ผลิตภัณฑ์นมจากพืช ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม เช่น กาแฟคาปูชิโน่และลาเต้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ แบรนด์ชั้นนำที่เป็นผู้นำในตลาดทำให้ผลิตภัณฑ์นมจากพืชเป็นที่รู้จักในตลาดและขยายตัวได้มากขึ้น แต่ก็มีผู้เล่นรายเล็กเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาด ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจ HORECA ของเนเธอร์แลนด์กว่าร้อยละ 75 มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์นมจากพืชเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าจนกลายเป็นมาตรฐานในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์นมจากพืชมากขึ้น
เมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้ว บริษัท Belgian Alpro ซึ่งเป็นบริษัทและแบรนด์ผู้นำในตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นมจากพืช ทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจการจัดเลี้ยงของเนเธอร์แลนด์ได้รู้จักและคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์นมจากพืชชนิดแรกที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับกาแฟคาปูชิโน่ โดยในช่วงปีแรก นมถั่วเหลือง (Soy Milk) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ปัจจุบันนมที่ทำมาจากข้าวโอ๊ต (Oat Milk) ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับใช้ผสมกับกาแฟคาปูชิโน่เนื่องจากนมข้าวโอ๊ตให้โฟมที่ดี สวยขึ้นรูป และมีรสชาติที่ค่อนข้างเป็นกลาง นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Oatly ของสวีเดนที่เป็นผู้บุกเบิกในตลาดนมข้าวโอ๊ตเช่นกัน แต่ปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
กว่าร้อยละ 80 ของร้านอาหารและธุรกิจรับจัดเลี้ยงในเนเธอร์แลนด์มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์นมจากข้าวโอ๊ตสำหรับใส่ในกาแฟคาปูชิโน่ให้แก่ผู้บริโภค ในปี 2564 ความนิยมนมข้าวโอ๊ตในกลุ่มผู้บริโภคคิดเป็นร้อยละ 76 ซึ่งนมข้าวโอ๊ตกำลังเข้ามาแทนที่นมถั่วเหลืองอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารและธุรกิจรับจัดเลี้ยงเพียงร้อยละ 44 ที่ยังใช้นมถั่วเหลืองหรือมีผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการผสมกับกาแฟคาปูชิโน่ เป็นสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 68 ทำให้นมถั่วเหลืองได้รับความนิยมเป็นอันดับเป็น 2 รองจากนมข้าวโอ๊ต ส่วนนมอัลมอนต์ (Almond Milk) ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 17 ในขณะที่นมจากมะพร้าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 11 รองลงมาจากนั้น คือ นมจากถั่วลันเตา (Pea Milk) ร้อยละ 6 และนมจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (Cashew Milk) ร้อยละ 3
ที่มา : Studio1voud
ผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่เป็นแบรนด์ผู้นำในตลาด คือ Alpro และ Oatly และเนื่องจากผลิตภัณฑ์นมจากพืชเป็นทางเลือกเป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดและเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังเติบโตอย่างน่าจับตามอง หนึ่งในการพัฒนาที่โดดเด่นที่สุดและเป็นการยืนยันได้ว่านมจากพืชสำหรับกาแฟคาปูชิโน่กำลังกลายเป็นกระแสหลัก คือ แบรนด์ผลิตภัณฑ์นมที่มีชื่อเสียงบางยี่ห้อกำลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น Friesche Vlag เปิดตัว Barista Oat เมื่อปีที่แล้ว และ Zuivelrijck ผลิตนมจากพืชที่มีส่วนผสมของข้าวโอ๊ตและส่วนผสมอื่นๆ Nestle และ Wunda เปิดตัวแบรนด์ใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์นมจากพืชและเลือกใช้โปรตีนจากถั่วลันเตาสีเหลือง
