สวิตเซอร์แลนด์ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวที่มีราคาแพงขึ้น

สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

 

ในสวิตเซอร์แลนด์มีการเพาะปลูกข้าวในรัฐตีชีโน (Canton Ticino) ทางตอนใต้สุดของประเทศเป็นเวลานานแล้ว โดยเป็นการปลูกแบบแห้งเหมือนข้าวสาลี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณปีละ 450 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ สวิตฯ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นหลัก

 

สมาพันธ์เกษตรกรสวิส (Schweizer Bauernverband) ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากปัจจัยด้านอุณหภูมิทำให้การเพาะปลูกแบบแห้งในสวิตเซอร์แลนด์สามารถทำได้เฉพาะในรัฐตีชีโนเท่านั้น ในอนาคตอาจมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปยังพื้นที่อื่น ๆ เมื่อมีข้าวพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อความหนาวเย็นมากขึ้น ทั้งนี้ ในประเทศสวิตฯ แถบที่พูดภาษาเยอรมันได้มีการทดลองเพาะปลูกข้าวแบบเปียก ซึ่งเป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำขังในแปลงนา และข้าวเติบโตในน้ำ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้ใช้เวลานานมากและมีเพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่เหมาะสม

 

สมาพันธ์เกษตรกรสวิส เผยตัวเลขการบริโภคข้าวต่อหัวต่อปีในสวิตฯ อยู่ที่ 6.5 กิโลกรัม หากเปรียบเทียบกับการบริโภคธัญพืชยอดนิยมอย่างข้าวสาลี ที่มีการการบริโภคต่อหัวที่ 70 กิโลกรัมต่อปี และมันฝรั่ง 50 กิโลกรัมต่อปี จะเห็นได้ว่าการบริโภคข้าวยังมีสัดส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาที่ผ่านมา อัตราการบริโภคข้าวขยายตัวต่อเนื่องทุกปี

 

เมื่อดูสถิติการค้าต่างประเทศพบว่า สวิตเซอร์แลนด์จ่ายเงินเพิ่มอีกกว่า 1 ใน 5 (+21%) สำหรับการนำเข้าข้าวจำนวนเท่าเดิมในปี 2023 ทั้ง Migros และ Coop ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกยักษ์ใหญ่ต่างปรับขึ้นราคาขายข้าว โดย Migros ให้เหตุผลจากราคารับซื้อที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีต้นทุนในการเก็บเกี่ยว การขนส่ง และพลังงานสูงขึ้น ในอิตาลี ข้าวมีราคาแพงขึ้นเนื่องจากภัยแล้ง และในเอเชีย ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นทำให้ Migros ประสบปัญหา ในส่วนของ Coop ก็ให้เหตุผลในทำนองเดียวกันทั้งด้านราคาวัตถุดิบ ต้นทุนด้านพลังงานและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ Coop ได้นำข้าวแบรนด์ Ben’s Original ออกจากชั้นวางจำหน่ายเนื่องจากไม่ต้องการปฏิบัติตามการเรียกร้องให้ขึ้นราคาที่สูงเกินไปจากบริษัท Mars และต้องการจะเปิดตัวแบรนด์ข้าวของตัวเอง “nahe am Original” เร็ว ๆ นี้

 

ในปี 2023 สวิตฯ นำเข้าข้าวจากทั่วโลกคิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 93,111 ตัน ลดลงร้อยละ 7.37 หรือคิดเป็นมูลค่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 โดยนำเข้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ 1. บราซิล 38,153 ตัน 2. อิตาลี 21,476 ตัน 3. ไทย 15,006 ตัน 4. อินเดีย ตัน และ 5. ปากีสถาน 4,313 ตัน ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40.98, 23.07, 16.12, 7.58 และ 4.63 ตามลำดับ (นำเข้าจากเวียดนาม 210 ตัน และกัมพูชา 62 ตัน)

 

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2024 สวิตฯ นำเข้าข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 21,829 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.22 หรือคิดเป็นมูลค่า 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.17 โดเป็นการนำเข้าข้าวจากไทยซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 รองจากบราซิล จำนวน 3,729 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.45 หรือคิดเป็นมูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.65

****************************************************

 

ที่มา:

SWI swissinfo.ch, foodaktuell, Global Trade Atlas

 

thThai