รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนเมษายน 2566

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนเมษายน 2566

**************

  1. สรุปภาพรวมทั่วไป

เศรษฐกิจ

สำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI)  รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่านช่วงสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ( 21 มีนาคม – 20 ธันวาคม 2565) เติบโตที่อัตราร้อยละ 3.3 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ณ ราคาพื้นฐานคงที่ของปี 2554 ในสามไตรมาสแรก มีมูลค่า 5,825 พันล้านเรียล (รวมน้ำมันดิบ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 3.3 โดยภาคเกษตรกรรมเติบโตติดลบร้อยละ 4.3 ภาคอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ ขยายตัวร้อยละ 5.3 และภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 2.6

สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของอิหร่านกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรังและความไม่มั่นคงด้านราคาอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการคว่ำบาตร ซึ่งนับแต่ปี 1996 เป็นต้นมาอัตราเงินเฟ้อของอิหร่านมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขี้นร้อยละ 580 นั่นหมายถึง อัตราเงินเฟ้อที่มากกว่า 1 เท่าครื่งของอัตรารายได้ของประชากรทำให้ประชากรได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจและมีอำนาจในการซื้อสินค้าลดลง โดยในปัจจุบันอัตราเฉลี่ยเงินเฟ้ออิหร่านต่ำสุดอยู่ที่ระดับร้อยละ 45 ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะขยับตัวลดลง ภาวะเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นรายวัน พร้อมกับการลดค่าของเงินเรียลที่มีผลมาจากการคว่ำบาตรนั้นได้ทำให้สินค้าจำเป็นในตระกร้าบริโภคประจำวันขาดแคลนและขยับราคาสูงขึ้นเกินอำนาจการซื้อของประชาชนโดยเฉพาะสินค้าบริโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพและจำเป็นต้องพี่งพาการนำเข้า เช่น ข้าว ชา น้ำมันพืช เนื้อสัตว์ น้ำตาล เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีราคาขยับตัวสูงกว่าร้อยละ 70 โดยในปัจจุบันพบว่าอิหร่านมีครัวเรือนที่ยากจนในประเทศเพิ่มขี้นและมีกำลังซื้อลดน้อยลงและมีจำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความจนเพิ่มมากขี้น ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 26 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 80 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลกำลังวางพื้นฐานที่จำเป็นที่จะนำระบบสวัสดิการคูปองสินค้าที่เคยใช้ในอิหร่านมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วกลับมาใช้อีกครั้ง โดยปัจจุบันรัฐบาลได้เริ่มนำระบบคูปองดังกล่าวมาใช้แล้วในต่างจังหวัดและชนบทของอิหร่านและมีแผนที่จะดำเนินการ ทยอยใช้ในกรุงเตหะรานต่อไป การที่รัฐบาลตัดสินใจนำระบบสวัสดิการคูปองนี้มาใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนเพื่อแลกซื้อสินค้าในราคาที่รัฐบาลกำหนด

อัตราเงินเฟ้อ
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI)  รายงานอัตราอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประจำปี (เดือนเมษายน 2565  – เมษายน 2566) อยู่ที่ร้อยละ 47.6 อยู่ในระดับสูงกว่าเดือนมีนาคม 2565 ร้อยละ 1.8 หน่วย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อแบบจุดต่อจุดของเดือนเมษายน 2566 เทียบกับเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 55.5 กล่าวคือ ในเดือนเมษายน 2566 ประชาชนอิหร่านใช้เงินในจำนวนที่มากกว่าเดือนเมษายน 2565 เพื่อจับจ่ายใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการชนิดเดียวกันเพิ่มขี้นร้อยละ 55.5 และจากรายงานวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของดัชนีราคาผู้บริโภคชี้ให้เห็นว่าในเดือนเมษายน 2566 อัตราเงินเฟ้อรายเดือนของดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ 180.5 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ เพิ่มชึ้นร้อยละ 4 ดัชนีราคาสินค้าที่นอกเหนือจากหมวดอาหารและหมวดบริการในเดือนนี้มีอัตราสูงร้อยละ 3.5 สินค้าที่มีอัตราเงินเฟ้อรายเดือนสูงสุด ได้แก่สินค้าหมวดผลไม้และผลไม้แห้งเพิ่มขี้นร้อยละ 15.3 การขนส่งร้อยละ 8.6 และสินค้าและบริการเบ็ดเตล็ด ร้อยละ 7.0

 

การว่างงาน

อัตราการว่างงานของชาวอิหร่านที่มีอายุในวัยทำงาน (15-45 ปี) ในช่วงฤดูหนาวปีงบประมาณที่ผ่านมา (21 ธันวาคม 2565 – 20 มีนาคม 2566) มีอัตราร้อยละ 9 ลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยพบว่าร้อยละ 12.9 ของผู้ว่างงานเป็นประชากรที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา

การลงทุนจากต่างประเทศ

ประธานองค์กรการลงทุนเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเทคนิคของอิหร่าน (Organization for investment Economic and Technical Assistance Of Iran) ได้เปิดเผย สถิติการลงทุนจากต่างประเทศ ว่าในปีที่ผ่านมารัสเซียเป็นประเทศผู้ลงทุนในอิหร่านมากที่สุด โดยร่วมลงทุนในโครงการน้ำมันดิบจำนวน 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับรองลงมาได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี จีน และอัฟกานิสถาน โดยที่ผ่านมาจีนได้เข้ามาลงทุนในอิหร่านในอุตสาหกรรมขนาดย่อยและขนาดกลางจำนวน 25 โครงการ มูลค่า 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในส่วนของกิจการเหมืองแร่และการสร้างสถานีขนส่ง

    2 . การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

กรมศุลกากรอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran Customs Administration : IRICA) ได้รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านในช่วง 1 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม – 20เมษายน 2566) พบว่าอิหร่านส่งออกสินค้าไปต่างประเทศแล้วมูลค่า 3,645 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ จีน อิรัก ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย อิหร่านส่งออกสินค้าไปยังจีนมากที่สุด ด้วยมูลค่า 1,140 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 31.28 ของมูลค่าการส่งออก  ในส่วนของการค้ากับไทย อิหร่านส่งสินค้าออกไปไทยแล้วมูลค่า 34,611,585  เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกหลักได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สัตว์น้ำทะเลแช่แข็งและแช่เย็น สินค้าเกษตร เป็นต้น

การนำเข้า

ในช่วง 1 เดือนแรกของปีปัจจุบัน อิหร่านนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 3,087 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ  13.02 โดยมีนำเข้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ตุรกี อินเดีย และเยอรมัน ในส่วนของการนำเข้าจากไทย อิหร่านนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่า 6,552,774 เหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าสำคัญ ได้แก่ เอ็มดีเอฟ ข้าวโพดหวาน ผลไม้กระป๋อง อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ ยางพารา  เป็นต้น

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศอิหร่านพบว่า ปริมาณรายได้ที่รัฐบาลอิหร่านได้รับจากการส่งออกสินค้านอกเหนือจากน้ำมันดิบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ว่าอิหร่านได้รับผลกระทบของจากการคว่ำบาตร แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศอิหร่านก็ตาม แต่ในทางกลับกันการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการแลกเปลี่ยน การขนส่ง และอื่นๆ รวมถึงการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุน ทำให้กำลังการผลิต และการแข่งขันลดลง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าของอิหร่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาเงินตราต่างประเทศให้กับผู้นำเข้าภาคเอกชน ตลอดจนข้อจำกัดทางศุลกากร ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนภาคการผลิตซึ่งทำให้การผลิตภายในประเทศลดลงไปด้วย

 

****************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

พฤษภาคม 2566

thThai