ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission) แห่งสหภาพเศรษฐกิจกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายศุลกากรแห่งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Custom Code of EAEU) ซึ่งอาจจะมีผลทำให้มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 20% สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce) โดยแนวคิดนี้ได้ถูกเสนอโดยเบลารุสและได้รับการสนับสนุนจากคาซัคสถานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 โดยในชั้นนี้ ได้มีการเตรียมร่างแก้ไขประมวลกฎหมายศุลกากรแห่งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียในส่วนที่เกี่ยวข้องนี้ไว้ด้วยแล้ว
ในประเด็นนี้ Wildberries แพลตฟอร์มตลาดการค้าออนไลน์ชั้นนำในรัสเซีย ได้ระบุในหนังสือถึงกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ (Ministry of Economic Development) ของรัสเซียว่า แนวคิดการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 20% สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน จะส่งผลทำให้แพลตฟอร์มตลาดการค้าออนไลน์ต้องมีภาระผูกพันใหม่ในการคำนวณ การหัก ณ ที่จ่าย และการโอนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมของผู้ขายสินค้าออนไลน์จากประเทศที่สาม (ไม่รวมประเทศสมาชิก EAEU) ให้แก่หน่วยงานของรัสเซียที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ Wildberries ยังเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า แนวคิดการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ดังกล่าวอาจมีผลกระทบในทางลบ เช่น ส่งผลกระทบต่อผู้ขายออนไลน์จากต่างประเทศ เช่น จีน ซึ่งขณะนี้มีการจัดหาและส่งสินค้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับรัสเซียด้วย ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ดังกล่าว สินค้าออนไลน์ก็อาจจะขึ้นราคา และผู้บริโภคจะถูกบังคับให้ซื้อสินค้าด้วยราคาที่เพิ่มขึ้น 20% หรือ อาจเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคจะปฏิเสธที่จะซื้อสินค้าดังกล่าวไปเลย ในทางกลับกัน การไม่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฯน่าจะสามารถช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าภายในประเทศได้ ดังนั้น Wildberries จึงขอให้กระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ (Ministry of Economic Development) ป้องกันไม่ให้มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้
ในส่วน Ozon แพลตฟอร์มตลาดการค้าออนไลน์ชั้นนำในรัสเซียอีกรายหนึ่ง ได้คาดการณ์ว่า แนวคิดนี้อาจจะทำให้ตลาดการค้าข้ามพรมแดนหดตัวลงหลายเท่า โดยจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ นอกจากนี้ การกำหนดเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้สินค้าที่ซื้อเพื่อใช้ส่วนตัวจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น 20% หรืออาจทำให้ชาวรัสเซียหยุดซื้อสินค้าต่างชาติที่พวกเขาคุ้นเคยไปเลย หรืออาจต้องไปหาสินค้าดังกล่าวในตลาดสีเทา (grey market) ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าต่างชาติที่ได้รับความนิยมในรัสเซียแต่ไม่มีสินค้าในประเทศที่เทียบเคียงได้ หรือสินค้าต่างชาติที่ไม่มีผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในประเทศก็อาจจะหายไปจากตลาดรัสเซีย ทั้งนี้ Ozon ยังเห็นว่า สินค้าราคาถูกจากผู้ขายจากประเทศอื่นๆ เช่น จีน จะสามารถช่วยกระตุ้นให้ตลาดมีการแข่งขันด้านราคาที่ดีได้ ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เว็บไซต์ Ozon มีสินค้าจากผู้ขายต่างประเทศประมาณ 30,000 ราย โดยเป็นผู้ขายจากคาซัคสถาน เบลารุส จีน และ ตุรกี ซึ่งนับเป็นประมาณ 12% ของผู้ขายทั้งหมดในเว็บไซต์ Ozon
ในส่วนหน่วยงาน Public Consumer Initiative เห็นว่า ปัจจุบัน เนื่องจากความแตกต่างของภาระภาษี ผู้ขาย/ผู้ผลิตชาวรัสเซียอยู่ในสภาพที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ขาย/ผู้ผลิตสินค้าต่างประเทศซึ่งมีการจำหน่ายในตลาดออนไลน์ในรัสเซีย โดยสินค้าต่างประเทศสามารถขายออนไลน์ได้ในราคาที่น่าดึงดูดมากกว่า ดังนั้น แนวคิดการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน น่าจะช่วยยกระดับการแข่งขันและการสนับสนุนธุรกิจ ในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กลุ่มงานรัสเซีย (Russian Division of the International Committee for the Protection of Human Rights) เห็นว่า แนวคิดการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน โดยทั่วไปอาจจะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ในจำนวนเงินที่ไม่เกินกว่าเกณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ในรัสเซีย ไม่เกิน 1,000 ยูโร ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก นอกจากนี้ ในกรณีนิติบุคคล ประเทศสมาชิก EAEU บางส่วนก็มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าในกรณีนี้ในอัตรา 20% อยู่แล้ว
ในอนาคต หากการแก้ไขประมวลกฎหมายศุลกากรแห่งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 20% สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce) เป็นผลสำเร็จ โดยรัสเซียยอมรับนำมาใช้ ก็จะทำให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศหลายๆ ประเทศอาจส่งสินค้าเข้ามาขายแข่ง (ด้านราคา) ในตลาดรัสเซียได้ยากมากขึ้น เพราะสินค้าจากต่างประเทศดังกล่าวอาจต้องถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจนทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ในชั้นนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะทำการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรัสเซียจึงยังคงต้องจับตามองและติดตามพัฒนาการความคืบหน้าการแก้ไขประมวลกฎหมายศุลกากรแห่งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา:
– Customs dispute: foreign online sellers in Russia exposed to VAT; Authorities want to unify taxation in the EAEU, marketplaces ask not to do this (https://iz.ru/1543152/evgeniia-pertceva/tamozhennyi-spor-inostrannym-onlain-prodavtcam-v-rossii-zasvetil-nds)