สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ประกาศตัวเลข Nominal GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน ซึ่งวัดจากมูลค่าของสินค้าและบริการตามราคาปัจจุบัน) ว่าในปี 2566 Nominal GDP ต่อคนของญี่ปุ่นอยู่ที่ 33,849 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.21 ล้านบาท) โดนเกาหลีใต้แซงหน้าจนตกไปอยู่อันดับที่ 22 ของกลุ่มประเทศ OECD โดยมีปัจจัยจากค่าเงินเยนอ่อนและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวและผลิตภาพแรงงานต่ำลง
ในปี 2566 มูลค่ารวม Nominal GDP คือ 4,213.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.37 แสนล้านบาท) เป็นส่วนแบ่ง GDP ต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ 4% ของโลก ตามหลังสหรัฐอเมริกาที่ 25.9%, จีน 16.8% และเยอรมนี 4.3% ตามลำดับ
Nominal GDP ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ขนาดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหรือภูมิภาค โดยคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมูลค่าจริงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะคำนวณจาก GDP เป็นสกุลเงินเยน ในขณะที่การเปรียบเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์จะเป็นตัวชี้วัด “พลังทางเศรษฐกิจ” ของแต่ละประเทศ ปัจจัยหลักที่ส่งผลคืออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในการคำนวณ GDP ครั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 140.5 เยน สำหรับปี 2567 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนคือ 151.3 เยน ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ GDP ในเชิงลบมากยิ่งขึ้น จากการคำนวณของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าในปี 2567 ญี่ปุ่นจะถูกไต้หวันแซงหน้าในแง่ของ GDP ต่อคน
นอกจากปัญหาค่าเงินเยนอ่อนแล้ว ยังมีการชี้ให้เห็นถึงความต่ำของผลิตภาพแรงงานของญี่ปุ่นอีกด้วย ตามข้อมูลจากศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งญี่ปุ่น (Japan Productivity Center) ในปี 2566 ผลผลิตแรงงานต่อชั่วโมงของญี่ปุ่นอยู่ที่ 56.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 29 ของประเทศสมาชิก OECD โดยปัญหาหลักคือผลิตภาพแรงงานของญี่ปุ่นที่ตามหลังเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่า การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล (DX) และการพัฒนาทักษะใหม่ (reskilling) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ญี่ปุ่นมีครัวเรือนที่มีสมาชิกอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดแล้ว และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพียงแค่การพยายามเพิ่มค่าแรงจากฝั่งบริษัทเอกชนอาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้ จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไดอิจิเซเม กล่าวว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้า คนรุ่นเศรษฐกิจฟองสบู่ (Economic Bubble) จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งหมด หากไม่เปลี่ยนแปลงระบบการจัดหาแรงงานจากผู้สูงอายุ ปัญหานี้จะไม่สามารถแก้ไขได้ในแง่ของการเพิ่มรายได้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ค่าเงินเยนอ่อนลงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปี 2566 และคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปในปี 2567 โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ความต้องการการบริโภคภายในประเทศและความต้องการการนำเข้าจะค่อยๆ ลดลง ผู้ส่งออกไทยที่ทำธุรกิจกับญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม นอกจากนี้ การชะลอตัวของการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่น การลดลงของนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นไปยังไทย ตลอดจนการลดยอดการบริโภคจะส่งผลกระทบไปในหลายๆ ด้านเช่นกัน
โอกาสใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทย
ในอีกทาง รัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ โดยการยกเลิกการเกษียณอายุและการส่งเสริมการหางานใหม่สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อกลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ ทั้งในด้านจำนวนคนและมูลค่าการบริโภค โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งหมด 26.88 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนสะสมทั้งหมดของปี 66 และมูลค่าการบริโภคอยู่ที่ 5.86 ล้านล้านเยน จึงคาดว่าตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงขยายตัวต่อไปในอนาคต
ฉบับที่ 13 ประจำวันที่ 21 – 27 ธันวาคม 2567
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei Shimbun ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม 2567