ปัจจุบันอุตสาหกรรมไอศกรีมในประเทศจีนมีการพัฒนาและการขยายตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์ตลาดอุตสาหกรรมไอศกรีมของจีนในปี 2566 ขนาดตลาดอุตสาหกรรมไอศกรีมมีมูลค่าสูงถึง 160,000 ล้านหยวน ซึ่งตั้งแต่ช่วงปี 2560-2566 อัตราการเติบโตทบต้นเฉลี่ยต่อปี (CAGR)ร้อยละ 9.6 คาดว่าภายในปี 2569 ขนาดของตลาดอุตสาหกรรมไอศกรีมจะเติบโตถึง 250,000 ล้านหยวน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 9.2 ตั้งแต่ปี 2566-2569

 

ไอศกรีมไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ ครองใจผู้บริโภคจีนเกิน 48 %

 

ข้อมูลจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคชาวจีนพิจารณาในการซื้อไอศกรีม ได้แก่ รสชาติ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.85 ซึ่งรสชาติที่แปลกใหม่เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการบริโภคไอศกรีมของชาวจีนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ตลาดไอศกรีมในปัจจุบันมีการพัฒนาไม่ใช่แค่     ทำเพื่อมีรสหวานเพียงรสชาติเดียว แต่มีการขยายรสชาติอื่นๆที่ให้ประสบการณ์แตกต่างกันเพิ่มเติมขึ้นในตลาดไอศกรีม อาทิ หวาน เปรี้ยว เค็ม แม้กระทั่งรสเผ็ด แต่ทั้งนี้การทำธุรกิจก็ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ในอุตสาหกรรมไอศกรีม ความคุ้มทุนเป็นปัจจัยหลักในบางกลุ่มผู้บริโภคเช่นกัน ไอศกรีมบางยี่ห้อเน้นความประหยัด ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสินค้าที่ชื่นชอบใหม่ของผู้บริโภค ข้อมูลจาก O2O ในเดือนพฤษภาคม 2566 แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในช่วงราคา 1-3 หยวน มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดถึงร้อยละ 34 โดยรวมแล้ว โครงสร้างราคาของผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในราคา 1-10 หยวน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดโดยรวมมีแนวโน้มไปทางสินค้าราคาสูง ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มราคาไอศกรีมที่สูงกว่า 10 หยวน ยังคงมีเสถียรภาพ

 

      ปริมาณการบริโภคไอศกรีมต่อหัวของจีนยังสู้ประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วไม่ได้

 

แม้ว่าจากการวิเคราะห์การขยายตลาดไอศกรีม ในปี 2566 พบว่ามีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจแต่ ทั้งนั้น ระดับการบริโภคไอศกรีมต่อหัวของจีนยังต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

ไอศกรีมไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ ครองใจผู้บริโภคจีนเกิน 48 %

 

ข้อมูลการบริโภคไอศกรีมต่อหัวของจีนในปี 2566 อยู่ที่ 2.9 กิโลกรัม แต่ในขณะที่การบริโภคไอศกรีม ต่อหัวของญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 4 เท่าของการบริโภคในจีน และการบริโภคต่อหัวของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 9 เท่าของจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของโลก การบริโภคไอศกรีมต่อหัวในจีนมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยช่องว่างลดลงจาก 1.9 กิโลกรัมในปี 2559 เหลือ 1.6 กิโลกรัมในปี 2566

 

แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคไอศกรีมจีน

 

การบริโภคเพื่อเน้นสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบัน

นอกเหนือจากรสชาติและราคาที่คุ้มค่าแล้ว การผลิตไอศกรีมเพื่อเน้นสุขภาพกลายเป็นข้อดีในการบริโภค บริษัทไอศกรีมในประเทศจีนได้เห็นความสำคัญด้านสุขภาพ ทำการสำรวจการบริโภคเพื่อสุขภาพ พบว่า ผู้บริโภคจีนชื่นชอบผลิตภัณฑ์ไอศกรีมที่มีไขมันต่ำ แคลอรี่ต่ำ น้ำตาลต่ำ และปราศจากน้ำตาล โดยความต้องการบริโภคไอศกรีมไขมันต่ำและน้ำตาลต่ำของผู้บริโภคชาวจีนอยู่ที่ร้อยละ 48 ซึ่งผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับแรก ดังนั้น ส่วนผสมจากพืช โปรตีนสูงจากธรรมชาติได้กลายเป็นส่วนผสมหลักที่ให้ประโยชน์ในการบริโภคไอศกรีมที่เน้นสุขภาพ

 

