กลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของเยอรมันกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะบริษัทผจากจีนเตรียมรุกบุกตลาดเยอรมันในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากสมาคมอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเยอรมัน (VDB – Verband der Deutschen Biokraftstoffindustrie) ซึ่งนาย Elmar Baumann ผู้บริหารของ VDB ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ขณะนี้สมาชิกของ VDB เริ่มกังวลและยังมองไม่เห็นทางออกใดๆ เพราะกลัวว่าจะต้องปิดตัวไปตาม ๆ กันในที่สุด” ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การผลิตไบโอดีเซลของเยอรมนีเริ่มชะงักงันอย่างกะทันหัน โดยนาย Baumann ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดก็ตามที่เกี่ยวข้องยังไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ ในที่สุดผู้ผลิตไบโอดีเซลของเยอรมนีจะต้องเตรียมปิดกิจการลง” และเมื่อกล่าวถึง VDB ต้องกล่าวได้ว่า ถือเป็นตัวแทนของผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากมวลชีวภาพ อาทิ ผักกาดก้านขาว ที่เกิดขึ้นหลังจากที่นำผักกาดก้านขาวมากลั่นเอาน้ำมันไปเป็นน้ำมันหุงต้มเรียบร้อยแล้ว หรือแม้แต่เศษฟาง เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในเยอรมนีมีการจ้างงานรวมกันกว่า 20,000 ตำแหน่ง และมียอดจำหน่ายรวมกันสูงถึง 6.5 พันล้านต่อปี
ขณะนี้ พบว่ามีสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาตีตลาดเยอรมัน เพราะเป็นตลาดแห่งนี้มีความน่าสนใจซึ่งเป็นผลมาจากการที่ในกฎหมายของเยอรมันมีการระบุว่า ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมีโควตาค่าการสร้างแก๊สเรือนกระจกที่จะต้องรักษา ซึ่งค่าดังกล่าวจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีจนถึงปี 2030 จาก 7% เป็น 25% และผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถที่จะรักษาค่าดังกล่าวไม่ให้เกินอัตราที่ระบุไว้ได้หลาย ๆ วิธีด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การนำเชื้อเพลิงชีวภาพเข้ามาผสมนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ได้มีการประเมินเชื้อเพลิงชีวภาพแตกต่างกันออกไป โดยกฎหมายยังได้ระบุไว้ว่า เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันผักกาดก้านขาวจะสามารถนำมาหักลบค่าการสร้างแก๊สเรือนกระจกได้ในอัตรา 1 ต่อ 1 ส่วน ในขณะที่ เชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้จากเศษวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างเช่น เศษของน้ำมันผักกาดก้านขาวจะสามารถนำมาหักลบค่าการสร้างแก๊สเรือนกระจกได้ในอัตรา 1 ต่อ 2 ส่วน ซึ่งเรื่องนี้เองได้ทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากเศษวัตถุดิบกลายเป็นเชื้อเพลิงที่น่าสนใจขึ้นในพริบตา กล่าวคือ ไบโอดีเซลที่นำเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากเศษวัตถุดิบมาผสมจะสามารถนำมาหักค่าการสร้างแก๊สเรือนกระจกได้สูงกว่าไบโอดีเซลที่ใช้แหล่งเชื้อเพลิงอื่นมาผสมนั้นเอง
จากประเด็นการได้ประโยชน์เป็นสองเท่าข้างต้น ทำให้เกิดการไหลเข้ามาของเชื้อเพลิงชีวภาพจากจีนเข้ามาตีตลาดเยอรมัน ซึ่งจากรายงานของสมาคมฯ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายนของปีนี้ เยอรมันนำเข้าเชื้อเพลิงชีวภาพจากจีนแล้วกว่า 674,000 ตัน และหากคำนวณเป็นรายปีก็จะสามารถรักษาอัตราโควต้าที่ภาครัฐระบุได้ โดยในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามีการนำเข้าเพียงแค่ 324,000 ตันเท่านั้น กลุ่มผู้ผลิตในเยอรมันได้ตั้งข้อสังเกตุว่า เชื้อเพลิงชีวภาพของจีนมีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน และเป็นไปได้หรือไม่ ที่ในระยะเวลาอันสั้นนี้จะสามารถสร้างโรงงานจนสามารถผลิตแสะส่งออกสินค้าดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เพราะโรงงานและกระบวนการที่จะใช้เศษพืชมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นมีความซับซ้อนและมีราคาสูงมาก นอกจากนี้ เป็นไปได้หรือ ที่จีนจะมีวัตถุดิบที่เป็นเศษพืชมากมากขนาดจะนำมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพได้มากขนาดนี้
ด้านองค์การสาธารณประโยชน์ (NGO) กรีนพีซ (Greenpeace) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ไม่เชื่อมั่นในเอกสารยืนยันด้านความยั่งยืนของจีน โดยนาย Matthias Lambrecht จาก Greenpeace กล่าวว่า “เราไม่ค่อยเชื่อใจกับการมอบใบรับรองในด้านดังกล่าวมากนัก เพราะเมื่อพิจารณาระบบแล้ว ดูเหมือนว่าจะสามารถโกงได้ง่าย” ซึ่งระบบดังกล่าวไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเองโดยอัตโนมัติ แต่จะยึดหลักการว่า ผู้ผลิตจะต้องแจ้งสถานภาพด้วยตัวเองก่อน ซึ่งเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตจะให้ความเท็จ ซึ่งนาย Lambrecht ได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นเป็นจำนวนมาก ที่ผู้ผลิตในหลายประเทศปลอมแปลงหลักฐานต่าง ๆ ขึ้นมา” ซึ่งการที่สหภาพยุโรป (EU) สร้างข้อกำหนดที่ทำให้มีความต้องการเชื้อเพลิงทางเลือกจำนวนมหาศาลขึ้นมา จนทำให้ตลาดสินค้าเหล่านี้มีมูลค่าสูง สินค้ากลายเป็นส่งที่ต้องการเป็นพิเศษ ทำให้คนเห็นโอกาสและต้องการที่จะช่อโกงหรือหาผลประโยชน์จากข้อกำหนดดังกล่าว โดยนาย Lambrecht กล่าวว่า “จริง ๆ ก็เป็นเรื่องตลกและดูแปลก ๆ ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะนำเข้าเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากเศษวัตถุดิบจากประเทศอื่นเพื่อที่จะลดค่าการสร้างแก๊สเรือนกระจกใน EU ซึ่งเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้ถ้าถูกนำไปใช้ในประเทศต้นทางในการลดค่าเรือนกระจกน่าจะเหมาะสมกว่า”
VDB เห็นว่า รัฐบาลต้องกำกับดูแลและตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยนาย Baumann กล่าวว่า “เราได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าจากประเทศที่สามอย่างเข้มงวดเพื่อที่ผู้ผลิตในประเทศจะได้ไม่สูญเสียผลประโยชน์ อย่างเช่นการนำสินค้าไปสุ่มตรวจผ่านสถาบันการเกษตรและอาหาร (BLE – Bundesanstalt für Landwirtschaft und Ernährung) หรือหากไม่ยอมสินค้าเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเยอรมนีเป็นต้น” ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวนั้นไม่ได้ละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO) แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามโฆษกของ WTO ก็กล่าวว่า “ในเวลานี้ยังไม่มีการร้องเรียนจากเยอรมนีหรือ EU ด้านการปลอมแปลงเชื้อเพลิงชีวภาพจากจีนแต่อย่างใด”
จาก Handelsblatt 7 กรกฎาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)