ในประเทศจีนมีการเพาะปลูกมะม่วงอย่างแพร่หลายในมณฑลกวางตุ้ง กว่างซีจ้วง ยูนนาน และฝูเจี้ยน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เติบโตบริเวณเนิน ริมน้ำ และป่า เนื่องจากมะม่วงเป็นต้นไม้ชอบแสง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ของทุกปี

มะม่วงมีการปลูกในกว่า 87 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศในเอเชียมีพื้นที่ปลูกมะม่วงใหญ่ที่สุดและปริมาณสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของโลก โดยมีประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ อินเดีย ไทย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น รองลงมา ได้แก่ ทวีปอเมริกา มีปริมาณการผลิต ร้อยละ 15.2 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 6.3 โดยประเทศอินเดียถือเป็นประเทศที่ปลูกมะม่วงใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณผลผลิต 10 ล้านตันต่อปี คิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตทั่วโลก

สำหรับมณฑลไห่หนานมีการปลูกมะม่วงมากที่สุดในจีน โดยเฉพาะในเมืองตงฟาง ชางเจียง และเล้อตง เป็นต้น ขณะที่มณฑลกวางตุ้งมีการปลูกมะม่วงมากในเมืองจ้านเจียง และม้าวหมิง เป็นต้น ส่วนมณฑลกว่างซีจ้วงปลูกมะม่วงมากในเมืองป๋ายเซ้อ ฉินโจว หนานหนิง ยู้หลิน และหลิ่วโจว เป็นต้น นอกจากนี้ มณฑลยูนนานมีการปลูกมะม่วงหลักในเมืองหงเหอ ซือเหมา ยู้ซี และสิบสองปันนา เป็นต้น และมณฑลฝูเจี้ยนมีการปลูกมะม่วงมากในเมืองอานซี ฝูเถียน และฝูโจว เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การนำเข้าส่งออกของสินค้าเกษตรในภาพรวมของจีน พบว่า ระหว่างปี ค.ศ. 2016 – 2020 ตัวเลขการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรของจีนขยับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี ค.ศ. 2020 จีนมีมูลค่าการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรถึง 1.71 ล้านหยวน (8.55 ล้านล้านบาท) แบ่งเป็นการนำเข้ามูลค่า 1.18 ล้านหยวน (5.90 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 (YoY) และมีการส่งออกมูลค่า 526,650 ล้านหยวน (2.63 ล้านล้านบาท) ลดลงร้อยละ 2.8 (YoY) และในเดือนมกราคม – เมษายน 2021 จีนมีมูลค่าการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่า 602,750 ล้านหยวน (3.01 ล้านล้านบาท) แบ่งเป็นการนำเข้ามูลค่า 442,080 ล้านหยวน (2.21 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 (YoY) และการส่งออกมูลค่า 160,660 ล้านหยวน (803,300 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 (YoY) จะเห็นว่าจีนขาดดุลการค้าสินค้าเกษตรค่อนข้างมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากสินค้าเกษตรสำหรับจีนมีแนวโน้มการพึ่งพาตลาดต่างประเทศค่อนข้างสูง (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

ปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศผู้ผลิตมะม่วงใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 8.75 ของโลก ประเทศผู้ผลิตมะม่วงอันดับ 1 คือ อินเดีย มีปริมาณผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 39.4 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การบริโภคอาหารแปรรูปจากมะม่วงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน วัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูปในตลาดจีนไม่เพียงพอจึงต้องนำเข้าจากประเทศอาเซียนเป็นจำนวนมาก

สืบเนื่องจากความต้องการมะม่วงในตลาดจีน ทำให้มะม่วงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยบรรเทาความยากจนที่สำคัญในมณฑลไห่หนาน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กวางตุ้ง ยูนนาน และฝูเจี้ยน เป็นต้น
ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 – 2019 ปริมาณผลผลิตมะม่วงจีนมีจำนวน 1.06 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 2.46 ล้านตัน ทำให้จีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตมะม่วงรายใหญ่ของโลก โดยพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหลักในจีน คือ มณฑลไห่หนาน กวางตุ้ง กว่างซีจ้วง ฝูเจี้ยน ยูนนาน เสฉวน และกุ้ยโจว เป็นต้น ซึ่งในปี ค.ศ. 2020 จีนมีพื้นที่ปลูกมะม่วงจำนวน 2.18 ล้านไร่ มีปริมาณการผลิตจำนวน 3.31 ล้านตัน มีมูลค่าการผลิต 20,520 ล้านหยวน (102,600 ล้านบาท) ส่วนด้านปริมาณผลผลิต พบว่า เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีผลผลิตมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยในปี ค.ศ. 2020 มีจำนวน 946,600 ตัน มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 15.0 ขณะที่มณฑลไห่หนานที่มีผลผลิตมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ในปี ค.ศ. 2020 มีปริมาณผลผลิตจำนวน 762,700 ตัน มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 9.0

เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของมะม่วงของจีน พบว่า ในปี ค.ศ. 2020 จีนส่งออกมะม่วงมูลค่า 85.70 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,956.65 ล้านบาท) และมีการนำเข้ามูลค่า 76.27 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,631.32 ล้านบาท) โดยจีนนำเข้ามะม่วงจากประเทศเวียดนามมากเป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณ 67,200 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.9 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 48.64 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ(1,678.08 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.8 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ส่วนตลาดส่งออกมะม่วงที่สำคัญของจีน ได้แก่ เวียดนาม และฮ่องกง โดยในปี ค.ศ. 2020 จีนส่งออกมะม่วงไปเวียดนามจำนวน 24,900 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 48.93 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,688.09 ล้านบาท) และส่งออกไปฮ่องกงจำนวน 11,200 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 22.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (787.64 ล้านบาท) สำหรับมณฑลที่มีการส่งออกมะม่วงมากที่สุดได้แก่ มณฑลยูนนาน และฝูเจี้ยน โดยในปี ค.ศ. 2020 มณฑลยูนนานส่งออกมะม่วงจำนวน 33,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 73.9 ของยอดการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 64.22 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,215.59 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 74.9 ของยอดส่งออกรวมทั่วประเทศ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 34.50 บาท)

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

จีนถึงแม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตมะม่วงขนาดใหญ่ประเทศหนึ่งของโลก แต่ด้วยความต้องการของตลาดที่มากขึ้นทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลาดมะม่วงจึงนับเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่สามารถส่งออกมะม่วงสดเพื่อนำมาแปรรูปหรือมะม่วงที่แปรรูปแล้วเข้าสู่ตลาดจีน ทั้งนี้ การเข้ามาขยายตลาดผู้ประกอบการไทยต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่ชัดเจน ช่องทางการค้าที่หลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นให้เกิดการรับรู้แบรนด์ เกิดความน่าเชื่อถือโดยอาศัยสื่อโซเชียลมีเดียชื่อดังของจีนในการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวาง และมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารให้ดีอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้บริโภคจีนวางใจที่จะซื้อสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมะม่วงในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา: https://www.chinairn.com/hyzx/20230606/172435366.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai