เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นาย Mark Rutte นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ได้ยื่นสาส์นขอรับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชาธิบดี Willem-Alexander แห่งเนเธอร์แลนด์ ในการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์และคณะรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ทั้งคณะ โดยในสาส์นระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ในเรื่องมาตรการเกี่ยวกับผู้อพยพ ดังนั้น จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตในการลาออกจากตำแหน่ง และต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 นาย Mark Rutte ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดี Willem-Alexander ณ พระราชวัง Huis ten Bosch เพื่อถวายคำอธิบายแก่สาเหตุของการลาออกดังกล่าว
ประเด็นเรื่องการรับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยเข้ามายังเนเธอร์แลนด์เป็นประเด็นที่ถกเถียงมากขึ้นในรัฐสภาของเนเธอร์แลนด์ภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งและสงครามในยูเครน โดยในปี 2565 มีจำนวนผู้ลี้ภัยเข้ามายังเนเธอร์แลนด์ทั้งหมด 47,991 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2564 ที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด 36,620 คน ส่งผลให้เกิดปัญหาที่ศูนย์รับผู้ลี้ภัย บางศูนย์รับผู้ลี้ภัยมีปัญหาด้านสภาพความเป็นอยู่ที่แย่มาก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 มีกรณีเด็กทารกเสียชีวิตในอาคารศูนย์กีฬาในเมือง Ter Apel ที่มีการปรับสภาพศูนย์กีฬาให้เป็นศูนย์รับผู้ลี้ภัยฉุกเฉิน เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ผู้ลี้ภัยต้องนอนบนพื้นนอกศูนย์ ไม่ได้รับน้ำและอาหารที่เพียงพอ และไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ หลายกรณีที่เทศบาลต่างๆ และชุมชนชาวเนเธอร์แลนด์ เลือกรับผู้ลี้ภัยที่มาจากยูเครน แต่ปฏิเสธที่จะรับผู้ลี้ภัยจากประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซีเรีย ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ประชาชนเนเธอร์แลนด์ไม่พอใจรัฐบาลและเกิดความตึงเครียดในชุมชน
เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้รายงานต่อรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ว่า แม้ว่าจำนวนผู้ลี้ภัยจากยูเครนจะได้ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี แต่ละสัปดาห์ยังคงมีผู้ลี้ภัยจากยูเครนเข้ามายังเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวนสูงถึงประมาณ 580 คน ดังนั้น ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ (ประกอบด้วย 4 พรรคการเมือง) จึงได้พิจารณาออกมาตรการร่วมกันในการรับผู้ลี้ภัยมายังเนเธอร์แลนด์ภายใต้ระบบ Dual Status Reason โดยแบ่งออกเป็นประเภทที่ 1 การลี้ภัยบนสาเหตุของความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง และประเภทที่ 2 การลี้ภัยบนสาเหตุของสงครามการสู้รบ
และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Mark Rutte มีท่าทีที่ค่อนข้างแข็งกร้าวมากขึ้นในการควบคุมการรับผู้ลี้ภัยมายังเนเธอร์แลนด์ โดยต้องการที่จะดำเนินการตามนโยบายของ People’s Party for Freedom and Democracy (VVD) ที่มีอุดมการณ์ไปทางCenter-Right ซึ่งนาย Mark Rutte เป็นหัวหน้าพรรคและได้รับการกดดันจากสมาชิกพรรคVVD ในการมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่คาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนสูงถึง 70,000 คน โดยจำกัดการเปิดรับญาติของผู้อพยพ (Family Reunion) จากสถานการณ์สงครามอยู่ที่ไม่เกินเดือนละ 200 คน และให้ระยะเวลาสำหรับกระบวนการพิจารณาการรับญาติอยู่ที่ 2 ปี ทั้งนี้ พรรค VVD ได้กดดันให้รัฐบาล Rutte IV ออกนโยบายที่ชัดเจนภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ก่อนฤดูกาลพักร้อนของรัฐสภาเนเธอร์แลนด์
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ได้ประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค ได้แก่ พรรค Democrats (D66) พรรค Christian Democratic Appeal (CDA) และพรรค Christian Union (CU) โดยการประชุมดำเนินไปถึงเวลาตี 2 ของอีกวัน เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถมีท่าทีร่วมกันได้ในมาตรการ Family Reunion โดยพรรค VVD และพรรค CDA มีท่าทีร่วมกันคือ ประสงค์จะจำกัดจำนวนญาติของผู้อพยพ ในขณะที่พรรค CU และพรรค D66 ไม่เห็นด้วย โดยพรรค CU เป็นพรรคที่เคร่งครัดต่อค่านิยมเรื่องครอบครัวเป็นอย่างมาก และเห็นว่าไม่ควรจำกัดจำนวนญาติของผู้อพยพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แจ้งในที่ประชุมว่าพร้อมที่จะให้คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถหาท่าทีร่วมกันได้ และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์จึงได้ตัดสินใจขอรับพระบรมราชานุญาตในการลาออกของคณะรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
ก่อนการประกาศลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมีความเห็นว่า นายกรัฐมนตรี Rutte น่าจะเพียงขู่ว่าจะลาออก แต่ไม่น่าจะลาออกจริง เพราะมีความเสี่ยงที่พรรค VVD จะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกในสมัยหน้า เนื่องจากนาง Caroline van der Plan หัวหน้าพรรค BBB (Farmer-Citizen Movement) ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับจังหวัดเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ได้ออกมากล่าวไว้ว่า พรรค BBB จะไม่ร่วมกับ VVD ของนาย Rutte ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงเห็นว่านาย Rutte ไม่น่าจะรวบรวมเสียง สส. เพื่อจัดตั้งรัฐบาล Rutte V ได้ในสมัยหน้า ดังนั้น การประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่ค่อนข้างหนาแน่นต่อพื้นที่ โดยมีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับที่ 7 ในสหภาพยุโรป ประชาชนเนเธอร์แลนด์ ซึ่งรวมถึงนักเรียนต่างชาติและนักเรียนไทยด้วย ต้องประสบกับปัญหาการหาบ้านพักหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ประชาชนเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรี Rutte จะคาดการณ์ว่าประชาชนเนเธอร์แลนด์จะลงคะแนนเสียงต่อพรรคที่แสดงนโยบายอนุรักษ์นิยมต่อการรับผู้อพยพ และมีความเป็นไปได้ที่พรรค VVD จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในสมัยหน้าเป็นสมัยที่ 5 (Rutte V) ซึ่งเนเธอร์แลนด์ไม่มีกฎหมายจำกัดการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยบุคคลคนเดียวกัน
นาย Mark Rutte เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมา 4 สมัยตั้งแต่ปี 2553 โดยเป็นผู้นำประเทศในสหภาพยุโรปที่ครองตำแหน่งเกือบยาวนานที่สุด เป็นรองเพียงนาย Viktor Orban นายกรัฐมนตรีฮังการี จนได้รับฉายาว่า “Teflon Mark” เนื่องจากผ่านวิกฤตการเมืองมามากมายแต่ก็ยังสามารถครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปของเนเธอร์แลนด์ คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก