Deloitte เตือนเศรษฐกิจแคนาดาส่อถดถอยกลางปี 2025

จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจที่เผยแพร่โดย Deloitte Canada เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจของประเทศแคนาดามีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2568 ซึ่งหากมีการหดตัวของ GDP 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ถึงภาวะถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้น

บริษัท Deloitte คาดการณ์ว่า GDP แคนาดาจะหดตัวอัตราร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่ 2 และร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่สามของปีนี้ โดยระบุว่าสาเหตุหลักมาจากแรงกดดันที่ยืดเยื้อในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการค้าและการลงทุนที่ถดถอยลงอย่างชัดเจน นาย Dawn Desjardins หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Deloitte Canada กล่าวว่า “มีสัญญาณตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วนว่ามีแรงกดดันในทิศทางขาลง และชาวแคนาดาควรเตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่
ซบเซาในช่วง 6-8 เดือนข้างหน้า”

ในด้านการลงทุนภาคเอกชน Deloitte คาดว่าการลงทุนทางธุรกิจจะลดลงร้อยละ 11.5 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 และอีกร้อยละ 3.5 ในไตรมาสที่ 3 สอดคล้องกับผลสำรวจของธนาคารกลางแคนาดา (Bank of Canada) ที่พบว่าร้อยละ 22 ของธุรกิจมีแผนชะลอการลงทุนในปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ถึงแม้ผลสำรวจของธนาคารกลางแคนาดาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะพบว่าธุรกิจบางส่วนเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในคำสั่งซื้อและการจองล่วงหน้า แต่การบริโภคภาคครัวเรือนยังคงอ่อนแอ โดยการใช้จ่ายต่อหัวของประชาชนลดลงถึงร้อยละ 1.5 จากผลกระทบของค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่สูง

ในส่วนของตลาดแรงงาน Deloitte คาดว่าอัตราการว่างงานในแคนาดาจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 7 ภายในปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการว่างงาน 75,000 ตำแหน่งในช่วงครึ่งปีหน้า โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออก เช่น การผลิต เหล็ก และอลูมิเนียม รวมถึงบางส่วนในภาคบริการ หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์จาก Deloitte มีความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้จะมีการปลดหรือเลิกจ้างงานในภาพรวม แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจวงกว้างและไม่ยืดเยื้อ โดยผลกระทบส่วนใหญ่จะมาจากภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการปรับเปลี่ยนระบบห่วงโซ่อุปทาน

หนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญและมีผลระยะยาวที่ Deloitte เน้นย้ำคือ ความเป็นไปได้ที่ข้อตกลงการค้า USMCA (ความตกลงการค้าเสรีระหว่างแคนาดา สหรัฐฯ และเม็กซิโก) จะถูกยกเลิก หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้สินค้าแคนาดาสูญเสียสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ GDP ที่แท้จริงของแคนาดาจะลดลงอย่างถาวรถึง
ร้อยละ 3 ภายในปี 2573

แม้ว่าภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจจะหลีกเลี่ยงได้ยากในระยะสั้น แต่ Deloitte มองว่า วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจของแคนาดา ทั้งในด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การลดอุปสรรคทางการค้าภายในประเทศ และการกระจายตลาดส่งออกสู่ภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ

ในระยะยาว Deloitte คาดว่าเศรษฐกิจแคนาดาจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2568 โดย GDP มีแนวโน้มเติบโตขึ้นราวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสสุดท้ายของปี หากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลแคนาดาชุดใหม่ที่นำโดยนายมาร์ค คาร์นีย์ สามารถตอบสนองต่อวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความคิดเห็น สคต.

แม้ว่าแคนาดาจะเพิ่งมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นำโดยนายมาร์ค คาร์นีย์ จากพรรคเสรีนิยม ซึ่งได้รับความคาดหวังจากประชาชนว่าจะสามารถบริหารจัดการกับสถานการณ์สงครามการค้าและแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2568 ได้ อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนความท้าทายที่ชัดเจน โดยข้อมูล GDP รายเดือนของแคนาดาในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 (ประกาศเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568) เศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ 0.2 ซึ่งถือเป็นสัญญาณของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อีกทั้งแคนาดายังเริ่มเผชิญผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งในช่วงปลายเดือนมกราคม 2568

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแคนาดาและผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อาจเป็นโอกาสสำคัญสำหรับไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในด้านการค้า เนื่องจากแคนาดามีนโยบายระยะยาวที่มุ่งลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ และหันไปสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและยุโรปมากขึ้น จึงถือแคนาดาว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขยายมูลค่าการค้ากับไทย โดยเฉพาะหากการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา สามารถหาข้อสรุปได้ โดยแคนาดาประเทศสมาชิก G7 ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อันเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการย้ายถิ่นฐาน (Immigration Policy) ที่ทำให้ประชากรของแคนาดาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แคนาดามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านคน จาก 38 ล้านคนเป็น 40 ล้านคนในปัจจุบัน คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 1.8 ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ แคนาดายังเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม ป่าไม้ ทองแดง ทองคำ นิกเกิล รวมถึงผลิตผลทางการเกษตร เช่น ธัญพืช ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ซึ่งไทยสามารถนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบต้นน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าส่งออกในอนาคต

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

*****************************************

thThai