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นมถั่วลันเตายังไม่เป็นที่คุ้นหูและรู้จักในกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเนเธอร์แลนด์มากนัก จนกระทั่งแบรนด์ Sproud ได้เปิดตัวนมถั่วลันเตาในตลาดเนเธอร์แลนด์ และมีผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่นๆ อีกหลายแบรนด์ที่ผลิตนมถั่วลันเตาออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน โดยใช้โปรตีนจากถั่วลันเตาสีเหลืองเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ อาทิ แบรนด์ Vly ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจ คือ นมมันฝรั่ง แบรนด์ DUG ของสวีเดนเป็นผู้พัฒนาเทคนิคในการนำมันฝรั่งมาทำเป็น Emulsion ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำไปผลิตนมมันฝรั่งเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผสมในกาแฟคาปูชิโน่ นอกจากถั่วลันเตาและมันฝรั่งแล้ว ก็ยังมีการค้นหาวัตถุดิบและส่วนผสมพื้นฐานที่แตกต่างกันมากมายเพื่อนำมาผลิตเป็นนมจากพืช อาทิ นมจากมะพร้าว นมข้าว นมอัลมอนด์ นมจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่นมจากพืชเหล่านี้ไม่เหมาะสมกับการนำมาทำให้เกิดฟองสำหรับกาแฟคาปูชิโน่ ต่อมาจึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมจากพืชดังกล่าวเพื่อเป็นนมสำหรับดื่ม และสำหรับผสมกับซีเรียลเพื่อรับประทานเป็นอาหารเช้า
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์นมจากพืชจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้แลคโตส (Lactose Intolerance) แต่ผลิตภัณฑ์นมทางเลือกที่มาจากพืชก็ไม่ได้ปราศจากกลูเตน (Gluten Free) ตามธรรมชาติเสมอไป แบรนด์ Alpro จึงได้นำเสนอผลิตภัณฑ์นมจากข้าวโอ๊ตที่ปราศจากกลูเตนสำหรับบาริสต้า (Barista Oat Milk) และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เห็นด้วยในหลักการแล้วว่า ข้าวโอ๊ตปราศจากกลูเตน และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของข้าวโอ๊ต (แต่ไม่มีส่วนผสมอื่นใดที่มีกลูเตน) สามารถวางจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากกลูเตน (Gluten Free Products) ได้ ทำให้กาแฟคาปูชิโน่ที่ใส่นมข้าวโอ๊ตเป็นกาแฟคาปูชิโน่ที่ปราศจากกลูเตน (Gluten Free Cappuccino)
บริษัทผู้ผลิตแบรนด์ดังๆ ได้เริ่มพัฒนาเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืช (Plant-based Drinks) ในเวอร์ชั่นสำหรับบาริสต้า (Barista Version) มากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานของบริษัทที่นำเสนอให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาริสต้า และทำให้ผลิตภัณฑ์นมจากพืชเฉพาะ เช่น นมจากข้าว นมจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ค่อยๆ หายไปจากตลาด อย่างไรก็ดี มีบริษัท Start-Up ของเนเธอร์แลนด์ที่ยังคงต้องการทดลองตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ Cowless ซึ่งเป็นนมจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีทั้งเวอร์ชั่นสำหรับเป็นเครื่องดื่มธรรมดาทั่วไปและเวอร์ชั่นสำหรับบาริสต้า นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์นมอัลมอนด์และนมมะพร้าวที่มีการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นเวอร์ชั่นสำหรับบาริสต้า โดยการเติมแคลเซียมซิเตรตเพื่อทำให้เนื้อโฟมแน่นและฟูสวยขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์นมที่ทำจากพืชที่เป็นเวอร์ชั่นทั่วไปก่อนหน้านี้ เนื้อโฟมจะยุบตัวเร็วเกือบจะทันที ไม่เหมาะกับบาริสต้า
บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมจากพืชมักมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบาริสต้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น แบรนด์ Rebel Kitchen ของอังกฤษ ที่มีความร่วมมือกับ James Hoffmann อดีตบาริสต้าแชมป์โลกและเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านกาแฟในการผลิต Rebel Kitchen Barista Mylk ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นมจากข้าวโอ๊ตและมะพร้าว นอกจากนี้ แบรนด์ยังมีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟอย่างต่อเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้วในการทำการตลาด เช่น Merijn Gijsbers อดีตแชมป์บาริสต้าชาวเนเธอร์แลนด์ได้เป็น Brand Ambassador ของแบรนด์ Alpro ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
