เนื้อข่าว

เวียดนามเตรียมต้อนรับสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯ หลายรายการในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น หลังจากมีการปรับลดภาษีนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 ตามกฤษฎีกาหมายเลข 73/2025/NĐ-CP ที่รัฐบาลเวียดนามประกาศใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างเสรีทางการค้ากับคู่ค้าหลัก และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

มาตรการใหม่นี้ครอบคลุมการลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร รถยนต์ และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมหลัก เช่น น่องไก่แช่แข็งลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 15 ส่วนถั่วพิสตาชิโอ อัลมอนด์ แอปเปิลสด เชอร์รี และลูกเกด ลดจากร้อยละ 8 – 12 เหลือเพียงร้อยละ 5 ขณะที่ข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์และกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ ถูกยกเว้นภาษีนำเข้าโดยสิ้นเชิง

การปรับลดภาษีในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้บริโภคเวียดนามเข้าถึงสินค้านำเข้าได้ง่ายขึ้น
ในราคาที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดภาษีสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร เช่น รถยนต์พิกัดศุลกากร 8703.23.63 และ 8703.23.57 ลดภาษีจากร้อยละ 64 เหลือร้อยละ 50 และรถยนต์พิกัดศุลกากร 8703.24.51 ลดภาษีจากร้อยละ 45 เหลือร้อยละ 32 รวมถึง เอทานอลที่ลดจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ที่ลดจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2 ขณะที่สินค้าไม้พิกัดศุลกากร 44.21, 94.01 และ 94.03 ที่เคยเสียภาษีร้อยละ 20 – 25 ก็ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดให้กับเวียดนาม มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ฝ้าย ถั่วเหลือง และถั่วเปลือกแข็ง ไปยังเวียดนามสูงถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567 คิดเป็นกว่าหนึ่งในสี่ของการส่งออกทั้งหมดจากสหรัฐฯ สู่เวียดนาม การลดภาษีครั้งนี้จึงน่าจะช่วยกระตุ้นการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

นักเศรษฐศาสตร์ Dinh Trong Thinh ชี้ว่า มาตรการนี้จะทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกสินค้าที่หลากหลายขึ้นในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย และช่วยให้สินค้าจำเป็นส่งถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ภาคการเลี้ยงสัตว์จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการยกเลิกภาษีนำเข้าข้าวโพด ซึ่งในปี 2567 เวียดนามมีการนำเข้าข้าวโพดมูลค่าถึง 3,040 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากปี 2566

ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกผลไม้ของสหรัฐฯ ก็มองเห็นโอกาสใหม่ในตลาดเวียดนาม แม้ว่า
ก่อนหน้านี้อัตราภาษีที่สูงจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงตลาดก็ตาม ความต้องการผลไม้สหรัฐฯ เช่น แอปเปิล องุ่น เชอร์รี และส้ม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 เวียดนามนำเข้าผลไม้และผักจากสหรัฐฯ มูลค่าเกือบ 550 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับปี 2566 ทั้งนี้ เวียดนามและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเปิดตลาดให้กับผลไม้ชนิดใหม่ ๆ เช่น ส้มเขียวหวาน มะนาว และลูกพลัม ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะยิ่งช่วยขยายโอกาสทางการค้าให้กว้างขึ้นอีก

โดยภาพรวม การลดภาษีนำเข้าในครั้งนี้เป็นความพยายามสำคัญของเวียดนามในการแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า และยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2568)

วิเคราะห์ผลกระทบ

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของเวียดนามเผยว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 เวียดนามมีมูลค่านำเข้าผักและผลไม้รวมทั้งสิ้น 595.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 โดยสินค้าจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 27 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด รองจากจีน ที่ยังคงเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจคือ การนำเข้าผักและผลไม้จากสหรัฐฯ มีการเติบโตอย่างโดดเด่น โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53.1 เมื่อเทียบกับปี 2567 ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตนี้มาจากการลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ เช่น แอปเปิล องุ่น เชอร์รี ส้ม และลูกเกด ที่ลดภาษีลงเหลือเพียงร้อยละ 5 ซึ่งทำให้สินค้าจากสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในเวียดนามได้ง่ายขึ้นและตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ที่มีอำนาจการซื้อสูง

กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของเวียดนามคาดว่า การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ จะยังคงเติบโตต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 และในระยะถัดไป โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล องุ่น บลูเบอร์รี่ ลูกแพร์ และพลัม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของเวียดนาม

การดำเนินนโยบายลดภาษีของเวียดนามไม่ได้แค่ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคในประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ได้มากขึ้น แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลเวียดนามในการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้า รัฐบาลเวียดนามยังคงเดินหน้าเร่งเจรจาเปิดตลาดสำหรับผลไม้ใหม่ ๆ จากสหรัฐฯ เช่น ส้มเขียวหวาน มะนาว และลูกพลัม พร้อมทั้งยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ และทำให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคในราคาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

มาตรการลดภาษีนำเข้าดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้ผู้บริโภคเวียดนามมีทางเลือกสินค้าที่หลากหลายจากสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังช่วยลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการปรับตัวต่อสภาพเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่นโยบายการค้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเข้มงวดมากขึ้น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อวัว ข้าวโพด และข้าวสาลี ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีอุปทานส่วนเกิน ถือเป็นวิธีสำคัญในการลดแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศให้แข็งแกร่งและยั่งยืน

การปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าและการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ที่มุ่งรักษาความสมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว ในยุคที่การค้าระหว่างประเทศมีความท้าทายและไม่แน่นอน

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

การลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกาโดยเวียดนามตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในนโยบายการค้าของเวียดนาม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ทำให้สินค้าจากสหรัฐฯ สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดเวียดนาม และเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน เวียดนามกำลังพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้มีช่องทางในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยที่มีความใกล้ชิดทั้งในด้านเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจในเวียดนาม ถือเป็นโอกาสสำคัญในการใช้เวียดนามเป็นฐานการแปรรูปสินค้าเกษตร หรือจุดกระจายสินค้าไปยังประเทศในภูมิภาคซึ่งมีเส้นทางโลจิสติกส์สะดวกและกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ในเวียดนามจะทำให้การขนส่งสินค้ารวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถเข้าไปให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้บริการคลังสินค้าห้องเย็น (Cold Storage) การแปรรูปเบื้องต้น (Primary Processing) หรือการสร้างระบบกระจายสินค้าภายในเมืองใหญ่ของเวียดนามที่มีการบริโภคสินค้าเกษตรสูง เช่น นครโฮจิมินห์ เมืองดานัง หรือกรุงฮานอย

การลดภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ยังเป็นโอกาสในการเป็นพันธมิตรทางการตลาดกับผู้ส่งออกจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าประเภทผลไม้และโปรตีนพรีเมียม เช่น แอปเปิ้ล องุ่น และบลูเบอร์รี่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในตลาดเวียดนาม อย่างไรก็ตาม การที่สินค้าจากสหรัฐฯ มีราคาต่ำลงจะทำให้การแข่งขันในตลาดสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเตรียมพร้อมโดยการพัฒนาคุณภาพสินค้า การรับรองมาตรฐาน และการสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การลดภาษีนี้จึงถือเป็นโอกาสในการขยายบทบาทในห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกระจายสินค้า และการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับทั้งสหรัฐฯ และเวียดนาม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทยในระยะยาว

thThai