อินเดียจับมือกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่

อินเดียและโอมานเดินหน้าเปิดการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างอินเดียและกลุ่มประเทศความร่วมมือในอ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council (GCC) ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต บาห์เรน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งจะเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการของอินเดียในภูตลาดอาหรับ รวมถึงการขยายการลงทุนของนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายด้วย โดยจุดเริ่มต้นของการเจรจาการค้าในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการประชุม Joint Commission Meeting (JCM) ครั้งที่ 10 เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภายหลังจากที่กระบวนการเจรจาได้หยุดชะงักไปด้วยเหตุทางการเมืองระหว่างประเทศเมื่ออินเดียมีข้อขัดแย้งกับปากีสถาน

กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะเริ่มกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ในความตกลงทางการค้าและการลงทุน โดยคาดกันว่าการลงนามจะเป็นไปในลักษณะของความตกลงการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนแบบบางส่วน หรือที่เรียกว่า Preferential Trade Agreement (PTA) โดยไม่ได้เปิดเสรีแบบเต็มรูปแบบในลักษณะแบบเดียวกับที่อินเดียได้ลงนามไปกับ UAE เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความตกลงแบบ Comprehensive Economic Partnership Agreement (CEPA)

สำหรับสินค้าและบริการที่คาดว่าจะมุ่งเน้นในกรอบนี้คือยาและบริการสุขภาพ โดยในเบื้องต้นอินเดียและโอมานจะร่วมกันศึกษาแนวทางขยายการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะเรื่องการลดภาระและเวลาในการจดทะเบียนยารักษาโรคในประเทศโอมาน และการลดอุปสรรคการเข้าไปลงทุนในโอมาน รวมถึงธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาค GCC ซึ่งนักธุรกิจอินเดียได้เข้าไปลงทุนภายใต้ชื่อห้าง Lulu Mall โดยมีร้านค้าในเครือถึงกว่า 200 แห่ง จากภูมิหลังทางเศรษฐกิจเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ GCC จะมองอินเดียว่าเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและยาของตน ดังเช่นในกรณีเรื่องการนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดียเข้าไปใน ป้อนตลาด GCC ในช่วงที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในขณะเดียวกัน ยังมีแรงงานจากอินเดียเข้าไปทำงานใน GCC จำนวนมากด้วย จากข้อมูลของ Gulf Cooperation Council Statistical Center ระบุว่ามีคนอินเดียเข้าไปทำงานใน GCC แล้วประมาณ 9 ล้านคน โดย 3.5 ล้านคนอยู่ในโอมาน 2.5 ล้านคนอยู่ในซาอุดิอาระเบีย 1 ล้านคนอยู่ในคูเวต 7.6 แสนคนอยู่ในกาตาร์ และ 3.3 แสนคนอยู่ในบาห์เรน ในขณะที่ โอมานและการ์ต้า มีบริษัทอินเดียเข้าไปจดทะเบียนธุรกิจแล้วประมาณ 6,000 บริษัท จากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นเช่นนี้ กลุ่มประเทศ GCC จึงพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนและส่งเสริมการค้าการลงทุนกับอินเดียเป็นอย่างมาก

ในอนาคต อินเดียยังได้วางรากฐานการพัฒนาตลาดและการลงทุนใน GCC ด้วยการทำธุรกิจการศึกษาใน GCC ด้วย ในขณะที่ นายทุนภายใต้ GCC Sovereign Wealth Funds ก็เข้าไปร่วมลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพของอินเดียเช่นกัน อาทิ OLA, OYO และ BYJU’s ซึ่งจะช่วยให้อินเดียสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ได้เร็วขึ้น (the 4th Industrial Revolution: 4IR) นอกจากนี้ อินเดียและกลุ่มประเทศ GCC ยังมีการหารือกันในระดับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เวทีหารือที่เรียกว่า the Arabian Sea Dialogue (ASD) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากนักธุรกิจ นักวิชาการ และ สื่อมวลชน ซึ่งทำให้ความร่วมมือมีความคืบหน้าในทางปฏิบัติควบคู่ไปกับการเจรจาในระดับรัฐต่อรัฐ

ที่มา: www.business-standard.com

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น

ตลาดในภูมิภาคอาหรับเป็นเป้าหมายหนึ่งของการส่งออกของไทย เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและต่อเนื่อง โดยมีอินเดียเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทยในการขยายการส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวในการเจรจาการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ของอินเดีย สะท้อนถึงตัวอย่างที่ดีในการเชื่อมโยงการเจรจากับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไทยสามารถติดตามและนำมาปรับใช้เป็นแนวทางได้ ยกตัวอย่างเช่น

ยุทธศาสตร์ในการยกระดับการผลิตไปสู่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง (High-tech / High-value) เพื่อการส่งออกสินค้าในกลุ่ม S-curve และ New S-Curve ซึ่งอินเดียได้เจรจาการค้ากับหลายประเทศ โดยขอให้ประเทศคู่เจรจาเข้าไปลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ในอินเดีย อาทิ การเจรจาความตกลง CEPA กับแคนาดา ซึ่งอินเดียไม่ได้เน้นเพียงมิติด้านการส่งออกและนำเข้า แต่เน้นให้หน่วยงานวิชาการของทั้งสองประเทศต้องมีศึกษาร่วมกันว่าสินค้าใดที่อินเดียมีศักยภาพและคู่เจรจาสนใจจะเข้าไปลงทุน รวมทั้งสิทธิพิเศษในการลงทุนในสาขาต่างๆ อาทิ บริการการศึกษา และ บริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับทักษะและการผลิตของอินเดียไปสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่

นอกจากนี้ การเจรจาการค้าของอินเดียที่น่าสนใจคือการใช้ภาคเอกชนเป็นกลไกสนับสนุนการเจรจา ยกตัวอย่างเช่นการที่ภาคเอกชนของออสเตรเลียและอินเดียมีการแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อความเข้าใจคู่ขนานไปกับกระบวนการเจรจาของภาครัฐ และช่วยล็อบบี้ให้รัฐบาลของตนบรรลุข้อสรุปในการเจรจาได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีการตั้งคณะทำงานระหว่าง Australia-India Chamber of Commerce (AICC) ในออสเตรเลีย และ the Confederation of Indian Industry (CII) ในอินเดีย เพื่อให้คำปรึกษาและกระตุ้นการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนภายใต้ FTA ที่ได้ลงนามกัน รวมทั้งร่วมกันพัฒนากลไกตรวจรับรองถิ่นกำเนิดระหว่างกัน เพื่อสร้างความมั่นใจและความคล่องตัวในการใช้ประโยชน์จากความตกลงด้วย

 

thThai