การเติบโตด้านเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 หดตัวลงร้อยละ 0.1 และมีการขยายตัวตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 2.9 (Year on Year) แม้ว่าการเติบโตจะลดเพียงเล็กน้อยแต่เป็นการหดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสเดือนธันวาคม (มีการเติบโตลดลงร้อยละ 0.6 และขยายตัวตลอดทั้งปีร้อยละ 2.7) โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสเดือนมีนาคม 2566 ที่ลดลงเป็นผลมาจากการหดตัวของภาค Business services ที่มีการหดตัวลงมากที่สุดร้อยละ 3.5 (ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการด้านการศึกษาและคมนาคมขนส่ง) และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากในช่วงต้นปี 2566 ภาคอุตสาหกรรมเกษตรได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลน Hale และ Gabrielle

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 (จากการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 แต่การใช้จ่ายซื้อสินค้าในประเทศลดลงร้อยละ 3.4 โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม) และการลงทุนในภาคธุรกิจลดลง (โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะซบเซา) ภาคอุตสาหกรรมผลิตหดตัวลงร้อยละ 1.1 (3 เดือนติดต่อกัน)  การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวลงร้อยละ 2.5 (เป็นการหดตัวของบริการท่องเที่ยวร้อยละ 1.5 แต่การส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าประมง เนื้อสัตว์ อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เนยนมยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6) และการนำเข้าสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 1.6

ดัชนีราคาผู้บริโภคนิวซีแลนด์ไตรมาสเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และร้อยละ 6.7 ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ (ผักเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 อาหารพร้อมรับประทานและนมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ชีสต์และไข่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7) สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน ราคาค่าก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ค่าเช่าที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 รวมถึงราคาค่าบริการโรงแรมที่พักและอาหารสัตว์เลี้ยง ในขณะที่ราคาค่าน้ำมันลดลง

เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ไตรมาสแรก ปี 2566 ทรุด

ร้านอาหารในนิวซีแลนด์

นอกจากนี้ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ Reserve Bank of New Zealand (RBNZ) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.5 ในเดือนพฤษภาคม 2566 (จากระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 0.25 ในเดือนมีนาคม 2563) และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคหดตัวลงที่ 79.2 จุดเนื่องจากภาวะกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งรายได้ประชากรสุทธิต่อหัวลดลงร้อยละ 0.9 ส่งผลต่ออำนาจการซื้อสินค้าของชาวนิวซีแลนด์ และมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับออสเตรเลีย และการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการทำธุรกิจและค่าจ้างแรงงาน ซึ่งตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 22.70 เหรียญนิวซีแลนด์ต่อชั่วโมง (คิดเป็น 499.4 บาท) และ 908 เหรียญนิวซีแลนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 19,976 บาท)  คาดว่า เศรษฐกิจนิวซีแลนด์จะหดตัวลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 เนื่องจากรายได้จากการเก็บภาษีของภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลง และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.4 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 5.5 เนื่องจากแรงงานจากต่างชาติเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาหางานในนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น

………………………………………………………………………………………..

 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศออสเตรเลีย

ที่มา:

Australian financial review

www.nzherald.co.nz

thThai