สถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำของเยอรมนีได้ลดประมาณการทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้ลงอย่างหนัก โดยสำนักข่าว Handelsblatt เปิดเผยแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำคาดว่า ในปี 2025 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเติบโตเพียง 0.1% เท่านั้น (ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ที่น่าจะขยายตัวขึ้น 0.8%) อย่างไรก็ดี ในปีหน้าคาดว่า เศรษฐกิจของเยอรมันจะกลับมาเติบโตแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้งได้ โดยสถาบันต่างๆ คาดว่า GDP ของประเทศในปี 2026 น่าจะเติบโตที่ 1.3% ซึ่งเป็นการยืนยันการคาดการณ์ของช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2024 GDP ลดลง 0.2% จากการพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยสถาบันเศรษฐกิจชั้นนำ 5 แห่ง ได้แก่ (1) สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจเยอรมนี (DIW – Deutscher Institut für Wirtschaftsforschung) ประจำกรุงเบอร์ลิน (2) สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งลุ่มน้ำไรน์ และภูมิภาคเวสฟาเล่นส์ (RWI – Rheinisch-Westfälisches Institut für Wirtschaftsforschung) ณ เมือง Essen (3) สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) (4) สถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) ณ เมือง Kiel และ (5) สถาบัน Leibniz เพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจ แห่งเมือง Halle (IWH – Leibniz-Institut für Wirtschaftsforschung Halle) ในนามของกระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงานของรัฐบาลกลาง ได้นำเสนอผล “การพิจารณา/คาดการณ์ร่วม” อย่างเป็นทางการ ซึ่งรัฐบาลกลางสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับการประมาณรายได้ของรัฐ เพราะรายได้จากภาษีจะถูกประมาณบนพื้นฐานนี้ โดยสถาบันต่าง ๆ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเล็กน้อยในช่วงเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่เยอรมนีประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อในปี 2024 อยู่ที่ 2.2% ขณะนี้ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2025 จะอยู่ที่ 2.2% และในปี 2026 จะอยู่ที่ 2.1% นอกจากนี้ ตามการคาดการณ์ดังกล่าว อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรก อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ในปีนี้ (6.0% ในปี 2024) และในปีหน้าน่าจะลดลงเหลือ 6.2% หากเป็นไปตามการคาดการณ์ดังกล่าวหมายความว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเยอรมนีไม่เติบโตมากว่า 3 ปีแล้ว ขนาดที่วิกฤตเศรษฐกิจในอดีตกำลังขยายตัวเป็นวิกฤตเชิงโครงสร้างที่อาจทำให้ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศลดลงอย่างถาวรได้ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป โดยการศึกษาข้อมูลร่วมกันนี้ทำให้มีความหวังว่า ช่วงเวลาบนปากเหวหรือช่วง “เศรษฐกิจถดถอย” น่าจะสิ้นสุดลง เพราะการเติบโตของ GDP ที่จะแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ จนกลายเป็นคาดหวังของปี 2026 เช่นเดียวกับการเติบโตเล็กน้อยในปี 2025 นั้นยังเต็มไปด้วย 3 ปัจจัย ความไม่แน่นอนที่สำคัญ ได้แก่
- ความไม่แน่นอนของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาษีศุลกากรของ Trump
นาย Donald Trump ได้เริ่มสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ด้วยการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าจากทั่วโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป (EU) อีก 20% ซึ่งในตอนนี้ก็ยังคงระงับไว้ก่อน สำหรับผลกระทบในปัจจุบันยังคงยากที่จะประเมินได้ และไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขคาดการณ์ของการศึกษาฯ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีผลกระทบและแนวทางแก้ไขเป็นอย่างไร โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ในช่วงแรกผลกระทบอาจไม่รุนแรงมากนัก ล่าสุด IfW และ Ifo ประมาณการผลกระทบในระยะสั้นที่เกิดจาดภาษีศุลกากรดังกล่าวว่า GDP น่าจะลดลง 0.3% หากเรากำหนดระยะสั้นไว้ที่หนึ่งปี การคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2025 อาจติดลบเล็กน้อย นาย Clemens Fuest ประธาน Ifo กล่าวว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีอยู่ในภาวะซบเซาอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ที่มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงต่ำกว่าศูนย์เปอร์เซ็นต์” อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการประมาณการคร่าว ๆ เท่านั้น และเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่า อัตราภาษีจะมีผลอย่างไรต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งนี่ยังไม่รวมมาตรการตอบโต้ที่เป็นไปได้จาก EU นอกจากนี้ การขาดทุนครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ได้ โดยในปี 2026 ผลกระทบที่เกิดจากภาษีศุลกากรอาจกระจายตัวไปมากขึ้น ทำให้เกิดข้อกังกล อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า Trump และ EU จะจัดการกับภาษีศุลกากรอย่างไร โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างก็เห็นว่า ผลกระทบเชิงลบต่าง ๆ น่าจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ เองเป็นหลักมากกว่า
