แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลี ปี 2566 เติบโตต่อเนื่อง
จากการสำรวจโดยสำนักงานวิจัยของธนาคาร Mediobanca และจัดทำเป็นรายงานเกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน สำนักงาน และพื้นที่สาธารณะ ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลทางการค้าของบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์อิตาลี 286 ราย (ที่ในปี 2564 มีรายได้มากกว่า 10 ล้านยูโร และรวมกันมีมูลค่าการค้า 14 พันล้านยูโร โดย 55.2% เป็นการส่งออก) เปิดเผยว่าหลังจากสองปี (2564-2565) ที่การเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ในปี 2566 การขยายตัวจะมีแนวโน้มในเชิงบวกแม้จะชะลอตัวลงก็ตาม โดยบริษัทผู้ผลิตจำนวน 57% คาดว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวน 32% คาดว่าจะลดลง และจำนวน 11% คาดว่าจะอยู่ในระดับคงที่ เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับความผันผวนจากบริบททางการเมือง มาตรการการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางแห่งยุโรป และการแข่งขันบนตลาดโลกที่มีนับวันยิ่งท้าทายมากขึ้น
แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลี ปี 2566 เติบโตต่อเนื่อง
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลีมีดังนี้
1. ปีที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 มาพร้อมกับวิกฤตห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ด้วยการขึ้นราคาของวัตถุดิบและส่วนประกอบพื้นฐานที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้บริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์อิตาลีต้องตัดห่วงโซ่อุปทานให้สั้นลง โดยมีซัพพลายเออร์หลากหลายขึ้น มีการซื้อกับบริษัทอิตาลี (41.7%) และหากับบริษัทในท้องถิ่น (37.5%)
อิตาลีหาทางปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดการพึ่งพาวัสดุจากต่างประเทศในสภาวะเศรษฐกิจที่ได้เปรียบน้อยกว่า ในปี 2565 อิตาลีนำเข้าไม้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ปัจจุบันราคากลับสู่ระดับที่ปกติ ด้วยนโยบายป่าไม้ที่เหมาะสม ด้วยความพยายามเป็นอิสระจากการจัดหาไม้จากต่างประเทศ แต่ไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะกลาง/ยาว ไม่เฉพาะตลาดในยุโรปแต่รวมถึงในตลาดเกิดใหม่ การบำรุงรักษาป่าสงวนแห่งชาติเพื่อนำไม้มาใช้จึงมีบทบาทสำคัญสำหรับในการการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา และสนับสนุนการลด CO2 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการปรับสมดุลทางอุทกธรณีของอิตาลี
2. ผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG: Environmental, Social, Governance) บริษัทจำนวน 68% พิจารณาว่าเป็นแนวโน้มที่ต้องประสานเป็นแนวเดียวกับกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทจำนวน 12% ที่มองว่านโยบายดังกล่าวเป็นเหมือนแนวโน้มแฟชั่นชั่วคราวแต่ก็ไม่ควรปล่อยปะละเลย และบริษัทอีก 12% กลับเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่ส่งผลสะท้อนกลับในเชิงบวก ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งการดำเนินการส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จของประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้วัสดุรีไซเคิลและอื่นๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะแบบหมุนเวียน การลดคาร์บอนพร้อมกับการลดการปล่อยมลพิษ ส่วนประเด็นสังคม มุ่งเน้นการปรับปรุงสภาพการทำงานของบุคลากร สวัสดิการองค์กร เวลาทำงานและส่วนตัว ส่วนประเด็นการกำกับดูแล มุ่งดำเนินการในแง่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
3. การใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลในระบบอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นระบบที่กระจายอย่างรวดเร็วช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2565 มูลค่าการซื้อเฟอร์นิเจอร์ผ่านอีคอมเมิร์ซมีเกิน 3.5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีมูลค่าต่ำกว่าหนึ่งพันล้านยูโรเล็กน้อย
4. บริษัทต่างๆ ในภาคส่วนเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีมีปัญหาบางอย่างที่ไม่อาจเลื่อนออกไปได้อีก คืออายุของแรงงานช่างฝีมือเก่าแก่ที่มีทักษะสูงกำลังร่อยหรอลง กลุ่มแรงงานอายุน้อยยังขาดทักษะและความเชี่ยวชาญ อาจทำให้ขาดแรงงานมืออาชีพและมีฝีมือทางหัตถกรรมที่มีความชำนาญเฉพาะ และส่งผลต่อการผลิตในอนาคต
แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลี ปี 2566 เติบโตต่อเนื่อง
ตลาดเฟอร์นิเจอร์อิตาลีปี 2564
บริษัทอิตาลีที่ใหญ่ที่สุด 286 ราย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก (149 ราย) และทางตะวันตกเฉียงเหนือ (63 ราย) บริษัทที่มีความแข็งแกร่งจำนวน 226 บริษัท มีมูลค่าการค้าคิดเป็น 84.8% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ในปี 2564 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ในปี 2564 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น +23.8% สามารถชดเชยยอดขายที่ลดลงในปี 2563 (-5.2%) การค้ามีการเพิ่มขึ้นของทั้งตลาดในประเทศ (+19.8%) และตลาดต่างประเทศ (+27.3%) การเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วงสามปี (2563-2565) โดยรวมอยู่ที่ 8.3%
