เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของจีน ทำให้หลายพื้นที่ทางตอนเหนือต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ในขณะที่เมืองหลวงของจีนอย่างปักกิ่งมีอุณหภูมิสูงทะลุไปถึง 40 องศาเซลเซียสในบางวัน ทำให้ช่วงฤดูร้อนนี้ของจีนเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจฤดูร้อน (Summer Economy) ในหลายๆ พื้นที่ในช่วงเวลากลางคืน เช่น ตลาดนัดกลางคืน หมู่บ้านฤดูร้อน และบาร์บีคิวกลางคืน เป็นต้น นอกจากนี้ ความร้อนแรงของ Summer Economy ของจีนในปีนี้ ยังก่อให้เกิดอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของเสื้อกันแดด ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ สวนสนุกน้ำ และทัวร์หลบร้อน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการบริโภคและอุปสงค์ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปีนี้มาจากราคาเฉลี่ยของสินค้าที่ไม่สูงมากนัก และกระแสความนิยมสินค้าระดับไฮเอนด์ที่เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น เสื้อผ้ากันแดดราคา 1,000 หยวน (5,000 บาท) และเครื่องปรับอากาศราคา 3,000 หยวน (15,000 บาท) เป็นต้น

เมื่อพิจารณาเทรนด์เศรษฐกิจฤดูร้อน (Summer Economy) ในปีนี้ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยสามารถสรุปเทรนด์การบริโภคที่สำคัญได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้

1. ด้านอาหาร ปีนี้อาหารที่ร้อนแรงที่สุดในฤดูร้อนของจีน คือ บาร์บีคิวเมืองจือปั๋ว (Zibo)
ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลซานตง โดยพบว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน คำว่า จือปั๋ว (进淄) และบาร์บีคิวจือปั๋ว (淄博烧烤) เป็นคำยอดฮิตที่มีการค้นหาในโลกโซเชียลมีเดียของจีน ติดอันดับ Hot Search บนเว็บไซต์ Weibo และแพลตฟอร์ม Douyin (TikTok) เป็นต้น และนอกจากบาร์บีคิวจือปั๋วที่ได้รับความนิยมแล้วก็ยังมีบาร์บีคิวแพะหนิงเซี่ย บาร์บีคิวกวางตุ้ง บาร์บีคิวยูนนาน บาร์บีคิวเสฉวน บาร์บีคิวเหลียวหนิง ที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจมากเช่นกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ ที่นิยมรับประทานในช่วงกลางคืนแล้ว พบว่าบาร์บีคิวมีลักษณะเด่นคือ มีกลิ่นและรสชาติที่กระตุ้นความหิวและความต้องการ ในขณะเดียวกันบาร์บีคิวยังเป็นอาหารที่สามารถกินไปคุยไปได้อย่างเพลิดเพลิน แต่อาหารอย่างบาร์บีคิวก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากชาวจีนมักจะนิยมรับประทานในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่อากาศเย็นสบายๆ มากกว่า และพอถึงช่วงหน้าร้อนจะค่อยๆ ลดระดับความนิยมลงเรื่อยๆ โดยที่ผ่านมามีการสำรวจพบว่าในปีนี้มีร้านบาร์บีคิวเปิดใหม่ในเมืองจือปั๋วเพิ่มขึ้น 829 แห่ง หรือคิดเป็นเกือบ 2 เท่าของปีที่แล้ว และต่อมาหลังจากเดือนเมษายนก็เริ่มชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ดี บาร์บีคิวจือปั๋วก็ยังถือว่าเป็นอาหารที่ยังคงได้รับความนิยมในหน้าร้อนปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านๆ มา

