ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เครื่องดื่มมะพร้าวได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางใหม่ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในจีน นอกจากนี้ มะพร้าวยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจีนอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ในตลาดจีนที่น่าจับตามอง สรุปได้ดังนี้

  1. เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของมะพร้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มะพร้าวสดเป็นผลไม้และเครื่องดื่มที่ยังคงได้รับความนิยมในตลาดจีนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นได้จากการที่ยังคงมีการลงทุนในอุตสาหกรรมมะพร้าวในตลาดจีนอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น  แบรนด์ LuckHaHa มีการระดมทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง เช่นเดียวกับคู่แข่งอย่าง  แบรนด์ All Coconut ที่เน้นการตีตลาดด้วยน้ำมะพร้าวสดก็ได้รับเงินทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมมากถึง 8 หลัก นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากความนิยมและความแพร่หลายของช่องทางการจำหน่ายในตลาด ก็พบว่ามีแบรนด์ผู้ผลิตมะพร้าวชั้นนำต่างเร่งเปิดช่องทางจำหน่ายแบบออฟไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น แบรนด์ Kokoyeah มีร้านค้าแบบออฟไลน์มากที่สุดถึง 331 แห่ง รองลงมา ได้แก่ แบรนด์ YES NO TWO 315 แห่ง แบรนด์ Tea Da Ye 59 แห่ง แบรนด์ All Coconut 27 แห่ง และแบรนด์ Cococean 24 แห่ง ตามลำดับ

ในบรรดาแบรนด์ผู้ผลิตมะพร้าวชั้นนำ พบว่ามีแบรนด์ที่น่าจับตามองคือ แบรนด์ YES NO TWO แบรนด์ Tea Da Ye และแบรนด์ All Coconut ซึ่งเพิ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 2020 แต่ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งสามแบรนด์ดังกล่าวได้เปิดตัวและจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำมะพร้าวมาก่อนลาเต้มะพร้าวของแบรนด์ Luckin Coffee ที่เพิ่งเปิดตัวและเริ่มจำหน่ายในปี ค.ศ. 2021 แสดงให้เห็นว่าก่อนที่ลาเต้มะพร้าวจากแบรนด์กาแฟต่างๆ จะได้รับความนิยมนั้น ในตลาดจีนก็มีการพัฒนาและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวสดมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

เมื่อพิจารณาด้านช่องทางการจำหน่ายของผลิตภัณฑ์มะพร้าว พบว่า มะพร้าวไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมสำหรับอุตสาหกรรมและร้านชารูปแบบใหม่เท่านั้น แต่ยังขยายความต้องการและความนิยมไปถึงอุตสาหกรรมและร้านกาแฟ รวมถึง เป็นเครื่องดื่มนมจากพืช ขนมขบเคี้ยว และเบเกอรีที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้นด้วย โดยเมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมและร้านกาแฟ พบว่าลาเต้มะพร้าวถือเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากในประเทศจีน แสดงให้เห็นได้จากหลายแบรนด์ต่างหันมาจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์ม Meituan ที่พบว่า ลาเต้มะพร้าวได้รับความนิยมแซงหน้ากาแฟลาเต้ที่ใส่นมปกติแล้ว และได้กลายเป็นกาแฟที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในเมืองขนาดใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กวางโจว ปักกิ่ง และเซินเจิ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบางแบรนด์ได้ใช้ประโยชน์จากกระแสความนิยมในลาเต้มะพร้าวและกระแสรักสุขภาพ ในการพัฒนาลาเต้มะพร้าวที่ปราศจากน้ำตาล ลาเต้มะพร้าวผสมมะนาว อเมริกาโน่มะพร้าวผสมมะนาว และน้ำมะพร้าวผสมมะนาว เป็นต้น

เจาะลึกโอกาสของอุตสาหกรรมมะพร้าวที่กำลังเนื้อหอมในตลาดจีน

ที่มา: Wechat Official ของแบรนด์ Seesaw

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวและเบเกอรีก็มีความต้องการใช้มะพร้าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลมะพร้าว มะพร้าวผง ขนมปังมะพร้าว ไอศกรีมมะพร้าว เค้กมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ของมะพร้าวอื่นๆ เช่น กะทิ น้ำมะพร้าวน้ำหอม หัวกะทิปราศจากน้ำตาล เป็นต้น แสดงให้เห็นว่ามะพร้าวเป็นผลไม้ที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ ดื่มแล้วให้ความสดชื่น และมีรสชาติที่สามารถเป็นส่วนประกอบ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด จึงทำให้มะพร้าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม

