เงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์เดือนเมษายนพุ่งขึ้นแตะ 4.1% จากราคาอาหารและบริการ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (CBS) รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ในเดือนเมษายนพุ่งขึ้นแตะ 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ 3.7% เป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 7.2% จาก 7.1% ในเดือนมีนาคม และราคาบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับ 4.7% ในเดือนมีนาคม แต่หากเปรียบเทียบรายเดือนกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนเมษายน

 

เงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์เดือนเมษายนพุ่งขึ้นแตะ 4.1% จากราคาอาหารและบริการ

 

ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า สินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.6% อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.2% และราคาบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.6% ยกเว้นราคาพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ -3.2

 

เงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์เดือนเมษายนพุ่งขึ้นแตะ 4.1% จากราคาอาหารและบริการ

 

นอกจากนี้ CBS ยังเผยแพร่ดัชนีราคาผู้บริโภค HICP (Harmonised Index of Consumer Prices) ซึ่งเป็นการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตามคำจำกัดความและวิธีการที่ตกลงกันในระดับนานาชาติ เพื่อให้การเปรียบเทียบระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปง่ายขึ้น Eurostat จะใช้ HICP จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมดเพื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อสำหรับเขตยูโรโซนและสหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะใช้ HICP เพื่อกำหนดนโยบายการเงินสำหรับเขตยูโรโซน โดยอัตราเงินเฟ้อ HICP ของเนเธอร์แลนด์ในเดือนเมษายนอยูที่ 4.1% เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ 3.4% ทั้งนี้ ความแตกต่างหลักระหว่างดัชนีราคาผู้บริโภค CPI ของเนเธอร์แลนด์ และ HICP คือ HICP ไม่คำนึงถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่อาศัย ในขณะที่ CPI คำนึงถึงต้นทุนเหล่านี้โดยจะคำนวนตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเช่าที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ดี CBS ได้ประกาศแผนการปรับปรุงดัชนี CPI และ HICP โดยจะมีการเปลี่ยนปีฐานจาก 2015=100 เป็น 2025=100 โดยจะเริ่มมีผลใช้ตั้งแต่ปี 2026 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ CBS จะปรับปรุงระบบการจัดหมวดหมู่สินค้าและบริการเพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และจะปรับแนวทางการคำนวณ CPI ให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณ HICP มากขึ้น โดยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อภายใต้ข้อมูลชุดใหม่ที่ใช้ปี 2025 เป็นปีฐานนี้มีกำหนดจะเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2026

 

บทวิเคราะห์และความเห็นสคต.

อัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งและยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ ECB ตั้งเป้าไว้ที่ 2% มายาวนานเกินกว่า 1 ปีแล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อีกทั้งราคาสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ และราคาบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะยังคงปรับต่อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ภาวะเงินเฟ้อนี้ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์อย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 2 ครั้งต่อปีเพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แต่ราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลต่อภาวะค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการใช้จ่าย โดยเพิ่มความประหยัด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และลดความถี่ในการจับจ่ายใช้สอย หรือหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกหรือจับต้องได้มากขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยมายังเนเธอร์แลนด์ ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยควรพิจารณาปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจเน้นจุดขายเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ที่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและเห็นถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่าย และอาจยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้กับสินค้าเพื่อสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai