ยอดค้าปลีกโดยรวมของจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 สำนักข่าวแห่งชาติจีนมีการจัดงานประชุมแถลงข่าวผลการดำเนินงานเศรษฐกิจของประเทศ โดยนาย Sheng Laiyun รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวว่ายอดค้าปลีกโดยรวมของจีน ในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 มีมูลค่า 12,032,700 ล้านหยวน อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลต่ออัตราการขยายตัว (Contribution Rate) ของ GDP สูงถึงร้อยละ 73.7 กล่าวได้ว่า มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ตลาดค้าปลีกของจีนในช่วงเวลาดังกล่าวมีจุดเด่นดังนี้

มูลค่าตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดชนบทมีการเติบโตอย่างเสถียร

ในช่วงไตรมาสแรก ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมมีมูลค่า 12,032,700 ล้านหยวน อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ในจำนวนดังกล่าว ยอดค้าปลีกในเมืองมีมูลค่า 10,428,000 ล้านหยวน อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 หลังจากหักปัจจัยด้านราคาแล้ว อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจริงอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ด้วยเหตุว่ารายได้ของขาวชนบทมีการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็ว ระบบและโครงสร้างการค้ามีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยอดค้าปลีกโดยรวมของอำเภอและชนบทมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.1 ของมูลค่าโดยรวม

ยอดค้าปลีกด้านบริการมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการบริโภคด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ในช่วงไตรมาสแรก ยอดค้าปลีกด้านบริการโดยรวมมีอัตราขยายตัวร้อยละ 10 จากความประสงค์ด้านการเดินทางของประชาชน ทำให้ตลาดการท่องเที่ยวมีการอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ธุรกิจด้านอาหาร การคมนาคมขนส่ง ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรายได้ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม มีอัตราขยายตัวร้อยละ 10.8 การแสดงเชิงพาณิชย์ (ไม่รวมการแสดงในสถานบันเทิง) มีจำนวนรอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.71 ในขณะเดียวกัน รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 116.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

การบริโภคออนไลน์ได้คงอัตราการขยายตัวเป็นเลขสองหลัก

ในช่วงไตรมาสแรก ยอดค้าปลีกของสินค้าที่จับต้องได้ผ่านช่องทางออนไลน์มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ในจำนวนดังกล่าว สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทของกิน ผลิตภัณฑ์สวมใส่ และของใช้ มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 , 12.1 และ 9.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ การพัฒนาของรูปแบบธุรกิจ E-commerce เช่น การ Live Streaming การค้าปลีกแบบจัดส่งของได้ทันที มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของการบริโภคออนไลน์ เมื่อพิจารณาจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมบริการไปรษณีย์และการจัดส่งพัสดุแล้ว มีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการค้าปลีกออฟไลน์ ขณะนี้ร้านค้าปลีกออฟไลน์ได้มีการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้ช็อปปิ้งเพื่อเพิ่มประสบการณ์มากขึ้น ทำให้การค้าปลีกออฟไลน์ก็มีการฟื้นตัวและขยายตัวร้อยละ 3.3 ในช่วงไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนดังกล่าวยอดค้าปลีกผ่านร้านสะดวกซื้อ และร้าน Official มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.2 และ 6.3 ตามลำดับ

นอกจากสินค้าทั่วไป สินค้าเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หากพิจารณาจากประเภคสินค้า สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีการเติบโตอย่างเสถียร เช่น สินค้ายาสูบและแอลกอฮอล์ สินค้าน้ำมันบริโภค ธัญญาหาร และอาหาร สินค้าเครื่องดื่ม มีการขยายตัวร้อยละ 12.5 , 9.6 และ 6.5 ตามลำดับ ด้วยการยกระดับอุปทานของตลาด และการสร้างกระแสความนิยมเป็นระยะๆ สินค้าเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของประชาชนมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรก ผลิตภัณฑ์ด้านกีฬาและความบันเทิง อุปกรณ์สื่อสาร มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 14.2 และ 13.2 ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน สินค้าที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนจากเชิงลบเป็นเชิงบวก เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ภาพและเสียง มีอัตราขยายตัวร้อยละ 3 ขณะที่สินค้าเฟอนิเจอร์มีการขยายตัวร้อยละ 5.8 และยอดค้าปลีกผลิตภัณฑ์การก่อสร้าง และวัสดุตกแต่งก็มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เช่นกัน

การบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยม

ขณะนี้ ผู้บริโภคขาวจีนมีกระแสความนิยมการเดินทางแบบสีเขียว ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการจำหน่ายของรถยนต์พลังงานใหม่ ตัวเลขจากสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกยอดจำหน่ายรถยนต์พลังใหม่ มีอัตราขยายตัวมากกว่าร้อยละ 30 โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2567 ยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ได้ครองตลาดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.6 ของตลาดโดยรวม ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มการบริโภคใหม่ของการบริโภคในประเทศ

ความคิดเห็น สคต. ณ เมืองหนานหนิง ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนในขณะนี้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจีนกำลังพยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทั่วไป หรือด้านธุรกิจบริการ อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทยด้วยจำนวนประชากรที่มีจำนวนมหาศาล ผู้ส่งออกไทยสามารถพิจารณาคัดเลือกสินค้าที่นิยมในตลาดจีนเพื่อตอบเจาะตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน เพื่อขยายและแย่งส่วนแบ่งการตลาดในจีน

—————————————————————————————————-

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

แหล่งที่มา:

https://www.163.com/dy/article/IVV6L95V0514CQIE.html

thThai