ยอดขายสินค้าแว่นตาของแบรนด์ลักชัวรี่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่หลายแบรนด์เริ่มใช้กลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ตัวอย่างเช่น Ray-Ban ที่ได้แต่งตั้ง ASAP Rocky นักร้องเพลงแร็ปชื่อดัง เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์
นาย Francesco Milleri ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท EssilorLuxottica ผู้ผลิตแว่นตารายใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้าให้แว่นตากลายเป็นสินค้าแฟชั่นอันดับหนึ่งแทนรองเท้าผ้าใบ โดยอ้างอิงจากยอดขายและแนวโน้มตลาดในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะในช่วงที่สินค้าลักชัวรี่อื่น ๆ เผชิญกับภาวะชะลอตัว
รายงานผลประกอบการของ EssilorLuxottica ในไตรมาสแรกของปี 2025 ระบุว่าบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 โดยตลาดสหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดหลักแม้จะเติบโตเพียงร้อยละ 4 ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นที่อยู่ในช่วง ร้อยละ 9-10 ส่วนตลาดยุโรปเป็นภูมิภาคที่เติบโตมากที่สุด โดยรุ่น Ray-Ban Meta เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยขับเคลื่อนยอดขาย ผ่านกลยุทธ์การตลาดบนสื่อโซเชยลมีเดียอย่าง TikTok และ Instagram
ในด้านการออกแบบ ASAP Rocky ได้พัฒนาแว่นตารุ่นยอดนิยม เช่น Wayfarer, Clubmaster และ Balorama เพื่อสร้างความแปลกใหม่และดึงดูดตลาดรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันบริษัท EssilorLuxottica ถือสิทธิ์ในการผลิตแว่นตาให้กับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Prada, Moncler, Burberry และ Chanel ที่ได้แต่งตั้งศิลปินแร็ปอย่าง Kendrick Lamar เป็นแอมบาสเดอร์สินค้าแว่นตาเมื่อไม่นานนี้
ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษาการตลาด Nelly Rodi วิเคราะห์ว่า การเติบโตของตลาดแว่นตาส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์ ในการจับมือกับศิลปินแร็ปเปอร์ ซึ่งมีภาพลักษณ์สอดคล้องกับแฟชั่นแนวสตรีทและรองเท้าผ้าใบ โดยจุดเริ่มต้นการตลาดแบรนด์ลักชัวรี่ร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงมาจากแบรนด์ Louis Vuitton ที่แต่งตั้ง Pharrell Williams เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ และส่งผลให้สินค้าหลายรุ่นได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยเฉพาะแว่นตารุ่น Millionnaires
ด้านบริษัทคู่แข่งอย่าง Kering เจ้าของแบรนด์ Saint Laurent, Balenciaga และ Gucci ฯลฯ ทำการปรับกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายแว่นตาในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 คิดเป็นมูลค่า 476 ล้านยูโร ซึ่งสูงกว่ากลุ่มสินค้าความงามของบริษัทถึง 7 เท่า โดยยุโรปยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุด และ Kering ยังถือสิทธิ์ในการผลิตแว่นตาให้กับแบรนด์อื่น ๆ เช่น Chloé และ Montblanc จากกลุ่ม Richemont เจ้าของแบรนด์ Cartier
สำหรับ LVMH ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท Thélios ผู้ผลิตแว่นตาในเครือ ยังไม่ได้เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในตลาดสหรัฐฯ โดยมีแผนขยายตลาดแว่นตาผ่านแบรนด์แว่นตาฝรั่งเศส Vuarnet ที่ได้เข้าซื้อกิจการในปี 2023
แม้ยอดขายตลาดแว่นตาจะยังคงเติบโต แต่บริษัทต่าง ๆ ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และเอเชียที่มีภาวะชะลอตัวสูง EssilorLuxottica ซึ่งมีฐานการผลิตหลักในจีนและยอดขายกว่าครึ่งในสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม นาย Stefano Grassi ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของบริษัท ยืนยันว่าบริษัทได้เตรียมแผนรับมือในระยะสั้น โดยการกระจายสต็อกสินค้าไปยังหลายประเทศและปรับราคาสินค้าในตลาดสหรัฐฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ความเห็น สคต.
ในปี 2024 ประเทศไทยส่งออกสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในด้านทัศนศาสตร์ การถ่ายภาพ การถ่ายทำภาพยนตร์ การแพทย์ และศัลยกรรม (HS 90) ไปยังประเทศฝรั่งเศส รวมมูลค่า 290.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ร้อยละ 15.20 ส่งผลให้ไทยกลายเป็นคู่ค้าลำดับที่ 15 ของฝรั่งเศสในหมวดสินค้าดังกล่าว
สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดคือเลนส์แว่นตาทำด้วยวัสดุอื่น ๆ (HS 900150) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 207.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15.61 โดยไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของสินค้าประเภทนี้ให้กับฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นฐานการผลิตหลักของบริษัท EssilorLuxottica ผู้ผลิตแว่นตารายใหญ่ระดับโลก
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดแว่นตาในทวีปยุโรปจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย และหากโรงงานของ EssilorLuxottica ในจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้มีการย้ายหรือเพิ่มการผลิตมายังประเทศไทย โดยเฉพาะหากไทยมีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯต่ำกว่าจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของการส่งออกจากไทยสู่สหรัฐฯ ในอนาคต
ในขณะที่แว่นตาเริ่มกลายเป็นหนึ่งในสินค้าแฟชั่นที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก ผู้ประกอบการไทยด้านสินค้าแฟชั่นควรพิจารณาขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดแว่นตา เช่น แว่นกันแดดหรือ Accessories ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบรับแนวโน้มการเติบโตนี้
ทั้งนี้ ประเทศฝรั่งเศสจัดงานแสดงสินค้าแว่นตาระดับโลกเป็นประจำทุกปี ได้แก่งาน “SILMO Paris” ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–29 กันยายน 2568 ณ ศูนย์แสดงสินค้า Paris Nord Villepinte ชานกรุงปารีส ถือเป็นเวทีสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าร่วมเพื่อเปิดตลาด พบปะผู้ซื้อ และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับแบรนด์กว่า 1,500 รายจาก 42 ประเทศทั่วโลก
ที่มาของข่าว
Virginie Jacoberger-Lavoué
ข้อมูลจาก Les Echos
https://www.lesechos.fr/industrie-services/mode-luxe/comment-le-marche-des-lunettes-est-devenu-incontournable-pour-les-geants-du-luxe-2161704