เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง ค่าครองชีพพุ่งสูง ทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวจากการระมัดระวังการใช้จ่าย ภาคธุรกิจค้าปลีกจึงเร่งดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยใช้กระแสความนิยมตะวันตก เช่น การลดราคา หรือจัดโปรโมชั่นพิเศษช่วงเทศกาลต่างๆ
ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่จัดเทศกาลลดราคาพิเศษ “Black Friday” ช่วงเทศกาล Thanksgiving ในเดือนพฤศจิกายน ตามกระแสนิยมอเมริกัน ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2559 เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสิ้นปี โดยในปีนี้ มีการจัดเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 5 อาทิ
– Ito Yokado จัด “Black Friday” ยิ่งใหญ่กว่า 7 ครั้งที่ผ่านมา ใน 106 สาขาทั่วประเทศ ระยะเวลา 17 วัน จำนวนผลิตภัณฑ์เข้าร่วมกว่า 358 รายการ (มากกว่าปีที่ผ่านมา 1.5 เท่า) รวมถึงจัด “Treasure Shopping Relay” บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยให้ส่วนลดสูงสุดถึงร้อยละ 50 และใช้ลูกเล่นในการเล่นคำ “96” (คุโระ หมายถึง สีดำในภาษาญี่ปุ่น) ในการตั้งราคาขายสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงเนื้อวากิวที่ปกติมีราคาสูง ที่ 196 เยน และ 960 เยน
– Aeon จัดยิ่งใหญ่กว่า 8 ครั้งที่ผ่านมา ใน 600 สาขาทั่วประเทศ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยมีสินค้าเข้าร่วมแคมเปญกว่า 2,000 รายการ ทั้งนี้ ใช้กลยุทธ์ที่ต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสินค้า อาทิ การให้คูปองส่วนลดสินค้าอาหารกว่า 278 รายการ รวมถึงเนื้อคุโรเกะวากิว และผักต่างๆ การเพิ่มปริมาณผลิตภัณฑ์ในราคาเดิม สำหรับผัก การให้ส่วนลดร้อยละ 50 สำหรับสินค้ากระเป๋านักเรียน และการจำหน่ายสินค้า Limited เช่น ผลิตภัณฑ์ Hello Kitty รุ่นพิเศษฉลองการครบรอบ 50 ปี และสินค้าตามฤดูกาลเช่น ปูขน
ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น (รวมอาหาร และเชื้อเพลิง) อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.3 ซึ่งเกินเป้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ร้อยละ 2 อีกทั้งเงินเยนอ่อนค่า ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ทั้งการลดปริมาณ บริโภคสินค้าราคาถูกทดแทน รวมถึงซื้อสินค้าลดราคา หรือมีโปรโมชั่น
————————————————————————
ที่มา :
https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUC131PS0T11C24A1000000/
https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUC2967W0Z21C24A0000000/