อินโดนีเซียทบทวนกฎระเบียบการนำเข้าหลังกลุ่มธุรกิจร้องเรียน

เจ้าหน้าที่กระทรวงการค้าอาวุโส ระบุเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าอินโดนีเซียกำลังประเมิน กฎระเบียบที่ออกมาเพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์มากกว่า 3,000 รายการ เนื่องจากความกังวลด้านอุตสาหกรรมการผลิต กฎเกณฑ์ดังกล่าวอาจขัดขวางห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและเป็นอุปสรรคการส่งออก

อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกกฎระเบียบ เมื่อปลายปีที่แล้วเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าจำนวนมาก ตั้งแต่ส่วนผสมอาหาร เครื่องมือช่าง ไปจนถึงสารเคมี เจ้าหน้าที่กล่าวว่าการออกระเบียบนี้เพื่อตอบสนองต่อข้อร้องเรียน จากสมาคมธุรกิจเกี่ยวกับผลกระทบต่อตลาดท้องถิ่นจากการไหลเข้าของสินค้านำเข้าที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การออกกฎระเบียบดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ได้จำกัดการเข้าถึงวัตถุดิบบางส่วนที่กลุ่มธุรกิจต้องการใช้ในห่วงโซ่การผลิต“ทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การประเมิน เรายังคงประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” เจ้าหน้าที่กระทรวงการค้า นายบูดี ซานโตโซ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการร้องเรียนและคำเตือนเรื่องการขาดแคลนในห่วงโซ่การผลิตต่อกระทรวงการค้าเมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงการค้าได้ผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องบิน และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก แต่กลุ่มธุรกิจยังคงมองว่าควรต้องมีการ ผ่อนคลายกฎระเบียบเพิ่มเติมอีก

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ห้ามการนำเข้าภายใต้กฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน แต่มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างสินค้า ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ จะต้องได้รับใบอนุญาตและต้องตรวจสอบสินค้าที่ด่านศุลกากร

สมาคมผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มแห่งอินโดนีเซีย (GAPMMI) กล่าวว่าจากข้อจำกัด ในการนำเข้าส่วนผสมอาหาร เช่น ส่วนผสมเสริมอาหาร ทำให้สต๊อกในปัจจุบันจะอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น โดยส่วนผสมเสริมอาหารซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการได้รับคำสั่งจากสำนักมาตรฐานแห่งชาติให้ ผสมลงในอาหารแปรรูป เช่น แป้งและน้ำมันปรุงอาหาร “เราไม่ต้องการให้รวมวัตถุดิบไว้ (ในรายการข้อจำกัด) หากจำกัดผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับวัตถุดิบไม่ควรทำให้ซับซ้อน” ประธาน GAPMMI กล่าว

ส่วนหอการค้าและอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียกล่าวว่าข้อจำกัดที่กำหนดเป้าหมายอย่างไม่เหมาะสม อาจขัดขวางการดำเนินการในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก รวมถึงยานยนต์ การถลุงแร่ และการผลิต ทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาคอาหารและเครื่องดื่ม

ความคิดเห็นของสำนักงาน

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างเข้มแข็ง รัฐบาลมีนโยบายพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency Policy) ซึ่งกำหนดเป้าหมายด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศกว่าจะต้องมาจากสินค้าภายในประเทศร้อยละ 90 ภายในปีนี้ และมีนโยบายปกป้องตลาดภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และเพิ่มการจ้างงานในประเทศ และนำเข้าเท่าที่จำเป็น  อย่างไรก็ตาม แม้จะทำให้มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ  แต่นโยบายนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศด้วยเช่นกันทำให้ผลิตภัณฑ์ในประเทศมีจำกัด การแข่งขันในตลาดลดลง ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นและกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอินโดนีเซียเอง  ผู้กำหนดนโยบายจะต้องสร้างสมดุล ระหว่างมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างระมัดระวังกับความจำเป็นในการส่งเสริมสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้า จำเป็นต้องมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีกรอบการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น และปรับนโยบายตามผลกระทบตามความเป็นจริงด้วย

thThai