ข่าวประจำสัปดาห์ สคต. ณ เมืองฮ่องกง ระหว่าง 10 – 16 กรกฎาคม 2566

 

สำนักข่าวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฮ่องกง South China Morning Post ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ได้พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยที่ได้กลายเป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจอีกครั้ง หลังความโด่งดังของลลิษา มโนบาล หรือลิซ่า BLACKPINK ศิลปินสายเลือดไทยที่ประสบความสำเร็จผ่านกลไลการส่งออกวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีใต้

 

พลัง Soft Power ไทยโด่งดังดันเศรษฐกิจไทยเติบโต

 

ซอฟต์พาวเวอร์ คือ การใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติ ซึ่งทำให้เกิดการยอมรับในอุดมการณ์ของชาติที่ต้องการเผยแพร่อำนาจ โดยควรจะเป็นไปอย่างแนบเนียน เนื่องจากแนวโน้มการแข่งขันซอฟต์พาวเวอร์ในปัจจุบันวัดกันที่ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ความโดดเด่นทางอัตลักลักษณ์

 

ตัวอย่างซอฟท์พาวเวอร์ชุดนักเรียนของไทย เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างนักท่องเที่ยวชาวจีนกับเครื่องแบบนักเรียนของไทยซึ่งมาจากหนังแนวโรแมนติกคอมเมดี้ของไทยเรื่อง A Little Thing Called Love ในปี 2010 (ซึ่งบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปและนำกลับมาทำใหม่) ได้กลายเป็นกระแสที่กล่าวถึงในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Bilibili

 

นอกจากนี้ยังมีนักร้องชาวจีน Ju Jingyi ที่ช่วยให้เกิดกระแสไวรัลเพิ่มขึ้นไปอีก โดยการสวมเครื่องแบบนักเรียนไทยในราคา 8-10 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ ในภาพยนตร์เมื่อต้นปีนี้ และได้โพสต์รูปดังกล่าวลงในเพจดัง Weibo

 

ตั้งแต่นั้นมา “ร้านชุดนักเรียนศรีพรรณ” และร้านใกล้เคียงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมากรุงเทพ ฯ เพื่อซื้อชุดนักเรียนพร้อมปักชื่อตนเองเป็นภาษาไทยแล้วโพสท่าถ่ายรูป ซึ่งปัจจุบันเทรนด์นี้ได้กลายเป็นหนึ่งใน List ที่ต้องทำของผู้ทรงอิทธิพลชาวจีน (Chinese Influence) จำนวนมาก ดังตัวอย่างรูปประกอบด้านล่าง

 

พลัง Soft Power ไทยโด่งดังดันเศรษฐกิจไทยเติบโต

 

ทั้งนี้เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนรู้สึกว่าการเข้าถึงวัฒนธรรมไทยไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง การแสดงคอนเสิร์ต ง่ายกว่าการเข้าถึงกลุ่ม K-POP ของเกาหลีใต้ ทั้งในเรื่องการซื้อตั๋ว ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในประเทศไทย และยังยอมรับถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรของคนไทยโดยผ่านภาพยนตร์ของไทย

 

จะเห็นได้ว่าสื่อไทยได้พยายามหยิบยกกระแสชุดนักเรียนขึ้นมาเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของ “T-Wave” ของเพลง ไอดอล ภาพยนตร์และซีรีส์ทางทีวีทั้งเรื่องใหม่ และที่นำกลับมาทำใหม่จำนวนมากในประเทศไทย เห็นได้จากแบรนด์ไทยที่กำลังจรัสแสงบนแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของจีน อาทิ Viu, IQiyi และ Bilibili เช่น ภาพยนตร์ซีรีส์ Cutie Pie 2022 และ KinnPorsche

 

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นจาก สคต.

สคต. ฮ่องกงภายใต้กระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนผู้ประกอบการจากไทยโดยใช้ซอฟท์พาวเวอร์ผ่านสายงานภาพยนตร์ไทย อันจะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 สคต. ณ เมืองฮ่องกงได้เข้าร่วมงาน FILMART HK 2023 โดยมีการจัดบูธ Thailand Pavilion ภายใต้แนวคิด “Thailand where films come alive” ซึ่งผลของการจัดงานมีการเจรจาการค้าระหว่างนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้สร้าง ผู้กำกับ และผู้ซื้อจากต่างชาติ ที่สนใจเข้าร่วมเจรจากับผู้ประกอบการไทยจำนวน 21 บริษัท รวมจำนวนกว่า 527 นัดหมาย ซึ่งผลการเจรจาการค้าสำคัญที่เกิดขึ้นภายในงาน อาทิ บริษัท เฮโล โปรดักส์ชั่น จำกัด ได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากประเทศจีน เพื่อรับผลิตซีรีส์ จำนวน 2 ภาค ภาคละ 10 ตอน และบริษัท เรติน่า ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด ได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากประเทศอังกฤษ ที่ต้องการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

 

สำหรับงาน FILMART ปีนี้ สามารถดึงดูดผู้ซื้อเข้าร่วมงานกว่า 7,300 ราย มีบริษัทด้านภาพยนตร์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องร่วมออกคูหามากกว่า 700 บริษัท จาก 30 ประเทศทั่วโลก นับเป็นสถิติใหม่ที่มีบริษัทจากจีนเข้าร่วมงานมากกว่า 330 บริษัท และมีการเปิดตัวโปรเจคใหม่มากมายโดยเฉพาะภาพยนตร์ฮ่องกงซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าปีที่ผ่านมามีผลงานดี ๆ ออกมาจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเอเชียรวมทั้งของประเทศไทยจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง

 

พลัง Soft Power ไทยโด่งดังดันเศรษฐกิจไทยเติบโต

 

ผู้ประกอบการทางด้านสาขาภาพยนตร์ หรือสินค้าอาหารที่มีไอเดียสร้างสรรผ่านวัฒนธรรม อาทิ ไอศครีมแท่งรูปแหล่งท่องเที่ยวของไทย ที่สนใจส่งออกสินค้ามาฮ่องกง สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง หรือสามารถติดต่อได้ที่อีเมล์ thaicomm@netvigator.com

 

แหล่งข้อมูล : – หนังสือพิมพ์ SCMP ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

thThai