ผู้ประกอบการร้านอาหารและธุรกิจรับจัดเลี้ยงเกือบ 1 ใน 5 ที่มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์นมจากพืชเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้ากล่าวว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของเมนูคาปูชิโน่และลาเต้ที่จำหน่ายที่ร้านเป็นกาแฟที่ผสมด้วยนมจากพืช และร้อยละ 10 ของเมนูเครื่องดื่มประเภทนมที่จำหน่ายเป็นเครื่องดื่มที่ใช้นมจากพืช ผู้ประกอบการมากกว่า 1 ในสามระบุว่ามีลูกค้าจำนวนอย่างน้อย 2-3 คนต่อวันที่สั่งคาปูชิโน่หรือลาเต้ใส่นมจากพืช และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการระบุว่ามีแค่ไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้นที่มีลูกค้าสั่งคาปูชิโน่หรือลาเต้ใส่นมจากพืช และแม้ว่ายังมีการแบ่งเขตพื้นที่ระหว่างในเมืองและชนบท แต่ความนิยมผลิตภัณฑ์นมจากพืชได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ในชนบทด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการในชนบทมีลูกค้าถึง 1 ใน 4 ที่สั่งคาปูชิโน่ใส่นมจากพืช โดยเฉพาะนมข้าวโอ๊ต ทำให้เมนูกาแฟคาปูชิโน่ที่ผสมนมจากพืชกลายเป็นเมนูธรรมดาๆ ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการจะคิดราคาเพิ่มสำหรับคาปูชิโน่ที่ใส่นมจากพืช โดยผู้ประกอบการอิสระขนาดเล็กส่วนใหญ่จะคิดราคาเพิ่มที่ประมาณ 0.44 ยูโร แต่การคิดราคาเพิ่มนี้ก็ลดลงเรื่อยๆ สำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายราย เช่น Starbucks, Coffee Company และ Yoghurt Barn กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิกการคิดราคาเพิ่มสำหรับคาปูชิโน่ที่ใส่นมจากพืช เนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคที่ต้องการทางเลือกที่ยั่งยืน
บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.
การที่ผู้บริโภคมีความใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลิกบริโภคนมจากสัตว์ โดยเฉพาะนมวัว เนื่องจากการเลี้ยงวัวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการปลูกพืช ทั้งการใช้พื้นที่ในการเลี้ยงวัวที่ใหญ่กว่าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากกว่าสองหรือสามเท่า ผู้บริโภคจึงหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์นมจากพืชแทน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ผลิตภัณฑ์นมจากพืชจึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมแบรนด์ต่างๆ จึงหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์นมจากพืชให้มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ นมข้าวโอ๊ต นมข้าว นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมเฮเซลนัท นมจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และนมมะพร้าว เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมจากพืชให้มีความหลากหลายแล้ว บริษัทผู้ผลิตยังคิดค้นผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณสมบัติที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาริสต้าต้องการ คือ นมที่สามารถทำฟองนมให้มีความหนาแน่น นุ่มฟู และไม่ยุบตัวเร็ว รวมถึงการร่วมมือกับแชมป์บาริสต้าและผู้ที่มีชื่อเสียงด้านกาแฟในการทำการตลาดผลิตภัณฑ์นมจากพืช ทั้งการสื่อสารทางการตลาดและการสร้างแบรนด์ เพื่อความน่าเชื่อถือและให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งในกลุ่มบาริสต้า ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่ และผู้บริโภคทั่วไป
ผลิตภัณฑ์นมจากพืชเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและมีโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สามารถปลูกเมล็ดพืชที่ได้มาตรฐานพืชของสหภาพยุโรป ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการรับรองมาตรฐานและคุณภาพตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป และสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่ได้มาตรฐานการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศเนเธอร์แลนด์และยุโรปได้ นอกจากเรื่องมาตรฐานพืชแล้ว ประเด็นเรื่องมาตรฐานบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้า Plant-based ก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญและผู้ประกอบการควรต้องศึกษาและปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ เพื่อที่จะสามารถเจาะตลาดและขยายตลาดในยุโรปได้ในระยะยาว
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก