หลังจากที่เกาหลีใต้ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักในปี 2540 เกาหลีใต้จึงได้นำวัฒนธรรมมาเป็นสื่อหลักในการพัฒนาภาพลักษณ์ประเทศ โดยกระแสของ Korean wave หรือ Hallyu ได้เริ่มเกิดขึ้นภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีคิมแดจุง ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2541-2546 โดยได้ผลักดันแผนนโยบายฟื้นฟูวัฒนธรรม ‘Hallyu Industry Support Development Plan’ ซึ่งใช้วัฒนธรรมเกาหลี ความเป็นเกาหลีควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ สินค้า และบริการเกาหลี และได้ผลดีอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

กระแสของ Korean wave ก็ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับ จนทำให้ในปี 2565 จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index ของ Brand Finance ระบุว่า เกาหลีอยู่อันดับที่ 12 ของโลกด้าน Soft Power

นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้

ซึ่งที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญกับสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมในประเทศเป็นอย่างมาก ผลักดันจนเกิดกระแส Hallyu หรือ Korean Wave ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อเพื่อความบันเทิง ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม อาหาร ภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมหลักที่เกาหลีใต้ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อเป็น Soft power มีดังนี้

  1. สื่อและความบันเทิง

Korean Wave มีการส่งออกละครที่มีชื่อเสียงมากมาย ที่เป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ K-Drama เช่น Daejanggum, Autumn Fairy Tale, and Winter Sonata และได้พัฒนามาจนถึงวงการเพลง หรือ K-pop ที่มีศิลปินชื่อดังมากมายทั่วโลก เช่น Psy, EXO, BTS, Blackpink   เป็นต้น โดยสื่อประเภท K-Pop เป็นประเภทที่ได้รับความสนใจมากที่สุดถึง 53.3% ตามมาด้วยซีรีย์เกาหลี 32.2%

 

นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้

 

ปรากฏการณ์ “BTS effect” ทำให้เห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของสื่อเกาหลีที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ โดยทาง Forbes คาดการณ์ไว้ในปี 2561 ว่า วง BTS ได้เพิ่มมูลค่า GDP ให้เกาหลีใต้ 0.3% หรือ 4.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่า GDP ของบางประเทศ เช่น ฟิจิ มัลดีฟส์ และโทโก และการแสดงคอนเสิร์ตเพียง 3 วันก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 1 ล้านล้านวอน

 

นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้

 

จากการเริ่มต้นของการเผยแพร่สื่อในยุคแรกและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและ    คอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบัน ผลงานของประเทศเกาหลี ได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามบนแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix โดยพบว่าการลงทุนของ Netflix ในการผลิตเนื้อหาในเกาหลีได้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศนี้แล้วเกือบ 5.6 ล้านล้านวอน (ระหว่างปี 2559-2563) ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สิ่งพิมพ์ เว็บตูน ดนตรี การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนช่วยสร้างงานมากกว่า 16,000 ตำแหน่ง โดยปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้มากถึง 2.3 ล้านล้านวอน ซึ่งรวมถึงผลงานอย่าง The Glory ที่ขึ้น Hashtag ติดต่อกันในทันทีเมื่อฉายภาค 2

  1. เครื่องสำอางและความงาม

จากกระแสความนิยมใน K-Wave ที่รวมถึงสื่อ ละคร ดารา นักร้องเกาหลีแล้ว ความนิยมเหล่านั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจใน     K-Beauty เครื่องสำอางและสไตล์การแต่งหน้าแบบเกาหลี ที่จะมีความแตกต่างจากการแต่งหน้าแบบดาราฝั่งตะวันตก ในช่วงแรกจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฝั่งเอเชียแล้วจึงขยายไปทั่วโลก โดยในช่วงแรกหลายๆคนรู้จักตลาดความงามของเกาหลีใต้ผ่านวัฒนธรรม K-Pop เนื่องจากคนดังที่ตนชื่นชอบใช้สินค้าหรือเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าดังกล่าว โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ความงาม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของเกาหลีใต้เติบโตขึ้นกว่า 700% ขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 870% ซึ่งในปี 2563 มูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 6.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 5.11 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส

นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้

ในปัจจุบัน ร้านขายยาและความงามกระแสหลักทั่วโลกอย่าง Sephora เริ่มวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามเกาหลี โดยในประเทศไทยเอง ก็สามารถซื้อได้ในร้านขายยาและความงาม เช่น Watson, Eveandboy, Beautrium เป็นต้น รวมทั้ง ด้วยความพร้อมมากขึ้นของแบรนด์เกาหลีในเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ การเข้าถึงของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจึงเติบโตขึ้น เกินกว่าจะเป็นแค่สินค้าสำหรับกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบดาราหรือนักร้องเกาหลี

  1. อาหาร

นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้

เมื่อเสพสื่อจากประเทศเกาหลีแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาหารเกาหลี หรือ K-Food ถูกสอดแทรกเข้าไปในทุกสื่อทั้งนำเสนอโดยตรงผ่านละครหรือจากการพูดถึงของดารานักร้อง ผู้รับชมสื่อจึงซึมซับวัฒนธรรมอาหารเกาหลีใต้มาโดยไม่รู้ตัว และเกิดความอยากรู้ในรสชาติ อาหารเกาหลีเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในปัจจุบัน มีอาหารเกาหลีที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อและเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากมาย เช่น หมูสามชั้นย่าง ต็อกป็อกกี ไก่ทอด จาจังมยอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โซจูและกิมจิ เป็นต้น

ในปี 2564 การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและประมงของเกาหลีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่า 1.198 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น ต็อกปกกี เนื่องจากศิลปิน K-Pop แนะนำอาหารดังกล่าวบนโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ได้รับกระแสจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite ซึ่งมีฉากที่ตัวละครกินอาหารยอดนิยมอย่าง ‘จาปากูรี’ ที่เป็นการผสมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากบริษัท Nongshim ของเกาหลีใต้ หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย Nongshim เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ใน 20 ประเทศ ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยวางจำหน่ายที่ Walmart และ Kroger ผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และสร้างยอดขายทั่วโลกรวม 3 หมื่นล้านวอน

ในส่วนของเมนูร้านอาหารพร้อมรับประทาน ไก่ทอด Golden Olive Chicken จากร้าน BBQ Fried Chicken ที่เป็นที่รู้จักจากซีรีย์ Crash Landing on You ก็เป็นที่นิยมรับประทานแพร่หลายอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปิดสาขาในต่างประเทศ 193 ร้านใน 17 ประเทศ

  1. การท่องเที่ยว

นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้

อิทธิพลของ Korean Wave จากภาพยนตร์ วงดนตรี ละคร รวมถึงความนิยมของตัวนักแสดงและนักร้องที่ได้รับความนิยมทั่วโลกได้ทำให้สถานที่ถ่ายทำซีรีย์ชื่อดังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและดึงดูด นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อีกทั้งยังทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เห็นหลายแง่มุมของประเทศผ่านสื่อบันเทิง เช่น ความปลอดภัย ระบบขนส่งสาธารณะ ความทันสมัยของเทคโนโลยี เป็นต้น ส่งผลให้ K-Travel ให้มีชื่อเสียงในทางที่ดีขึ้น

ในปี 2541 ช่วง Korean Wave กำลังเริ่มต้น จำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่ม 4 เท่าจาก 300,000 คน และเพิ่มมาเป็น 11.8 ล้านคนในปี 2557 โดยในจำนวนของนักท่องเที่ยวเป็นคนเอเชียประมาณ 83.5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้มีอิทธิพลต่อทวีปเอเชียเป็นอย่างมาก ด้วยการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติของเกาหลีใต้ที่คาดการณ์ไว้ ณ อัตรา 3.3% ต่อปี ซึ่งจะแตะ 1.8 พันล้านคนภายในปี 2030 รัฐบาลเกาหลีวางแผนที่จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 35 พันล้านเหรียญต่อปีภายในระยะเวลานั้น

อย่างไรก็ดี เราสามารถเห็นได้ว่า เกาหลีใช้สื่อและความบันเทิง (Content Business) เป็นตัวนำในการส่งออก Soft Power ตามข้อมูลของ Korea Creative Content Agency ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมสื่อหรือ “K-Content” ซึ่งรวมอุตสาหกรรมเพลงเกาหลี ละคร ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และเกม เป็น 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.42% จากปี 2564 ถือเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายยุน ซอกยอล มีแผนที่จะผลักดันสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ให้มีมูลค่าส่งออกถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2570 และจะขยายการส่งออกไปอีกหลายประเทศ โดยประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้กล่าวว่า “ความนิยมต่อ K-content จากทั่วโลก ส่งผลต่อการเติบโตของขนาดการส่งออกและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมูลค่าให้กับ K-content ด้วยการเชื่อมโยงกับแฟชั่น การท่องเที่ยว อาหาร และไอที”

กลยุทธ์เพื่อขยายอุตสาหกรรม K-content ผ่านหลักการ 3E

ปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายตลาดของ K-content ไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งสื่อของเกาหลียังไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย โดยใช้หลักการ 3E ได้แก่

  • Expansion
      • รัฐบาลจะพยายามเพิ่มโอกาสในการเปิดทางให้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของเกาหลีในตลาด ต่างประเทศ เช่น การจัดงาน K-Content Expo ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในปีนี้
      • กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะขยายศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) เพิ่ม 5 แห่ง เป็น 15 แห่งในปี 2566 เพื่อสนับสนุน การขยาย K-content ในต่างประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด นอกจากนี้ วางแผนที่จะร่วมกันส่งเสริมเนื้อหาเครื่องสำอาง และอาหาร ที่สอดคล้องกับกระแส Hallyu โดยการใช้ศูนย์ประชาสัมพันธ์ K-Brand Overseas Public Relations Center
  • Extension
      • รัฐบาลจะพยายามขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เช่น การสนับสนุนการ์ตูนบนเว็บ บริการสตรีมมิ่งออนไลน์และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต
  • Effect
      • รัฐบาลจะต่อยอดจากการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ที่มีอิทธิพลในเชิงบวกต่อการส่งออก ของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สินค้าอาหาร แฟชั่น ความงาม เครื่องใช้ในบ้าน และไอที เช่น การเปิดเผยชื่อสินค้าที่อยู่ในสื่อบันเทิง หรือคอนเสิร์ตต่างๆ

นโยบายเกี่ยวข้องกับ Soft Power ในเกาหลีใต้

นโยบายเพื่อส่งเสริม Soft Power จากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ภายใต้รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกอบด้วย 6 หัวข้อหลักดังนี้

1. K-Content ตัวแปรสำคัญของการส่งออกเกาหลี

  • รัฐบาลจะสนับสนุนทางการเงินสูงถึง 7.90 แสนล้านวอน เพื่อส่งเสริมตัวแทนของ K-Content ที่อยู่ในตลาดโลก เช่น K-Pop เกม ละคร ภาพยนตร์และเว็บตูน อย่างจริงจัง
      • สนับสนุนบริษัทเกมที่ต้องการแข่งขันใน Console market ในอเมริกาเหนือ 9 พันล้านวอน และในยุโรป 7.2 พันล้านวอน รวมถึงให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและกฎหมาย และการสนับสนุนด้านการตลาด
      • วางแผนที่จะขยายอุตสาหกรรม K-Pop และเกมไปยังตะวันออกกลาง โดยจัดสรรงบประมาณ 5 พันล้านวอน เพื่อช่วยบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าร่วมงานหรือจัดงานเทศกาล ดนตรีในต่างประเทศ
      • ผลักดันสำนักพิมพ์เว็บตูนด้วยงบประมาณ 3.87 พันล้านวอน ในการเข้าร่วมงานเทศกาลต่างๆ งานแสดงสินค้าหนังสือ รวมถึงงานการ์ตูนนานาชาติ
      • สนับสนุนภาพยนตร์และซีรีย์เกาหลี โดยจัดสรรงบประมาณ 4.54 หมื่นล้านวอน เพื่อช่วยผู้ผลิต และแพลตฟอร์มต่างๆในการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา และ 3 หมื่นล้านวอนเพื่อสนับสนุน กระบวนการตัดต่อและปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ และ 1 หมื่นล้านวอนสำหรับบริษัทผู้ผลิตขนาดเล็กเพื่อขยายไปตลาดระดับโลก
  • จัดตั้งระบบในการบริหารอุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมด้วย กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการกิจการการสื่อสาร (KCC) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
  • ระดมทุนด้านนโยบายการปกป้องลิขสิทธิ์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยุติธรรมให้กับทรัพย์สินทางปัญญา (IP)
  • สนับสนุนสตาร์ทอัพและการร่วมลงทุน
  • ขยายสาขาของหน่วยงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสื่อไปยัง 15 แห่งในต่างประเทศ
  • สนับสนุนการส่งออกของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น แฟชั่น สินค้าเพื่อความงาม ผ่าน K-Expo