เกาะติดเทรนด์เศรษฐกิจฤดูร้อน (Summer Economy) ของจีนในปีนี้

ที่มาของภาพ: งานเลี้ยงบาร์บีคิวเมืองจือปั๋ว ถ่ายภาพโดย สคต. ณ เมืองชิงต่าว

นอกจาก บาร์บีคิวแล้ว ก็ยังมีอาหารประเภทกุ้งเครฟิชที่ได้รับความนิยมมากเช่นกันในหลายพื้นที่ของประเทศจีน ส่วนเครื่องดื่มที่นิยมดื่มคู่กับบาร์บีคิวและกุ้งเครฟิชต้องยกให้กับเบียร์ ที่พบว่ามีการบริโภคกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เบียร์ไท่ซานมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่เบียร์ไท่ซานที่ได้รับความนิยม ราคาหุ้นบริษัทเบียร์ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น CR Beer, Tsingtao Beer, Chongqing Beer, Yanjing Beer, PEARL RIVER Beer โดยในที่นี้บริษัท Tsingtao Beer และ Yanjing Beer เป็นสองบริษัทที่มีราคาหุ้นสุงสุดเป็นประวัติการณ์ในช้วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ปริมาณการผลิตเบียร์ของบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการผลิตเหล้าขาวของบริษัทขนาดใหญ่ลดลงร้อยละ 19 (YoY) ไวน์องุ่นลดลงร้อยละ 5.9 (YoY) แต่อย่างไรก็ดี ในภาพรวมก็มีการคาดการณ์ว่าปีนี้อุตสาหกรรมเบียร์ของจีนจะมีผลประกอบการที่ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักๆ มาจากการจัดงานเทศกาลเบียร์ประจำปี เช่น เทศกาลเบียร์เมืองฉือเจียจวง ชิงต่าว ฉงชิ่ง อู่ฮั่น และปักกิ่ง เป็นต้น

2. ด้านเครื่องดื่ม พบว่าเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากในช่วงฤดูร้อนนี้ ได้แก่ ชารูปแบบใหม่ หรือชาที่มีส่วนผสมของผลไม้เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังพบว่าแบรนด์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยปีนี้เทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ การใช้วิธี Co-Brand ระหว่างแบรนด์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แบรนด์ Heytea ร่วมมือกับ FENDI เช่นเดียวกับแบรนด์กาแฟอย่าง Luckin Coffee ที่ได้ร่วมมือกับการ์ตูนโดราเอม่อน และวงดนตรีบอยแบรนด์ Wutiaoren (อู่เที่ยวเหริน) โดยการผลิตแก้วกาแฟที่มีเนื้อเพลงแปลงของวงดนตรีดังกล่าว และมีภาพประกอบเป็นชายหาด กระดานโต้คลื่น เป็นต้น เช่นเดียวกับแบรนด์ M Stand Coffee ก็ได้ร่วมมือกับ Levi’s ในการเปิดตัวกาแฟชุดลิมิทเต็ด พร้อมแก้วกาแฟลายกางเกงยีนส์ เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวให้มากขึ้น

เกาะติดเทรนด์เศรษฐกิจฤดูร้อน (Summer Economy) ของจีนในปีนี้

ที่มาของภาพ: Weibo@M Stand

นอกจากนี้ กาแฟ Cotti ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทีมฟุตบอลประเทศอาร์เจนติน่า ก็ยังคว้าโอกาสท่ามกลางความนิยมของกาแฟและการเดินทางมาเยือนประเทศจีนของซูเปอร์สตาร์ลูกหนังอย่างเมสซี่ ด้วยสโลแกน “ทีมอาร์เจนติน่าเชิญคุณดื่มกาแฟ Cotti เพียง 1 หยวน” (5 บาท) โดยประชาสัมพันธ์ผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ ที่สามารถมองเห็นได้ทุกที่ในจีนเช่นกัน ในขณะที่ Luckin Coffee ก็ยังคงมีแคมเปญลดราคาออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 5 มิถุนายน Luckin Coffee ได้ประกาศครบรอบการมีร้านทั่วจีนถึง 10,000 แห่ง พร้อมกับจัดโปรโมชั่น กาแฟราคาแก้วละ 9.9 หยวน (49.50 บาท) ตลอด 1 สัปดาห์เต็ม จากนั้นก็มีแบรนด์กาแฟจำนวนมากออกมาแข่งขันเล่นสงครามราคาอย่างต่อเนื่อง อาทิ COCO ประกาศลดราคากาแฟอเมริกาโน่เหลือ 3.9 หยวน (19.50 บาท) ในร้านกาแฟของ COCO ทั่วประเทศ และลาเต้มะพร้าวลดเหลือ 8.9 หยวน (44.50 บาท) ร้านกาแฟ OMA Coffee ในนครเซี่ยงไฮ้ ก็ได้ทำการปรับลดราคากาแฟอเมริกาโน่เหลือ 6 หยวน (30 บาท) ลาเต้ คาปูชิโน่ Dirty ราคาเฉลี่ย 9 หยวน (45 บาท) เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า ช่วงฤดูร้อนคือช่วงไฮซีซั่นของกาแฟ ซึ่งมีทั้งผู้บริโภครายใหม่ที่ชื่นชอบการเช็คอินและลิ้มรสกาแฟใหม่ๆ และผู้บริโภคหลักที่เป็นคนทำงานออฟฟิศที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ยังคงขายดีและได้รับความนิยมตลอดช่วงฤดูร้อนนี้

