มณฑลกวางตุ้งคว้าอันดับหนึ่ง GDP สูงสุดของจีนในช่วงครึ่งปีแรก การเติบโตทางเศรษฐกิจของเซินเจิ้นสูงกว่าทุกเมืองในจีน

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 จีนได้มีการเผยแพร่ข้อมูล GDP ของ 31 มณฑลของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยระบุว่า มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู และนครเซี่ยงไฮ้ติดอันดับหนึ่งในสามอันดับแรกของเมืองที่มีค่า GDP สูงสุดของจีน ซึ่งมณฑลกวางตุ้งยังคงครองอันดับหนึ่งของ “มณฑลที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน” โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จีนมี GDP รวมอยู่ที่ 6.29 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสแรกร้อยละ1.9 และมณฑลเจียงซูตามมาติดๆ โดยมีค่า GDP อยู่ที่ 6.04 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในจำนวนนี้ GDP ช่วงครึ่งปีแรกของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกินกว่า 14.3 ล้านล้านหยวน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศ จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของทั้งสามมณฑลสูงกว่ามวลรวมทั้งประเทศที่ร้อยละ 5.5

เมื่อพิจารณาจาก GDP รวมของมณฑลกวางตุ้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี สูงถึงกว่า 6 ล้านล้าน โดยเซินเจิ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีค่า GDP อยู่ที่ 1.65 ล้านล้านหยวน โดย GDP มวลรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 500,002 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกโดยรวมอยู่ที่ 1.67 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของเมืองเซินเจิ้น มีอัตราการเติบโตกว่าที่ก้าวกระโดดกว่าทุกเมืองในมลฑลกวางตุ้งและทุกเมืองในแต่ละมณฑลของจีน

ในฐานะ “เมืองแห่งการประกอบธุรกิจ” ความหนาแน่นของผู้ประกอบการในเซินเจิ้นสูงถึง 227.4 แห่งต่อประชากรหนึ่งพันคน ซึ่งอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน ซึ่งไม่เพียงแต่มีองค์กรขนาดใหญ่และแข่งแกร่ง เช่น บริษัท Huawei บริษัท BYD บริษัท China Merchants Bank และ บริษัท TCL เท่านั้น แต่ยังมีองค์กรขนาดกลาง และขนาดเล็กหลายล้านแห่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมครัวเรือนและพาณิชยกรรม ซึ่งตามข้อมูลจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมปี2566 ระบุว่า หน่วยงานเชิงพาณิชย์ในเซินเจิ้นมีจำนวนเกิน 4 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.61 เมื่อเทียบเป็นรายปี นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นครั้งประวัติศาสตร์

ในช่วงครึ่งแรกของปี อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของเซินเจิ้นสูงกว่าของทุกเมืองในมณฑลกวางตุ้ง มีสาเหตุหลักมาจากในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ได้มีการนำนโยบายและมาตรการต่างๆ มาใช้ เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถฟื้นตัวได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว  และเป็นผู้นำในการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านความยืดหยุ่นและความสามารถด้านนวัตกรรมของอุตสาหกรรมการผลิต ในขณะเดียวกันบริษัทเอกชนเซินเจิ้นก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจในเมืองเซินเจิ้นมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ส่วนในด้านอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ นครเซี่ยงไฮ้และมณฑลไห่หนาน มีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยมีอัตราการเติบโตเกินร้อยละ 8 ซึ่งในจำนวนนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก GDP ของไห่หนานมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากไตรมาสแรก ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจในมณฑลเหล่านี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดย Mr.Yang Lei ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติมณฑลไห่หนาน เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในมณฑลไห่หนานเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 ​​เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกรวมสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีมูลค่าการนำเข้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า มณฑลไห่หนานก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกต้องจับตามองต่อไป

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

มณฑลกวางตุ้ง เป็นมณฑลที่มีค่า GDP สูง และมณฑลไห่หนานเป็นมณฑลที่มีอัตราการเติบโตของ GDP ที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของจีน ในขณะเดียวกัน ทั้งสองมณฑลดังกล่าวก็มีมูลค่าการค้าระหว่างไทยในแต่ละปีที่สูงอีกด้วย โดยในบรรดาเมืองต่างๆ ในมณฑลกวางตุ้ง เมืองเซินเจิ้นได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกลายมาเป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของจีน  มีค่า GDP สูงที่สุดในจีน  โดยจะมีอุตสาหกรรมหลักๆ 4 ด้าน คือ เทคโนโลยีขั้นสูง การเงิน โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทข้ามชาติจีนที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก อาทิ Tencent. DJI China Merchants Bank Huawei เป็นต้น และในอนาคต รัฐบาลจีนได้มีนโยบายผลักดันการพัฒนาเมืองเซินเจิ้นให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ที่มีอิทธิพลในระดับโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจเมืองเซินเจิ้นจะยังมีการพัฒนาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านการค้าระหว่างเซินเจิ้นและไทย ปัจจุบันได้มีธุรกิจสำคัญของไทยหลายแห่งในเมืองเซินเจิ้น เช่น บริษัท  Chia Tai Conti Group ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) ศูนย์กระจายสินค้า Thai Pavillion บริษัท Shenzhen YCM Jewelry และบริษัท Shenzhen Boat Fortune Jewelry  อีกทั้งเซินเจิ้นยังเป็นหนึ่งในด่านที่สำคัญที่นำเข้าผลไม้ของไทยสู่จีน ในขณะเดียวกันทางฝั่งไทย ในปี 2564 รัฐบาลไทยก็ได้จับมือกับสมาคมนักธุรกิจเซินเจิ้นประเทศไทย และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเมืองเซินเจิ้น (CCPIT Shenzhen) ในการจัดตั้งสำนักงานประสานงานทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเขตเซินเจิ้น ประจำประเทศไทย” และ “ศูนย์เจรจาการค้าและนิทรรศการสินค้าจากผู้ประกอบการนักธุรกิจเขตเซินเจิ้น” ซึ่งจากการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยของรัฐบาลไทยและเซินเจิ้น เปิดโอกาสให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคโนโลยีและธุรกิจการค้า รวมถึงสามารถจับคู่เจรจาทำข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับเมืองเซินเจิ้นได้ จะเห็นได้ว่าเมืองเซินเจิ้นเป็นเมืองการค้าที่ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องจับตามอง

เนื่องด้วยการส่งเสริมจากรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือทางธุรกิจการค้าและความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ คาดว่าในอนาคตไทยมีโอกาสในการเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเมืองเซินเจิ้น รวมถึงสามารถส่งเสริมให้การค้าระหว่างเมืองเซินเจิ้นและไทยเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาของเมืองเซินเจิ้นได้ต่อไป

 

ที่มา: https://news.southcn.com/node_54a44f01a2/d2987cb444.shtml

ภาพ: https://news.southcn.com/node_179d29f1ce/3126d180d2.shtml

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

2  สิงหาคม  2566

thThai