ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ

ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EVs) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็น
อย่างมากในตลาดโลก โดยประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลก ได้แก่
ประเทศสหรัฐฯ ประเทศจีน และประเทศในทวีปยุโรป ตามลำดับ

ประเทศสหรัฐฯเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด เนื่องจาก
ชาวอเมริกันเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ตลอดจน ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

การเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากชาวอเมริกันในทุกระดับอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในระดับผู้บริโภค  ระดับครัวเรือน และระดับองค์กรหรือภาคธุรกิจ

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ

เว็บไซต์ www.marketwatch.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าวสารทางการเงิน
และเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศสหรัฐฯ เผยถึง สถิติการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567
และปี 2566 โดยในปี 2567 มียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก
ยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าของปี 2566 ที่มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน โดยมียอด
จำหน่ายเพิ่มขึ้น 300,000 คัน หรือสามารถคิดเป็นอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 21 ภายใน
ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

 

สำหรับรัฐที่พบว่ามีจำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศสหรัฐฯ ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐฟลอริดา รัฐเท็กซัส และรัฐวอชิงตัน ตามลำดับ ซึ่งรัฐเหล่านี้นับว่าเป็นรัฐที่เป็นผู้นำทางด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นรัฐที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนมีการส่งเสริมจากภาครัฐเป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทิศทางและศักยภาพของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อาทิ นโยบายรัฐ การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงความตื่นตัวของประชาชนต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ระบบคมนาคมแบบยั่งยืน

ความหมายของยนต์ไฟฟ้า (EVs)

ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicles (EVs) หมายถึง ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles: BEVs) โดยไม่ใช้เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม ยานยนต์ไฟฟ้าไม่มีการปล่อยไอเสียจากท่อไอเสีย จึงจัดอยู่ในกลุ่มยานยนต์ที่ปลอดมลพิษ (Zero-Emission Vehicles) ตามที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency: EPA) กำหนด

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศสหรัฐฯ คือ ยานยนต์ไฟฟ้าช่วยลดการปล่อยมลพิษและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลดีต่อธรรมชาติ สัตว์ และมนุษย์ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพการใช้งานของแบตเตอรี่ที่มีการพัฒนาให้มีอายุการใช้งานเฉลี่ยระหว่าง 8 ถึง 15 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความทนทานและความคุ้มค่าต่อการใช้งานในระยะยาว รวมทั้ง บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ส่วนใหญ่นั้นรับประกันแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้าของตัวยานยนต์เป็นระยะเวลา 8 ปี หรือเมื่อใช้งานถึง 100,000 ไมล์ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ และปัจจัยสุดท้าย คือ รัฐบาลสหรัฐฯมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเห็นได้จากพระราชบัญญัติโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Investment and Jobs Act) ปี 2564 และพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ปี 2565 ซึ่งจัดสรรงบประมาณกว่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้าภายในประเทศ

ยี่ห้อยานยนต์ไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในประเทศสหรัฐฯ ได้แก่ ยี่ห้อ Tesla ร้อยละ 48.2  ยี่ห้อ Ford ร้อยละ 6.8 ยี่ห้อ Chevrolet ร้อยละ 5.8 และยี่ห้ออื่นๆ ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ผลิตยานยนต์หลายรายได้ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนในการปรับเปลี่ยนการผลิตยานยนต์แบบใช้น้ำมันมาสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยแบรนด์รถยนต์ Jaguar ได้ตั้งเป้าที่จะปรับโฉมแบรนด์และให้ความสำคัญในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2568 ในขณะที่ยานยนต์ยี่ห้อ Mitsubishi ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2573 และจะเปลี่ยนให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2578 และแบรนด์ Toyota ตั้งเป้าที่จะให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นร้อยละ 20 ของยอดการผลิตภายในปี 2569

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้ายังคงประสบกับข้อจำกัดจากหลากหลายปัจจัย ได้แก่ ความต้องการของผู้บริโภค และราคาวัตถุดิบที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรม

สำหรับรัฐที่มีการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศสหรัฐฯ โดยคำนวณจากจำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าต่อจำนวนประชากรในรัฐ ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เนีย คิดเป็นร้อยละ 3.22 รัฐวอชิงตัน คิดเป็นร้อยละ 1.95 รัฐฮาวาย คิดเป็นร้อยละ 1.78 รัฐโคโลราโด
คิดเป็นร้อยละ 1.53 รัฐโอเรกอน คิดเป็นร้อยละ 1.52 รัฐเนวาดา คิดเป็นร้อยละ 1.48
และรัฐนิวเจอร์ซีย์ คิดเป็นร้อยละ 1.45 ตามลำดับ (ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2566)

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ

ในทางกลับกัน รัฐที่มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าต่อประชากรต่ำที่สุดในสหรัฐฯ ได้แก่
รัฐมิสซิสซิปปี คิดเป็นร้อยละ 0.12 รัฐนอร์ทดาโคตา คิดเป็นร้อยละ 0.13 และรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย คิดเป็นร้อยละ 0.16  เป็นต้น

ภาพที่แสดงข้อมูลข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าของแต่ละรัฐ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีมาตรการสนับสนุนชาวอเมริกันในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าด้วยระเบียบว่าด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566 โดยได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ไว้ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีมูลค่าสูงสุด 7,500 เหรียญสหรัฐ โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ต้องมีราคาจำหน่ายไม่เกิน 80,000 เหรียญสหรัฐ และสำหรับรถยนต์ประเภท SUV และ Pickup Truck ต้องมีราคาจำหน่ายไม่เกิน 55,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับรถยนต์ประเภท Sedans Hatchbacks Coupes Wagons Convertibles และ Minivans เป็นต้น นอกจากนี้ น้ำหนักรวมของรถต้องไม่เกิน 14,000 ปอนด์ ตลอดจนต้องสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 7 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) และอีกหนึ่งข้อกำหนดสำคัญ คือ ยานยนต์ต้องได้รับการประกอบขั้นสุดท้ายภายในภูมิภาคอเมริกาเหนือเท่านั้น จึงจะมีสิทธิรับเครดิตภาษีดังกล่าว

แม้ว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกที่ส่งเสริมความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นด้านข้อจำกัดที่ต้องได้รับการพัฒนาอีกหลายประการ อาทิ ราคาที่เหมาะสม ความสะดวกในการใช้งาน และความมั่นใจของผู้บริโภค การสนับสนุนจากภาครัฐ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ยานยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นทางเลือกหลักของระบบขนส่งในอนาคตอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก

เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้านั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีเอกลักษณ์ และความโดดเด่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ทั้งในด้านของวัสดุ การออกแบบ คุณประโยชน์ มาตรฐาน และการใช้งาน

อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่มีการเติบโตต่อเนื่อง สำหรับประเทศสหรัฐฯนั้นนับว่าเป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ตลอดจนชาวอเมริกันมีศักยภาพในการซื้อในระดับที่สูง อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดนี้ จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน อาทิ ด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้า การปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานรัฐ การวิเคราะห์ตลาดสินค้า และการสร้างตัวตนของแบรนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่ากลยุทธ์ทางการตลาดยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยผลักดันยอดขาย และขับเคลื่อนความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมความพร้อมในปัจจัยเหล่านี้ เพื่อให้สามารถนำสินค้าไทยเข้าสู่ตลาสหรัฐฯ ได้อย่างมีศักยภาพ

ที่มา: https://www.marketwatch.com/insurance-services/auto-insurance/electric-vehicle-statistics/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

thThai