ผู้ผลิตสินค้าอาหารของเกาหลีใต้ขยายธุรกิจอาหารวีแกนเพื่อสร้างจุดสนใจสำหรับลูกค้าจากทั่วโลก

(ที่มา : สำนักข่าว Korea JoongAng Daily ฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม 2566)

 

เมนูอาหารเด็ดหรือเมนูซิกเนเจอร์ของเกาหลีหลายเมนูอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นวีแกน เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น สินค้าเนื้อสัตว์ทางเลือกได้กระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค ไม่เพียงในกลุ่มวีแกนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์เนื่องจากเหตุผลด้านสภาพอากาศ และผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมองหาทางเลือกอื่นๆ ในการบริโภคด้วย

 

สินค้าเกี๊ยวเกาหลี Bibigo mandu ที่ได้รับความนิยมอย่างมากของบริษัท CJ CheilJedang ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความชุ่มฉ่ำจากเนื้อหมูและผักหลากหลายชนิด ได้เปิดตัวสินค้าในรูปแบบวีแกนในปี 2564 ภายใต้แบรนด์ PlanTable ซึ่งมีการใช้วัตถุดิบจากถั่วแทนเนื้อสัตว์ โดยเป้าหมายของ PlanTable Bibigo mandu คือการเลียนแบบเนื้อสัมผัสและรสชาติของเนื้อสัตว์ เพื่อที่จะทำให้ผู้ที่ไม่รับประทานวีแกนก็สามารถอร่อยไปกับสินค้าวีแกนได้เช่นเดียวกัน

 

บริษัท CJ ได้มีการสกัดโปรตีนพืชจากถั่ว เพื่อพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าโปรตีนเกษตร (Textured Vegetable Protein) เพื่อเลียนแบบเนื้อสัมผัสเวลาเคี้ยวให้เหมือนเนื้อสัตว์ ปัจจุบัน ไลน์สินค้าของ PlanTable ประกอบด้วย เกี๊ยวเกาหลี ต็อกคัลบี (เนื้อปั้นก้อนปรุงรส) ข้าวปั้น และกิมจิ ซึ่งโดยปกติ การทำกิมจิจะใช้น้ำปลาชนิดหนึ่งของเกาหลี เพื่อสร้างรสชาติ แต่ในสินค้าวีแกนได้มีการใช้ซอสเครื่องปรุงรส Plant-based แทน เนื่องจากมีเป้าหมายจะเจาะตลาดกลุ่มที่ไม่รับประทานอาหารทะเลเช่นกัน

 

PlanTable ขายสินค้าทั้งหมด 6 ล้านหน่วย ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านวอน (23 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยหนึ่งในสามของยอดขายนี้มาจากการส่งออก บริษัทได้เริ่มส่งออกไปยัง 10 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และต่อมาได้ขยายการส่งออกไปอีกมากกว่า 30 ประเทศ เช่น เยอรมนี อินเดีย และประเทศในแอฟริกา โฆษกของบริษัท CJ CheilJedang กล่าวว่า “จากการที่จำนวนวัยรุ่นที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้นทั่วโลก สินค้าของ PlanTable ไม่เพียงแต่จะตอบสนองต่อผู้ที่รับประทานวีแกนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่มองหาสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพด้วย”

 

บริษัท Nongshim ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ชินรามยอน ได้นำอาหารวีแกนสู่รูปแบบการรับประทานอาหาร Fine dining ของเกาหลี บริษัทได้มีการเปิดร้านอาหารเกาหลีที่เป็นวีแกนในรูปแบบ Fine dining เป็นแห่งแรกในเกาหลีใต้ที่ชื่อว่า Forest Kitchen ทางตะวันออกของกรุงโซลเมื่อปีที่แล้ว ทางร้านได้มีการใช้วัตถุดิบที่มีการใช้บ่อยๆอยู่แล้วในการทำอาหารเกาหลี เช่น ผักชีฝรั่ง ทงชิมิ (กิมจิหัวไชเท้าในน้ำ) คดกัม (ลูกพลับแห้ง) และน้ำมันงาขี้ม้อน (Perilla oil) เพื่อส่งมอบรสชาติดั้งเดิมของเกาหลีในรูปแบบที่ดีต่อสุขภาพ

 

ร้านอาหารแห่งนี้ดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีร้านอาหารเกาหลีจำนวนไม่มากนักที่เสิร์ฟเมนูวีแกน เนื่องจากมีประชากรเกาหลีที่ไม่ทานเนื้อสัตว์มีค่อนข้างน้อย โฆษกของบริษัท Nongshim กล่าวว่า “ประมาณร้อยละ 10 ของลูกค้าในแต่ละเดือนเป็นชาวต่างชาติ”

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของเกาหลีใต้ Pulmuone ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีในส่วนของสินค้าเต้าหู้ กำลังใช้แนวทางการนำเสนอที่แตกต่างออกไป โดยการยึดมั่นในสิ่งที่บริษัททำได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือ การนำเต้าหู้มาเป็นส่วนประกอบหลักในการทดแทนเนื้อสัตว์ ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่หันมาใช้ถั่วหรือโปรตีนเกษตรสำหรับการผลิตสินค้าอาหารวีแกน

ผู้ผลิตสินค้าอาหารของเกาหลีใต้ขยายธุรกิจอาหารวีแกนเพื่อสร้างจุดสนใจสำหรับลูกค้าจากทั่วโลก

 

Pulmuone ใช้เทคโนโลยีการสไลด์เต้าหู้บางๆมาวางซ้อนกัน เพื่อเลียนแบบรูปลักษณ์ รสชาติ และเนื้อสัมผัสของไก่ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวที่ได้มีการจดสิทธิบัตรแล้วนั้น ส่งผลให้สินค้าเต้าหู้ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับนักเกตไก่ และกลายเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีในบรรดาสินค้า Plant-based ของบริษัท นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเนื้อบดจากเต้าหู้ที่สามารถนำไปราดบนบะหมี่หรือข้าวทานได้เลย สะดวกรวดเร็วและดีต่อสุขภาพ

 

นอกจากนี้ Pulmuone ยังทำธุรกิจอาหาร Plant-based ในสหรัฐอเมริกา โดยหลังจากซื้อกิจการบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเต้าหู้ Nasoya ของสหรัฐอเมริกาในปี 2559 Pulmuone ได้เปิดตัวสินค้าเต้าหู้หลากหลายประเภทและสินค้าเนื้อสัตว์ที่ทำจากถั่วในสหรัฐอเมริกาภายในแบรนด์ “Plantspired” โดยมีสินค้าอาหารที่ผลิตจากโปรตีนเกษตร 2 ชนิด ได้แก่ สเต็กบาร์บีคิวเกาหลีและสเต็กโคชูจัง

 

โฆษกของ Pulmuone กล่าวว่า “สินค้าเนื้อสัตว์ทางเลือกส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในรูปแบบของเนื้อบด แต่สินค้าของ Plantspired จะมีลักษณะเป็นชิ้น ซึ่งสามารถย่างได้ง่ายๆบนกระทะ นอกจากนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการผลิตโปรตีนเกษตรนั้น เป็นสิ่งที่มีในทุกบริษัทอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความแตกต่างด้วยซอสที่ช่วยเพิ่มรสชาติ และพัฒนาเนื้อสัมผัสของเนื้อสัตว์ทางเลือก โดยเราได้เลือกซอสบุลโกกิและโคชูจังมาช่วยเพิ่มรสชาติ” ทั้งนี้ เป้าหมายของ Pulmuone คือการเพิ่มสัดส่วนของสินค้าอาหาร Plant-based จากหมวดหมู่สินค้าทั้งหมด โดยปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 50% และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 60% ภายในปี 2568

 

        สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบัน กระแสการรับประทานอาหารวีแกนในเกาหลีใต้ ไม่ได้มีอยู่แค่ในกลุ่มคนทานวีแกนเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มคนที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และคนที่ใส่ใจสุขภาพ จึงส่งผลให้บริษัทอาหารเกาหลีหลายแห่งเร่งพัฒนาและเปิดตัวสินค้าอาหารวีแกนและเนื้อสัตว์ทางเลือกออกมามากขึ้น รวมไปถึงพยายามที่จะพัฒนาเมนูใหม่ และขยายตลาดในต่างประเทศ

 

ในส่วนของประเทศไทย สินค้าอาหารของไทยมีศักยภาพ ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้มีการพัฒนาเมนูใหม่ๆ โดยใช้เนื้อสัตว์ทางเลือก เช่น Plant-based Meat เพื่อให้รองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในรูปแบบวัตถุดิบ จนถึงอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งหลายบริษัทได้มาลองตลาดที่เกาหลีใต้แล้วด้วย ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามข่าวสาร และพัฒนาสินค้า Plant-based Meat ในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะรองรับกับตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

 

********************************************************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล

 

thThai