3. ด้านผลิตภัณฑ์ป้องกันแดด เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือผลิตภัณฑ์ปกป้องดูแลร่างกายจากแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นครีมกันแดดหรือเสื้อผ้ากันแดด ซึ่งปัจจุบันพบว่าตลาดผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดในจีนส่วนใหญ่มีผู้นำตลาดคือแบรนด์ Shiseido และ L’ORÉAL โดยในปี ค.ศ. 2022 ทั้งสองแบรนด์มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.8 และร้อยละ 9.9 ตามลำดับ ขณะที่ ถึงแม้ว่าตลาดจีนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 แต่อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ของผลิตภัณฑ์ปกป้องดูแลร่างกายจากแสงแดดกลับสูง โดยมีอัตราการเติบโตในช่วงสามปีเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.32 ต่อปี เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการปกป้องร่างกายจากแสงแดดเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับผลการสำรวจความถี่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดที่พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดเป็นประจำร้อยละ 58 เป็นพนักงานออฟฟิศ และในกลุ่มพนักงานออฟฟิศเหล่านี้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดทุกวันมากถึงร้อยละ 71 ในขณะที่ร้อยละ 78 มีพฤติกรรมในการใช้ซ้ำระหว่างวัน

นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้า Intime ยังเปิดเผยว่า ยอดขายเสื้อกันแดดเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 ขณะที่หมวกกันแดด ร่มกันแดด มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 และนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบันห้างได้ทำการขายหมวกกับร่มกันแดดไปแล้วเกือบ 50,000 ชิ้น เช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม JD.Com ที่พบว่าตั้งแต่วันที่ 12 – 25 มิถุนายน ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันแสงแดดเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 (MoM) ขณะที่เว็บไซต์ smzdm.com ก็มียอดขายเสื้อกันแดดในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.7 (YoY) ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดดังกล่าวก็สอดคล้องกับรายงานการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายป้องกันแดดของจีนปี ค.ศ. 2023 – 2029 ที่รายงานว่าตลาดเครื่องแต่งกายป้องกันแสงแดดของจีน ปี ค.ศ. 2016 มีมูลค่า 45,900 ล้านหยวน (229,500 ล้านบาท) ขณะที่ในปี ค.ศ. 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 67,500 ล้านหยวน (337,500 ล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 5.96 และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2023 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 74,200 ล้านหยวน (371,000 ล้านบาท) ซึ่งจากการที่ตลาดมีอัตราการเติบโตที่สดใสและต่อเนื่อง จึงทำให้เป็นที่จับตามองของนักลงทุน และมีผู้ประกอบการจีนจำนวนมากใช้ลูกเล่นในการโฆษณาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตเครื่องแต่งกายป้องกันแสดงแดด และนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เสื้อกันแดดในตลาดจีนให้มีราคาสูงขึ้น ยกตัวอย่างจากแพลตฟอร์ม Tmall ที่มีเสื้อกันแดดแบรนด์ Beneunder และแบรนด์ Bananain จำหน่าย โดยมีราคาอยู่ระหว่าง 400 – 500 หยวนต่อตัว (2,000 – 2,500 บาท) เสื้อกันแดดของแบรนด์ Bosideng มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 1,059 หยวน (5,295 บาท) ขณะที่ เสื้อกันแดดผู้หญิงของแบรนด์ VERSACE มีราคาอยู่ที่ 10,317 หยวน (51,585 บาท) เป็นต้น

เกาะติดเทรนด์เศรษฐกิจฤดูร้อน (Summer Economy) ของจีนในปีนี้

ที่มาของภาพ: เสื้อกันแดดยี่ห้อ VERSACE จากแอปพลิเคชัน JD.com

4. เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยในช่วงเทศกาล 618 ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน ซึ่งก็ถือเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูร้อนของจีนแล้ว พบว่าเครื่องปรับอากาศแบรนด์ MIDEA มียอดขายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ขณะที่ในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน เครื่องปรับอากาศแบรนด์ GREE มียอดขายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่าตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน แพลตฟอร์ม com มียอดขายเครื่องปรับอากาศและเครื่องปรับอากาศส่วนกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 และร้อยละ 95 ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณายอดขายของเครื่องปรับอากาศในช่วงปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา ก็พบว่ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศของแบรนด์ Haier, GREE และ MIDEA เติบโตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยปีที่ผ่านแบรนด์ทั้งสามมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.74, 2.39 และ 6.17 ตามลำดับ รวมเป็นมูลค่ากว่า 320,000 ล้านหยวน (1.6 ล้านล้านบาท)