- การร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะช่วยลดความไม่มีเสถียรภาพลงได้
ปัจจัยสำคัญเรื่องหนึ่งเรื่องที่จะทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีอ่อนแอ ก็คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ลดความมั่นใจในการลงทุนในประเทศลง และการผู้บริโภคส่วนบุคคลไม่ขยายตัวตามปกติเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะบริโภคมากเท่าที่ควรจะเป็น โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนีเรียกได้ว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เมื่อรัฐบาลผสมเกิดความแตกแยกในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจนต้องยุบสภา ความไม่แน่นอนทางการเมืองก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง ขณะนี้ สถาบันต่าง ๆ เห็นว่า พรรคร่วมรัฐบาลในอนาคตน่าจะขจัดความไม่แน่นอนบางส่วนออกไป ซึ่งจะทำให้ภาคเศรษฐกิจมีความแน่นอนเกี่ยวกับแนวทางการเมืองมากขึ้น ภาคอกชน และการจัดสรรงบประมาณประเทศสามารถปรับตัวให้ไปในทิศทางที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการลดความไม่เชื่อมั่นของภาคเอกชน และการจัดสรรงบประมาณในระยะยาวได้หรือไม่ ในด้านหนึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนระบุว่า สัญญา MOU เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ ไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ในทางกลับกัน เสถียรภาพทางการเมืองของคณะรัฐบาลชุดใหม่เป็นสิ่งสำคัญ และเสถียรภาพนี้จะปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
- แรงผลักดันจากแพ็คเกจผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่ชัดเจน
ทิศทางที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นในปีหน้าน่าจะได้รับแรงผลักดันเป็นหลักจากแพ็คเกจแผนผลักดันเศรษฐกิจที่จัดสรรโดยกลุ่ม Union หรือกลุ่มสหภาพที่ประกอบด้วยพรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี (CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands) และพรรคสหภาพสังคมนิยมคริสต์เตียนแห่งนครรัฐบาวาเรีย (CSU – Christlich-Soziale Union in Bayern) และพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาร่วมกับพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ร่วมกันแก้ไขกฎหมายในรัฐธรรมนูญเพื่อยกเว้นการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศบางส่วนออกจาก Schuldenbremse (การรักษางบประมาณให้มีความสมดุลหรือ Balanced Budget Amendment) และจัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่า 500,000 ล้านยูโร ขึ้น เพื่อนำมาใช้กับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจ แต่จะเป็นไปตามต้องการนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะสามารถใช้เงินที่ว่างแผนไว้ได้เร็วแค่ไหน โดยเฉลี่ยแล้วระบบราชการของเยอรมันถือว่า มีประสิทธิภาพต่ำ ไม่สามารถนำเงินงบประมาณมาใช้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้ เพราะเป็นระบบราชการที่ซับซ้อน เช่น ขั้นตอนการวางแผนที่ใช้เวลานานเกินไปเป็นต้น ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สถาบันต่าง ๆ จะส่งการวินิจฉัยร่วมฉบับนี้ออกมา พวกเขาส่วนหนึ่งก็ได้เผยแพร่การประเมินอิสระของตนออกมาบ้างแล้ว ในเวลานั้นสถาบัน IfW ความหวังเป็นเชิงบวกว่า ประเทศน่าจะสามารถเข้าถึงเงินทุนข้างต้นได้อย่างรวดเร็ว และปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตปี 2026 จาก 0.9% เป็น 1.5% โดย “แพ็กเกจหนี้” ของ CDU/CSU และ SPD เพียงอย่างเดียวน่าจะสามารถสร้างการเติบโตให้กับ GDP ได้ 0.7% นาย Moritz Schularick ประธาน IfW กล่าวว่า “การใช้จ่ายผ่านการป้องกันประเทศที่วางแผนไว้สามารถกระตุ้นลึกถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีได้หากใช้จ่ายอย่างถูกต้อง” อย่างไรก็ตามสถาบันอื่น ๆ มองการปรับตัวนี้เชิงลบมากกว่า หรือไม่ได้คาดการณ์ว่า จะมีกระแสเงินไหลเวียนออกจาก “แพ็กเกจหนี้” สำหรับปี 2026 เนื่องจากรายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน สถาบัน Ifo ยังยึดมั่นกับการคาดการณ์การเติบโตไว้ที่ 0.% ในการวินิจฉัยร่วมกันฉบับนี้สถาบันทั้งสองดูเหมือนจะพบกันคร่าว ๆ ครึ่งทางว่า แต่แน่นอนสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนอย่างมาก
จาก Handelsblatt 2 พฤษภาคม 2568