เจาะลึกโอกาสของอุตสาหกรรมมะพร้าวที่กำลังเนื้อหอมในตลาดจีน

ที่มา: Coconut Beat
  1. มะพร้าวผลักดันการเติบโตของแบรนด์ Luckin Coffee ในจีน

มีคำพูดที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของจีนว่า “ลาเต้มะพร้าว” ช่วยกอบกู้วิกฤตของแบรนด์ Luckin Coffee เนื่องจากเครื่องดื่มลาเต้มะพร้าวของ Luckin Coffee ได้ถูกจำหน่ายในตลาดจีนเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และมีปริมาณการขายสูงถึง 300 ล้านแก้ว จึงทำให้ “ลาเต้มะพร้าวของ Luckin Coffee” ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่เป็นนวัตกรรมแห่งปี ซึ่งก่อนหน้าที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ลาเต้มะพร้าวออกมานั้นพบว่าแบรนด์ Luckin Coffee กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตและปัญหาด้านการเงิน แต่อย่างไรก็ดี Luckin Coffee ก็ได้กอบกู้เครดิตของแบรนด์ และกลับมาเติบโตในอุตสาหกรรมกาแฟได้อย่างสวยงาม  โดยในปี ค.ศ. 2022 แบรนด์ Luckin Coffee มีผลประกอบการถึง 13,293 ล้านหยวน (66,465 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.9 (YoY) และในเดือนมิถุนายน 2023 แบรนด์ Luckin Coffee ก็มีร้านแบบออฟไลน์ทะลุถึง 10,000 แห่งทั่วประเทศจีน ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากลาเต้มะพร้าวที่ได้รับความนิยมอย่างมากของแบรนด์ Luckin Coffee เป็นส่วนสำคัญ

สำหรับ แบรนด์เครื่องดื่มมะพร้าวอีกแบรนด์หนึ่งอย่างแบรนด์ COCONUT PALM ในปี ค.ศ. 2014 พบว่ามีผลประกอบการคิดเป็นมูลค่า 4,450 ล้านหยวน (22,250 ล้านบาท) ขณะที่ในปี ค.ศ. 2019 มีผลประกอบการมูลค่า 4,329 ล้านหยวน (21,645 ล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2020 มีผลประกอบการมูลค่า 3,896 ล้านหยวน (1,948 ล้านบาท) และล่าสุดในปี ค.ศ. 2022 บริษัท COCONUT PALM มีผลประกอบการสูงถึง 4,600 ล้านหยวน (23,000 ล้านบาท) ทำให้แบรนด์ COCONUT PALM เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่สามารถเติบโตได้ด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าว

จากผลประกอบการและความสำเร็จของแบรนด์ Luckin Coffee และแบรนด์ COCONUT PALM แสดงให้เห็นว่าทั้งสองแบรนด์สามารถเจาะกลุ่มและเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวได้เป็นอย่างดี และปัจจัยที่ทั้งสองแบรนด์ให้ความสำคัญ สามารถสรุปได้ดังนี้

1) ผลิตภัณฑ์ใหม่ เนื่องจากลาเต้มะพร้าวของ Luckin Coffee และน้ำมะพร้าวบรรจุขวด หรือมีส่วนผสมใหม่ๆ ที่ทั้งสองแบรนด์นำเสนอ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในสายตาผู้บริโภค จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้เป็นอย่างดี

2) ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ลาเต้มะพร้าวถือเป็นรูปแบบของผลิตภัณฑ์แบบใหม่ และมีขอบเขตของตลาดแบบใหม่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านั้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น

3) ตลาดใหม่ เนื่องจากทั้งแบรนด์ Luckin Coffee และแบรนด์ COCONUT PALM ได้เปิดตัวลาเต้มะพร้าว พร้อมกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งถุงที่บรรจุ และที่จับแก้วกาแฟตามสไตล์ของตนเอง จึงสามารถเจาะตลาดผู้รักมะพร้าวซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ได้อย่างง่ายดาย โดยเมื่อเริ่มจำหน่ายเพียง 1 สัปดาห์ ก็สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 4.95 ล้านแก้วทั่วประเทศจีน

  1. อุปทานมะพร้าวไม่เพียงพอ ขณะที่อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงเวลาเพียง 2 – 3  ปีที่ผ่านมานี้ พบว่ามะพร้าวได้รับความนิยม มีช่องทางการจำหน่ายที่มีขนาดใหญ่ และได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการในการบริโภคในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีนเป็นอย่างมาก และมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตการพัฒนาของอุตสาหกรรมมะพร้าวจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาด้านการบริโภคในปัจจุบัน พบว่ามะพร้าวถูกนำไปใช้มากขึ้นในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชงสด และขนม นอกจากนี้ ก็ยังพบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมณฑลไห่หนาน ซึ่งในปี ค.ศ. 2017 มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 471,300 หมู่ (196,375 ไร่) ต่อมาในปีค.ศ. 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 544,800 หมู่ (227,000 ไร่) และคาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากอุตสาหกรรมมะพร้าวในจีนต้องเผชิญกับความท้าทายจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อุปทานในประเทศไม่เพียงพอ สอดคล้องกับรายงานคาดการณ์การลงทุนและสำรวจอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวจีน ปี ค.ศ. 2020 – 2025 ที่เปิดเผยว่า จีนมีความต้องการมะพร้าวถึง 2,600 ล้านลูกต่อปี แต่มณฑลไห่หนานสามารถผลิตมะพร้าวได้เพียง 250 ล้านลูกต่อปี ทำให้จีนมีความจำเป็นจึงต้องพึ่งพาการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะจากไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งส่งผลทำให้แบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารของจีนบางแบรนด์นิยมติดป้ายสินค้านำเข้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน และเพื่อตอบรับต่อกระแสความนิยมและการให้ความสำคัญต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ เช่น แบรนด์ YES NO TWO ที่ใช้มะพร้าวน้ำหอมของไทยในการจำหน่ายน้ำมะพร้าวสด และใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