ยอดจำหน่ายมากที่สุดคือเฟอร์นิเจอร์เป็นชุด (Kit furniture) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ตกแต่ง (Furnishing accessories) มีมูลค่า 3.2 พันล้านยูโร ตามด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับห้องนั่งเล่นและห้องนอน มีมูลค่า 2.6 พันล้านยูโร เก้าอี้และโซฟา มีมูลค่า 2.5 พันล้านยูโร ห้องครัว มีมูลค่า 2.5 พันล้านยูโร เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน (เก้าอี้และโต๊ะทำงาน) มีมูลค่าไม่ถึงพันล้านยูโร เฟอร์นิเจอร์สำหรับพื้นที่สาธารณะ มีมูลค่า 600 ล้านยูโร เฟอร์นิเจอร์ห้องน้ำ มีมูลค่า 500 ล้านยูโร และผลิตภัณฑ์ตกแต่งนอกอาคาร (กลางแจ้ง) มีมูลค่า 300 ล้านยูโร
ผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์มีมูลค่าการค้า 3.7 พันล้านยูโร แต่มูลค่าการค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าระดับกลาง-ต่ำ สำหรับตลาดมวลชน (Economic/Mass market) ที่มีมูลค่ารวม 10.3 พันล้านยูโร
แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลี ปี 2566 เติบโตต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โลก
ปี 2565 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โลก มีมูลค่าประมาณ 530 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +12% เมื่อเทียบกับ ปี 2564 ที่มีมูลค่า 470 พันล้านยูโร (+14% เมื่อเทียบกับปี 2563) ส่วนการคาดการณ์ในปี 2566 น่าจะเติบโตอยู่ที่ +5% และในปี 2570 คาดการณ์ว่าน่าจะมีมูลค่าการค้า 690 พันล้านยูโร ตลาดเฟอร์นิเจอร์จีนแม้จะแสดงสัญญาณการชะลอตัว แต่ยังคงความเป็นผู้นำ ในปี 2565 การผลิตครอบคลุม 37.1% ของการผลิตทั่วโลก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา การผลิตมีสัดส่วน 13.6% และอิตาลีซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดตลาด 4.5% แซงหน้าเยอรมนีเล็กน้อย ที่มีส่วนแบ่งตลาด 4.3% ในการจัดอันดับโลก
อิตาลีเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์มากเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป รองจากโปแลนด์ และเป็นผู้ส่งออกรายที่ 4 ของโลก รองจากโปแลนด์ เวียดนาม และจีน (ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดส่งออก 34.1% ของการส่งออกทั้งหมด) สหภาพยุโรปเป็นช่องทางการค้าหลักของเฟอร์นิเจอร์อิตาลี ด้วยสัดส่วนการส่งออก 45.9% ตามด้วยการส่งออกไปนอกสหภาพยุโรป (16.4%) ดังนั้น ตลาดหลักคือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่ตลาดที่อยู่ไกลออกไป เช่น อเมริกาเหนือและเอเชีย ก็ไม่ถูกมองข้าม
ความสำเร็จในตลาดต่างประเทศเกิดจากคุณภาพของข้อเสนอเฉพาะสินค้าและความเชี่ยวชาญระดับสูงที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมไปทั่วโลก ที่อิตาลียังสามารถเข้าถึงความต้องการของตลาดก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในบางประเทศ และสร้างมูลค่าการส่งออกเกิน 50 พันล้านยูโร ในปี 2565 ผู้ประกอบการอิตาลีได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการใช้จ่ายที่มากขึ้นของผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนคุณภาพสูงของคนรุ่นใหม่
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. ความตื่นตัวด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การใช้วัสดุจึงมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ปลอดสารพิษ รีไซเคิลได้ และได้รับการรับรองการกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย และมุมมองต่อความยั่งยืนส่งผลต่ออายุการใช้งานของเฟอร์นิเจอร์ จึงต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และสามารถนำกลับมาตกแต่งใหม่ (refurbishment) ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบตามธรรมชาติมากมายที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น และพัฒนาให้เป็นสินค้าที่ตลาดต่างประเทศต้องการได้
2. การผลิตสินค้าตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และอย่างยั่งยืน (Sustainability) ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ จะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับและเลือกซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อดี และขานรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. ผู้ประกอบการสามารถนำทักษะด้านการออกแบบที่อิตาลีมีชื่อเสียงมาก มาใช้ในการพัฒนารูปแบบสินค้า ให้มีความเหมาะสมกับตลาดมากขึ้น
4. การเข้าร่วมหรือชมงานแสดงสินค้าระหว่างสัปดาห์ Milan Design Week โดยในปี 2567 กำหนดจัดขึ้นระหว่าง 15-21 เมษายน 2567 เพื่อติดตามและศึกษาแนวโน้มของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับนักธุรกิจที่มารวมตัวกันที่เมืองมิลาน ในช่วงเวลาดังกล่าว
—————————————————————————————————————————
ที่มา: www.ilsole24ore.com/art/l-industria-dell-arredo-cresce-anche-2023-e-investe-filiere-corte-e-capitale-umano-AESgBkaD
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
5 กรกฎาคม 2566

thThai