พฤติกรรมการบริโภคไอศกรีมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

ในอดีตการบริโภคไอศกรีมส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน เพื่อคลายร้อน แต่ปัจจุบัน การบริโภคไอศกรีมกลายเป็นการจำหน่ายตลอดทั้งปี จากการวิเคราะห์ของ iiMedia Consulting พบว่าไอศกรีมได้เปลี่ยนจากเครื่องดื่มแช่แข็งเพื่อคลายร้อนมาเป็น อาหารว่างคุณภาพสูงที่หลากหลาย ทั้งนี้จากข้อมูลรายงานว่าร้อยละ 93 ของการเลือกอาหารขึ้นอยู่กับการมองเห็น และสีเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเลือกซื้อไอศกรีม สถาบันวิจัยผู้บริโภคและการพัฒนาอุตสาหกรรมจิงตง พบว่า จากรายงานการสังเกตการบริโภคไอศกรีมฤดูร้อนปี 2023 อัตราการเติบโตของไอศกรีมที่มีสีสันและรสชาติที่แปลกใหม่นั้นได้รับความสนใจมากกว่าแบบดั้งเดิมที่เป็นสีขาวดำ

 

สร้างสรรค์ไอศกรีมเชื่อมโยงวัฒนธรรมจีนเข้าด้วยกัน

ความต้องการของผู้บริโภคในจีนสำหรับไอศกรีมมีความต้องการที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น รสชาติที่       เรียบง่ายไม่เป็นที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันเท่าที่ควร จีนให้ความสำคัญกับการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาหลอมรวมกันสร้างผลิตภัณฑ์ไอศกรีมใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 ถึงต้นปี 2565 บริษัทไอศกรีมในจีนเริ่มวางจำหน่ายไอศกรีมเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เช่น แบรนด์ Pullala (普拉拉), Baisiyuan, Deshi, Komiku และ Zhizenzhen ผ่านทางช่วยเหลือของการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและช่องทางดั้งเดิม นำสถานที่จุดชมวิวสำคัญต่างๆของจีนไปสร้างสรรค์เป็นไอศกรีมโดยจัดจำหน่ายผ่านทางร้านสะดวกซื้อและร้านโฮมเมด หรือแม้แต่ Haidilao ก็เปิดตัวจำหน่ายไอศกรีมเชิงวัฒธรรม โดยใช้ข้าวโอ๊ต ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค นอกจากนี้ Hengshun บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องปรุงรสก็ได้เปิดตัวไอศกรีมเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่ประกอบด้วยซีอิ๊วขาว น้ำส้มสายชู ไวน์ข้าว และรสชาติอื่นๆ

 

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : แนวโน้มการบริโภคส่วนบุคคลในจีน ปัจจุบันมีความแตกต่างและหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ช่องทางโอกาสใหม่ๆ ของสินค้าไอศกรีมในตลาดจีนจึงควร สร้างสรรค์ไอศกรีมรสชาติที่แปลกใหม่ สีสันน่าดึงดูดรวมถึงการผสมผสานนำวัฒนธรรมจีนเข้ามาประยุกต์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่  รวมถึงผู้บริโภคจีนในปัจจุบันได้ให้ความสนใจกับสุขภาพเป็นสำคัญโดย เน้นที่การนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ โปรตีนสูงมาเป็นส่วนประกอบไอศกรีม ไอศกรีมแคลลอรี่ต่ำ น้ำตาลน้อย หรือ ปราศจากน้ำตาลเป็นไอศกรีมที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคจีนในปัจจุบัน

ข้อมูลสถิติจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าจีนนำเข้าไอศกรีม (HS Code : 2105) จาก ทั่วโลก ปี 2566 มูลค่า 103,408,543 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่ม ร้อยละ 40.49 โดยนำเข้าจากตลาดหลัก ได้แก่ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และ เกาหลีใต้ คิดเป็นมูลค่า 34.67 ล้าน, 13.48 ล้าน,    10.97 ล้าน, 10.82 ล้าน และ 7.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ จีนนำเข้าจากไทย เป็นอันดับที่ 11 คิดเป็นมูลค่า 1,776,050 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ -5.11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.72 ของการนำเข้าไอศกรีมจากทั่วโลก โดยนำเข้าผ่านทาง 5 อันดับแรก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กว่างตง ปักกิ่ง ซานตง และ ฝูเจี้ยน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.38 ของการนำเข้าจากทุกมณฑล โดยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.12 สินค้าไอศกรีม จึงเป็นสินค้าที่มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดจีน อย่างไรก็ดี ความท้าท้ายในตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากแบรนด์ต่างชาติและแบรนด์ท้องถิ่นเอง การรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของไอศกรีมเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนเปลงของรสนิยมของผู้บริโภค

ที่มา

https://mp.weixin.qq.com/s/070TwYK5u-5YlRXg2C8IAQ

https://mp.weixin.qq.com/s/DrYoiwFCOHeV8tkbZX6KHQ

Global Trade Atlas

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

17 เมษายน 2567

 

 

thThai