เจาะลึกโอกาสของอุตสาหกรรมมะพร้าวที่กำลังเนื้อหอมในตลาดจีน

ที่มา: Yes No Two

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมมะพร้าวในตลาดจีน และการขาดแคลนวัตถุดิบทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมมะพร้าวจีนกลายเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการจีน ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Luckin Coffee ที่เคยประสบกับปัญหาการขาดแคลนอุปทานมะพร้าว ตอนที่ลาเต้มะพร้าวเริ่มเป็นที่นิยม แต่เนื่องจากไม่มีมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ ทำให้ลาเต้มะพร้าวขาดตลาดไประยะหนึ่ง ซึ่งก็ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจของผู้บริโภคที่เป็นมะพร้าวเลิฟเวอร์ ทำให้ผู้บริหารแบรนด์ Luckin Coffee ต้องถ่ายภาพปีนต้นมะพร้าวเพื่อเป็นการหยอกล้อและลดความตึงเครียดในสถานการณ์ดังกล่าวลง เป็นต้น ดังนั้น การขาดแคลนอุปทานมะพร้าวจึงถือเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการจีนต้องให้ความสำคัญ และวางแผนพัฒนากลยุทธ์เพื่อจะสร้างห่วงโซ่อุปทานมะพร้าวที่มั่นคง เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของมะพร้าวที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และยังคงมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในตลาดจีน

เจาะลึกโอกาสของอุตสาหกรรมมะพร้าวที่กำลังเนื้อหอมในตลาดจีน

ที่มา: Weibo ของแบรนด์ Luckin Coffee

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

อาหารและเครื่องดื่มรสชาติมะพร้าวกำลังได้ความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดจีน เช่น ชารูปแบบใหม่ กาแฟ เบเกอรี ไอศกรีม และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ประกอบกับผู้บริโภคชาวจีนก็มีความต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีความบริสุทธิ์อย่างมะพร้าว จึงทำให้มะพร้าวเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีนเป็นอย่างมาก ขณะที่จีนยังคงต้องเผชิญหน้ากับการขาดแคลนอุปทานวัตถุดิบมะพร้าว ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมมะพร้าว รวมถึงห่วงโซอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกมะพร้าวทั้งลูกเพื่อนำมาแปรรูปหรือรับประทานสด เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวบรรจุขวด ขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของมะพร้าว และไอศกรีมมะพร้าว เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดมะพร้าวกำลังเป็นตลาดเนื้อหอมจึงเป็นที่จับตามองของนักลงทุนจำนวนมากทำให้การแข่งขันนับวันยิ่งทวีความรุนแรง ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้ามาขยายตลาดส่งออกมะพร้าว และผลิตภัณฑ์มะพร้าวในตลาดจีนจึงควรพิจารณาเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มลูกค้า กำหนดกลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจน ศึกษาแนวโน้มตลาดพฤติกรรมการบริโภค เช่น กลุ่มผู้รักสุขภาพ กลุ่มที่ชื่นชอบสินค้าที่มีความคุ้มค่า กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ กลุ่มวัยรุ่นที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ และกลุ่มผู้สูงอายุที่รักความเป็นธรรมชาติ เป็นต้น รวมทั้ง ใช้กลยุทธ์ด้านราคาและการจัดโปรโมชัน รวมถึงลูกเล่น และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ในการแข่งขัน เนื่องจากมะพร้าวเป็นสินค้าที่ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณภาพและคุณประโยชน์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าจะสามารถดึงดูดความต้องการและความสนใจของผู้บริโภคชาวจีนได้มากที่สุดคือราคา บรรจุภัณฑ์ และความสะดวกในการบริโภค นอกจากนี้ การร่วมมือกับแบรนด์ท้องถิ่น หรือการประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ่านผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังของจีนก็ยังถือเป็นกลยุทธ์ที่ยังใช้ได้ดี และสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย ตลอดจน เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ไทย ซึ่งจะทำให้การขยายตลาดมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวในตลาดจีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดส่งออกมะพร้าวในจีนได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย

แหล่งที่มา: https://www.foodtalks.cn/news/46432

https://www.foodtalks.cn/news/46412

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai