เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 68 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาประกาศว่า มีแผนจะเก็บภาษี 100% จากภาพยนตร์ที่ผลิตนอกสหรัฐฯ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในประเทศ จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งหากการเก็บภาษีนี้มีการบังคับใช้จริง จะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอื่นๆ ที่ต่อเนื่องในแคนาดาอย่างเลี่ยงไม่ได้
จากข้อมูลในปี 2566 อุตสาหกรรมภาพยนตร์และทีวีของแคนาดามีมูลค่าการผลิตที่ 12,200 ล้านดอลลาร์แคนาดา และคิดเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศราว 14,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา โดยหลายเมืองหลัก อาทิ นครโทรอนโตและนครแวนคูเวอร์ มักจะกลายเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเพื่อทดแทนเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายสแตน โช รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของรัฐออนทาริโอ แคนาดา กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า จะ สร้างความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่อภาคการผลิตสื่อของแคนาดา และหวังว่าผู้นำทรัมป์อาจชะลอคำสั่งไว้ก่อน
โดยรายงานประจำปีของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2567 มีการใช้จ่ายด้านการผลิตภาพยนตร์ราว 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.8 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวลดลงถึงร้อยละ 26 มาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหราชอาณาจักร กลับมีการดึงดูดให้เข้ามาถ่ายทำหนังเพิ่มขึ้น ในการนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวในสื่อแพลตฟอร์ม Truth Social ว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอเมริกากำลังจะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว และต้องการให้ภาพยนตร์กลับมาผลิตในอเมริกาอีกครั้ง โดยมีแผนกำหนดภาษี 100% กับภาพยนตร์ทุกประเภทที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ สำหรับที่มีการผลิตในต่างแดน
ด้านนายเรย์โนลด์ มาสติน ประธานสมาคมผู้ผลิตสื่อของแคนาดา กล่าวว่า มาตรการของทรัมป์ครั้งนี้จะเกิดการหยุดชะงักและสร้างความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่อภาคการผลิตสื่อทั้งในแคนาดาและสหรัฐฯ เพราะภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักถูกถ่ายทำจากทั่วโลกไม่ได้มีการผลิตในประเทศเดียว จึงอาจเป็นการสร้างความเดือดร้อนมากกว่าปกป้องอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ยังสร้างความวิตกให้กับนักลงทุนในสตูดิโอและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของสหรัฐฯ ทันที โดยหุ้นของบริษัทใหญ่ เช่น Netflix และ Paramount ร่วงลง ขณะที่ Disney และ Comcast ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Universal ก็เผชิญกับแรงกดดันเช่นกัน
แคนาดากลายเป็นสถานที่น่าดึงดูดใจของผู้ผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากแรงงานที่ทำภาพยนตร์มีทักษะสูงแต่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยเมืองใหญ่ เช่น โทรอนโต มอนทรีออล แวนคูเวอร์ คัลการี่ และฮาลิแฟ็กซ์ มักนำมาแทนที่เมื่องต่างๆ ในสหรัฐฯ ส่งผลให้นครโทรอนโตมีการจ้างงานด้านสื่อภาพยนตร์กว่า 30,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ให้รัฐราวปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 62,400 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี ด้านโฆษกทำเทียบขาวสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับภาษีภาพยนตร์ต่างชาติ และกำลังศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย เพื่อประเมินสถานการณ์และการออกมาตาการทางภาษีต่อไป
ข้อคิดเห็นสคต. แม้นโยบายการเก็บภาษีภาพยนตร์ 100 % ของสหรัฐฯ จะยังมีความความคลุมเครือเป็นอย่างมาก ไม่มีความแน่ชัดว่าภาพยนตร์ที่ผลิตในต่างชาติจะถูกเรียกเก็บภาษีเช่นไร แต่ได้สร้างความวิตกกังวลให้อุตสาหกรรมหนังไปแล้ว เนื่องจากธุรกิจได้ประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในช่วงสถานการณ์โควิดมาก่อน และมาตรการของทรัมป์จะทำให้สตูดิโอสร้างผลงานภาพยนตร์ได้ยากขึ้น และเข้าสู่ภาวะชะงักได้ ซึ่งทางผู้เกี่ยวข้องในแคนาดากำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะถือได้ว่าอุตสาหกรรมสื่อภาพยนตร์สามารถสร้างรายได้และการจ้างงานให้กับชาวแคนาดาจำนวนมากในแต่ละปี
โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์