้อธัญพืชใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเสริมความมั่นคงทางอาหาร
ตารางแสดงปริมาณสต๊อกคงเหลือรัฐบาล หน่วย: พันตัน
ที่มา- กรมการอาหาร บังกลาเทศ
การจำหน่ายธัญพืขของรัฐบาลบังกลาเทศ
ในแต่ละปีรัฐบาลบังกลาเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการอาหารจะนำธัญพืชจากสต๊อกรัฐบาลที่ได้มาจากการจัดซื้อในประเทศและที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ จำหน่ายให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการต่างๆ ในปีงบประมาณ 2565-2566 มีการจำหน่ายธัญพืชรวมจำนวน 3.01 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีการจำหน่ายข้าวนึ่งไทยที่รัฐบาลบังกลาเทศนำเข้า โดยจำหน่ายผ่านโครงการ Open Market Sales (OMS) กำหนดราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 30 ตากา (ประมาณ 10 บาท) คุณสมบัติผู้ซื้อจะต้องแสดงบัตรประชาชนและจำกัดปริมาณไม่เกินคนละ 5 กิโลกรัม
ภาพแสดงการจำหน่ายข้าวและสินค้าอื่นๆ ภายใต้โครงการ OMS
คำแปล
โครงการ OMS โดยรัฐบาลบังกลาเทศ จำหน่ายข้าวสาร กิโลกรัมละ 30 ตากา จำกัด 5 กิโลกรัมต่อคน (เปิดจำหน่ายจุดละ 2 ตันข้าวสาร) |
ปีงบประมาณ 2566-2567 เป้าหมายของการจัดจำหน่ายธัญพืชที่จัดซื้อ จากในประเทศและที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ ผ่านโครงการต่างๆ นี้ รวม 3.09 ล้านตัน ซึ่งจะประกอบด้วย ข้าวจำนวน 2.42 ล้านตัน และข้าวสาลีจำนวน 0.67 ล้านตัน
ความเห็นสำนักงานฯ
- ปริมาณผลผลิตข้าวของบังกลาเทศคาดว่าจะได้ผลดี แม้จะประสบปัญหาฝนขาดช่วงตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม แต่กรมอุตุนิยมวิทยาของบังกลาเทศพยากรณ์ว่า ฝนจะตกชุกมากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายกันยายนซึ่งจะช่วยฟื้นต้นข้าวที่ได้รับผลกระทบจากฝนขาดช่วง
- ปริมาณสต๊อกธัญพืชในโกดังของรัฐบาลมีสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รัฐบาลบังกลาเทศมีความมั่นใจว่า สามารถจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งเป็นการแทรกแซงราคาสินค้าธัญพืชในตลาดไม่ให้สูงเกินไป
- ขณะนี้ยังไม่ปรากฏความกังวลของภาครัฐบังกลาเทศตามมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดียและการที่รัสเซียถอนตัวออกจากโครงการ Black Sea Grain Initiative (BSGI) ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณและราคาสินค้าธัญพืชสำคัญ อย่างข้าวและข้าวสาลีในตลาดโลก ทั้งนี้ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบังกลาเทศจะวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งสำนักงานฯ จะติดตามความเคลื่อนไหวและหากมีคืบหน้าจะได้นำเสนอรายงานต่อไป
———————-
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา
สิงหาคม 2566
ที่มา: กรมการอาหาร, กระทรวงอาหารบังกลาเทศ