2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 2566

  • ฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่านโครงการ Visit Korea 2023/24 ที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (Korea Tourism Organization) กำหนดจะจัดกิจกรรมต่างๆ และโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ใช้ K-Culture เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว รวมถึง การจัดงานลดราคาขนาดใหญ่ เทศกาลท่องเที่ยว และงานแสดงสินค้าต่างๆ
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ เช่น ส่งเสริมให้เกาะเจจูเป็นเมืองท่องเที่ยวหรูระดับโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจท้องถิ่น
  • ส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบ
  • จัดงานเทศกาล K-culture 100 งาน ใน 15 เมืองทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • ใช้พื้นที่ของบลูเฮ้าส์หรือ Cheongwadae เป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้วัฒนธรรม ศิลปะ และประวัติศาสตร์สำหรับประชาชน

3. เพิ่มมูลค่ามรดกทางวัฒนธรรม

  • เสริมสร้างศักยภาพของศิลปินรุ่นใหม่และนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะถึง 8 พันล้านวอน
  • ขยายไปตลาดต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Korean literature distribution platform (KLWAVE) ผ่านการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้มีผู้เข้าถึงวรรณกรรมเกาหลีได้มากขึ้น
  • บำรุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้

4. ขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคโดยวัฒนธรรม

  • กำหนดเมืองวัฒนธรรมในเกาหลีทั้งหมด 7 เมือง
  • ให้การสนับสนุนที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคที่มีโอกาสทางสังคมและวัฒนธรรมน้อยกว่าพื้นที่อื่น เช่น จัดทำแผนส่งเสริมวัฒนธรรมระดับภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะต่างๆ และการส่งเสริมทาง ด้านภาษา
  • สนับสนุนสิทธิการเข้าถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรม ผ่านการลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดค่าธรรมเนียมการ แสดง ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ ค่าสมัครหนังสือพิมพ์ การดูกีฬาและภาพยนตร์
  • ปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านสวัสดิการ เพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงวัฒนธรรมสำหรับผู้พิการ เช่น การสร้างห้องสมุดสำหรับผู้พิการและการสนับสนุนการแปลภาษามือ

5. การเข้าถึงวัฒนธรรมสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

  • สร้างพื้นที่เชิงวัฒนธรรมและศิลปะที่ปราศจากอุปสรรค สำหรับผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
  • จัดกิจกรรมกีฬา E-Sports ครั้งแรกสำหรับผู้พิการ
  • ฝึกอบรมความสามารถทางวัฒนธรรมและศิลปะ รวมถึง ส่งเสริมการแสดงงานศิลปะ ในต่างประเทศ

6. K-Sports

  • เริ่มโครงการกระตุ้นให้ผู้คนออกกำลังกาย โดยสนับสนุนสูงสุด 5 หมื่นวอนให้กับ 1 หมื่นคน
  • สนับสนุนการสร้างทีมกีฬาในโรงเรียน (20 โรงเรียน)
  • ส่งเสริมกีฬาของเกาหลี เช่น มวยปล้ำเกาหลี (Ssireum)

นอกเหนือจาก 6 หัวข้อหลักแล้ว เกาหลีใต้ยังมีมาตรการและแนวทางเพิ่มเติม ดังนี้

มาตรการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ

  • เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มีผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีถึง 78% ซึ่งถือเป็นแรงสำคัญที่ช่วยสามารถผลักดันอุตสาหกรรมให้มีความสร้างสรรค์ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีแผนที่จะสนับสนุนเงินทุนและนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) ด้านกฎหมาย แรงงาน และการตลาด เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับสตาร์ทอัพ

การนำเทคโนโลยี เช่น Metaverse และ AI มาใช้ประกอบ

  • การพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต อย่างเช่น Metaverse และ AI เช่น “Chat GPT” ซึ่งได้รับความสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่อาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
  • โดยภาครัฐจะลงทุน 134.9 พันล้านวอนในงบประมาณการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้ในวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวได้ อีกทั้งจะเปิดโอกาสให้บริษัท Metaverse มากขึ้น โดย “K-Content Metaverse World” จะถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ K-content ผ่าน Metaverse เช่น เกมที่มีภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริง คอนเสิร์ต และสถานที่ท่องเที่ยว

นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้

หน่วยงานภายใต้การส่งเสริมจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

รัฐบาลเกาหลี ได้กำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬาของเกาหลีอย่างครอบคลุม ประกอบด้วย

 

Korea Creative Content Agency (KOCCA)

    • หน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลและประสานงานการส่งเสริมอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของเกาหลี ทำหน้าที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ K-Content ในตลาดโลก ผ่านการสนับสนุนในขั้นตอนการวางแผน การผลิต ช่องทางการเผยแพร่และร่วมลงทุน รวมถึงการโปรโมทไปยังต่างประเทศผ่านศูนย์ธุรกิจในประเทศต่างๆ ผ่านการจัดเทศกาลที่เกี่ยวกับ K-Content

Korea Tourism Organization (KTO)

  • ทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและให้ข้อมูล เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงขยายการมีส่วนร่วมของคนในประเทศและชาวต่างชาติในการเดินทางท่องเที่ยวภายในเกาหลีผ่านโปรแกรมต่างๆ

Korea Cultural Heritage Foundation (KCHF)

  • ถ่ายทอดและใช้ประโยชน์จากมรดกทางวัฒนธรรม และดำเนินกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ วัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีใต้ เช่น โครงการสืบสานประเพณี การแสดงพื้นบ้าน นิทรรศการ เป็นต้น

Korea Sports Promotion Foundation

  • ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับกีฬาและใช้สถานที่จากการจัด Olympics เพื่อประโยชน์อื่นต่อไป

Korean Culture and Information Service (KOCIS)

  • KOCIS มีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ เพื่อเน้นความสวยงามของประเทศเกาหลี รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศอื่น ๆ
  • จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี (KCC) 35 สาขาใน 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำ ประเทศไทยได้ร่วมกับองค์กรทางด้านวัฒนธรรมของรัฐบาลไทย เพื่อจัดนิทรรศการ การแสดง รวมถึงการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี
  • ผลิตและเผยแพร่วิดีโอประชาสัมพันธ์ประเทศเกาหลี และดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ด้วยการผลิตวิดีโอประชาสัมพันธ์ที่มีหลากหลายรูปแบบ

ผลที่คาดว่าจะได้รับในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดียุน ซอกยอล (ภายในปี 2570)

  • ศูนย์บริการธุรกิจในต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) จะขยายถึง 50 สาขา
  • รัฐบาลคาดว่ายอดจำหน่าย (Total Sales) ของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 137 ล้านล้านวอนในปี 2564 เป็น 200 ล้านล้านวอน
  • นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวที่ได้รับอิทธิพลจาก K-content คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.66 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีผู้ชื่นชอบกระแส K-Wave เพิ่มเป็น 360 ล้านคนทั่วโลก
  • คาดว่าขนาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเพิ่มมูลค่าจาก 108 ล้านล้านวอน เป็น 180 ล้านล้านวอน และจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก5 ล้านคน เพิ่มเป็น 30 ล้านคน
  • จากนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรม คาดว่าจะขยายรายการมรดกโลกได้ถึง 65 แห่งและจะส่งผลดีต่อกระแส Korean wave การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของเกาหลีด้วย
  • ขยายตลาดอุตสาหกรรมกีฬาจาก 5 ล้านล้านวอนถึง 100 ล้านล้านวอน

การร่วมมือกันระหว่างไทยและเกาหลีใต้

การขยายอิทธิพลของ K-Wave และ Soft Power ของเกาหลีใต้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีต่อภาคเอกชนที่จะร่วมมือผ่านการลงทุนในการผลิตและการเผยแพร่สื่อบันเทิง เพื่อทำให้วัฒนธรรมของเกาหลีสามารถมุ่งสู่การขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระแสดังกล่าวเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรมเกาหลีได้อย่างดี ถือว่า Soft Power เป็นแรงสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้เติบโตขึ้นไป

 

สำหรับความร่วมมือกับไทย ก็ยังคงมีความร่วมมือระหว่างกันออกมาเรื่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ระหว่างภาคเอกชนกับเอกชน โดย Soft Power ของไทยมีชื่อเสียงในหลายด้าน เช่น เกม สื่อบันเทิง อาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับตลาดโลก โดยการร่วมมือระหว่างกัน เช่น การร่วมมือกันผลิตคอนเทนต์โดยใช้จุดเด่นจากทั้งสองประเทศมารวมกัน หรือการร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมเพื่อสร้าง New Industry ให้กับไทยได้ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการท่องเที่ยว เป็นต้น

 

อนึ่ง เกาหลีใต้ยังมีแผนที่จะจัดงานแสดงสินค้าและบริการ K-EXPO THAILAND 2023 ในเดือนตุลาคม 2566 ที่ประเทศไทยผ่านการดำเนินงานของ KOCCA ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อผลักดันการส่งเสริม K-Content ในต่างประเทศ จึงจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยและเกาหลีใต้ในการร่วมมือระหว่างกัน

 

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ยังมีงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Busan Film Festival และงานเกมส์ G-Star ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้เข้าร่วมงาน และมีผลตอบรับที่ดี

 

ความเห็นสำนักงานฯ Soft Power มีความสำคัญ และเป็นตัว Drive ให้เกิดความต้องการการบริโภคสินค้าและบริการ และเป็นปัจจัยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งประเทศไทยมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีศักยภาพที่สามารถนำไปใช้เป็น soft power ให้โดดเด่นได้ในหลายสินค้าและบริการ เช่น อาหารไทย นาฎศิลป์ไทย มวยไทย การนวดแผนไทย ผ้าไทย เครื่องหอมและสมุนไพรไทย งานเทศกาลต่างๆ เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง รวมถึงการผลิตภาพยนตร์และซีรีย์ต่างๆ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในหลายประเทศ ควรที่จะสอดแทรกวัฒนธรรมไทย สินค้าและบริการไทยลงในคอนเทนต์ต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าและบริการไทยไปสะดุดสายตาชาวโลกให้เพิ่มมากขึ้น

ในการส่งเสริมและพัฒนา Soft Power ในระยะแรก อาจจะต้องมีการลงทุนในการสร้างความรับรู้และภาพลักษณ์แก่ผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยภาครัฐควรที่จะมีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ในการส่งเสริม เผยแพร่ และผลักดัน Soft Power ของไทย ให้ติดตลาดและเป็นกระแสสากล และเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถผลักดันสินค้าและบริการไทยได้อย่างยั่งยืน และนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป

*******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

12 มิถุนายน 2566

 

ที่มาข้อมูล:

  1. K-Content policies for national strategic industries, 2023.02.24. Ministry of Culture, Sports and Tourism
  2. Ministry of Culture, Sports and Tourism Business Plan, Ministry of Culture, Sports and Tourism
thThai