เอกวาดอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินค้าทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในฐานะผู้ส่งออกกล้วยหอมอันดับที่ 1 ของโลก[1] นอกจากนี้ เอกวาดอร์กำลังมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมนมของประเทศอย่างจริงจัง โดยอุตสาหกรรมนมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจและมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของชาติ โดยในปี 2567 มีห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.4[2] ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 เอกวาดอร์ได้สร้างโอกาสครั้งประวัติศาสตร์สำหรับภาคส่วนนี้โดยการลงนามในพิธีสารการส่งออกกับจีนในสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม หลังจากผ่านการตรวจสอบระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตโดยคณะผู้แทนด้านเทคนิคจากสำนักงานบริหารศุลกากรแห่งประเทศจีนหรือ GACC[3] ที่ได้เดินทางไปตรวจสอบฟาร์มโคนม 6 แห่งและโรงงานอุตสาหกรรมอีก 3 แห่งในแคว้นต่าง ๆ ของเอกวาดอร์ที่ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องในการส่งออกสินค้าไปยังจีน โดยผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมจะต้องลงทะเบียนและปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ ผ่านการรับรองกระบวนการผลิตและสุขอนามัยจากกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์และสำนักงานสุขอนามัยแห่งชาติของเอกวาดอร์ จึงจะสามารถขอการรับรองจาก GACC เพื่อส่งออกสินค้าไปยังจีนได้
นาย Danilo Palacios รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของเอกวาดอร์ได้เน้นย้ำว่าความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับภาคการเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผู้เลี้ยงปศุสัตว์และอุตสาหกรรมโดยรวม นอกจากนี้ นาย Andres Robalino รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการผลิตและอุตสาหกรรมของเอกวาดอร์ ยังได้ให้ความเห็นว่าเอกวาดอร์มีผลิตภัณฑ์จากนมที่มีศักยภาพจำนวนมาก การเข้ามาของผลิตภัณฑ์ใหม่จากเอกวาดอร์ในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการสูง และมีจำนวนผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในโลกถือเป็นการพัฒนาเชิงกลยุทธ์สำหรับการเติบโตในภาคส่วนนี้ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเอกวาดอร์ในการค้าระดับโลกอีกด้วย
บทวิเคราะห์/ ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
การจัดทำความตกลงในการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์จากนมของเอกวาดอร์ไปยังจีน ถือเป็นความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมในเอกวาดอร์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพและพัฒนามาตรฐานในการผลิตและส่งออกสินค้า รวมถึงการขยายการตลาดใหม่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมนมของประเทศ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนมยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการจ้างงานด้วย โดยข้อมูลจากศูนย์อุตสาหกรรมนมแห่งเอกวาดอร์หรือ CIL[1] ในปี 2567 เผยว่า มีบริษัทอุตสาหกรรมนมในประเทศกว่า 1,159 แห่ง มีผู้ผลิตนมกว่า 280,000 รายทั่วประเทศ สร้างงานโดยตรงถึง 502,008 ตำแหน่ง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเอกวาดอร์ (INEC)[2] ในปี 2567 พบว่ามีจำนวนโคนมทั่วประเทศประมาณ 8 แสนตัว สามารถผลิตนมได้ประมาณ 5.3 ล้านลิตรต่อวัน หรือกว่า 2,000 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งการเติบโตนี้เกิดจากการปรับปรุงการทำฟาร์มและการนำวัวสายพันธุ์ดีมาใช้(สายพันธุ์ Holstein และ Jersey) ในส่วนของปริมาณการแปรรูปนมต่อปีของเอกวาดอร์อยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านลิตร โดยส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตนมผงและชีสประมาณ 15,000 และ 30,000 ตันต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ในตลาดนมของเอกวาดอร์มีผู้ประกอบการรายสำคัญ เช่น Tonicorp, Nestlé Ecuador และ El Ordeño ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแปรรูปและกระจายสินค้าภายในประเทศ
การส่งออกผลิตภัณฑ์จากนมของเอกวาดอร์ในปี 2567 มีมูลค่ารวมที่ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ[3] เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 214.9 และหากพิจารณาการส่งออกในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 (ข้อมูลล่าสุด) พบว่าเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 475.9 ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก โดยเน้นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มชีสและนมผง เนื่องจากมีอายุการเก็บรักษาที่นานทำให้สะดวกต่อการขนส่งและจัดจำหน่าย
ผลกระทบต่อประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของเอกวาดอร์ โดยในปี 2567 เอกสาดอร์นำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 272.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -24.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมนมของเอกวาดอร์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เอกวาดอร์จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพิ่มขึ้น และจากข้อมูลสถิติการนำเข้าสินค้าของเอกวาดอร์จากไทยในปี 2567 และ 2568 (มกราคม – มีนาคม) พบว่า สินค้าที่มีการขยายตัวของการนำเข้าฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าวโพด และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมในเอกวาดอร์ที่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้าดังกล่าวในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ สคต.ฯ คาดว่าในระยะยาวการขยายตัวของอุตสาหกรรมฯ จะส่งผลดีต่อสินค้าในกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รถบรรทุก (พิกัดศุลกากรที่ 87) เครื่องจักรและส่วนประกอบ (พิกัดศุลกากรที่ 84) อาหารสัตว์(พิกัดศุลกากรที่ 23) และ วัคซีน/ยารักษาโรคสัตว์ (พิกัดศุลกากรที่ 30)
______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤษภาคม 2568
[1] https://www.dairyindustries.com/organisation/centro-de-la-industria-lactea-del-ecuador-cil/
[2] https://www.ecuadorencifras.gob.ec/estadisticas/
[3] https://dairynews.today/milkypedia/country/ec/?sphrase_id=19916187
[1] https://www.exportimportdata.in/blogs/largest-exporter-of-bananas.aspx
[2] https://www.eluniverso.com/noticias/economia/exportacion-leche-apertura-de-mercado-centro-de-la-industria-lactea-cil-acuerdo-comercial-protocolo-ecuador-china-2025-nota/
[3] http://english.customs.gov.cn/