นอกจากเครื่องปรับอากาศแล้ว ในฤดูร้อนซึ่งอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวกว่าปีที่ผ่านมา ก็ยังทำให้ยอดขายของอุปกรณ์ดับร้อนอย่างพัดลมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในเดือนพฤษภาคมปีนี้ปริมาณการขายพัดลมผ่านช่องทางออฟไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5 (YoY) และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.39 (YoY) ขณะที่การขายผ่านช่องทางออนไลน์มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.42 (YoY) และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.81 (YoY) และเมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศ พบว่าในเดือนพฤษภาคม 2023 จีนส่งออกพัดลมมากถึง 51.46 ล้านเครื่อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 960 ล้านเหรียญสหรัฐ (33,120 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 (YoY) ส่วนอุปกรณ์ทำความเย็นอื่นๆ เช่น ตู้แช่แข็ง ตู้เย็น ก็มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเว็บไซต์ Suning.com เปิดเผยข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2023 พบว่า ตู้แช่แข็งของ FRESTECH มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 258 (YoY) ขณะที่ ตู้เย็นแบบประตูเปิดของแบรนด์ Haierมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 215 (YoY) เช่นเดียวกับ บาร์น้ำแข็ง เครื่องทำไอศกรีม ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ทำความเย็นที่เป็นแนวโน้มใหม่ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค พบว่ามียอดค้าปลีกผ่านทางเว็บไซต์ Suning.com ของบาร์น้ำแข็งแบรนด์ Meiling มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 411 (YoY) และเครื่องทำไอศกรีมของRoyalstar เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 (YoY) แสดงให้เห็นว่าน้ำแข็ง ไอศกรีม และเครื่องดื่มที่มีลักษณะเป็นแท่งน้ำแข็งกำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการสำหรับผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคที่ต้องการอุปกรณ์ที่จัดเก็บความเย็นและจัดเก็บความสดที่เข้ากับไลฟ์สไตล์และภูมิอากาศที่ร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อพิจารณาความต้องการของการบริโภคภายในประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ของจีนพบว่า สำหรับไตรมาสแรกการบริโภคเริ่มต้นเติบโตได้เป็นอย่างดี และเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาสที่สอง แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจฤดูร้อนในปัจจุบันนี้ก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการบริโภคที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกิดขึ้นใหม่บางชนิดเริ่มเป็นที่ต้องการอย่างมาก ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้รายงานยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วประเทศจีนในเดือนมิถุนายน 2023 พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 (YoY) โดยมียอดค้าปลีกเสื้อผ้า รองเท้า หมวด สิ่งทอถัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 (YoY) และยอดค้าปลีกเครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์ภาพและเสียง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 (YoY) นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มกลับมาบริโภคสินค้าที่มีราคาไม่แพงและมีความคุ้มค่าเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่าการบริโภคสินค้าและบริการที่มีราคาสูงอย่างไม่มีเหตุในช่วงเวลาที่ผ่านๆ มา กำลังเริ่มลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทั่วไปของการบริโภคภายในประเทศจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงและอาจจะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2023 นี้ ตลาดการบริโภคของจีนมีการฟื้นตัวที่ดี แม้จะชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคในช่วงหน้าร้อนนี้กำลังขยายตัวและเริ่มแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการบริโภคที่หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่ไทยมีศักยภาพเป็นอย่างมาก และสามารถผลิตอาหารและเครื่องดื่มหลายประเภทที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้เป็นอย่างดี เช่น ผลไม้สด อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ 100% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี พบว่าการบริโภคสินค้าที่มีราคาแพงของผู้บริโภคชาวจีนเริ่มชะลอตัวลง และถูกแทนที่ด้วยการบริโภคที่สมเหตุสมผล และคำนึงถึงความคุ้มค่าคุ้มราคามากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีความต้องการขยายตลาดสินค้าส่งออกประเภทอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาสู่ตลาดจีนในช่วงฤดูร้อนในปีนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญและพิจารณากลยุทธ์ด้านราคาเป็นอันดับแรก ควบคู่ไปกับการนำเสนอสินค้าที่ดีมีคุณภาพและคุ้มค่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังอาจจะต้องแสวงหาความร่วมมือในลักษณะการทำ Co-Brand เพิ่มมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นและวัยทำงานที่ชอบความทันสมัยและตื่นเต้นกับผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ รวมทั้ง ต้องอาศัยช่องทางการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นชาวจีน และชาวไทยที่มีชื่อเสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน ก็จะยิ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพ มีความคุ้มราคา และมีความน่าเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนมีความคล่องตัว และสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา:  https://finance.sina.com.cn/tech/csj/2023-07-11/doc-imzaicqp0925062.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai