“มวย” คือ คำเรียกศาสตร์การต่อสู้ที่บรรพบุรุษไทยใช้ปกป้องชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีชั้นเชิงเป็นเอกลักษณ์ตามแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ จึงมีโวหารเปรียบเทียบว่า “หมัดหนักมวยโคราช ชกฉลาดมวยลพบุรี ท่าดีมวยไชยา ไวกว่ามวยท่าเสา”

เมื่อกาลสงครามสิ้นสุดลงแล้ว มวยก็กลายเป็นกีฬาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดในกีฬามวย แต่มวยทุกแขนงมีวิชาอันเป็นพิษสงอันตรายถึงชีวิต อาทิ การ ‘ทุ่ม-ทับ-จับ-หัก’ ของมวยไชยา หรือหมัดเหวี่ยงควายของมวยโคราช ซึ่งล้วนไม่สามารถการกีฬาได้ จึงจำเป็นต้องลดหลั่นเป็นลำดับ เริ่มต้นจากพระราชโอการห้ามให้หัวโขกจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เพราะทรงเห็นว่า การใช้หัวโขกเป็นวิชาที่รุนแรงเกินไป

ทว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากนักมวยสายพระยาพิชัย (มวยท่าเสา) ใช้ท่าหนุมานถวายแหวน ชกเข้ากลางลูกกระเดือกของนักชกชาวเขมรจนเสียชีวิต มวยทุกแขนงที่กล่าวมาข้างต้นถูกบรรจุลงในหลักสูตร “มวยโบราณ” ไม่สามารถนำมาใช้ในการแข่งขันได้ ส่วนมวยที่ใช้ในการกีฬาก็ถูกปรับปรุงใหม่ ลดวิชาอันตรายให้น้อยลง แต่คงกายาอาวุธ ‘สองหมัด-สองเท้า-สองเข่า-สองศอก’ ไว้ จนกลายเป็น “มวยไทย” ในปัจจุบัน

มวยไทยเป็นที่ยอมรับในสายตาของนานาชาติ ถูกขนานนามว่าเป็นศาสตร์การใช้อาวุธทั้งแปดบนร่างกาย (Art of Eight Limbs) โจมตีคู่ต่อสู้ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง อันเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทยให้ประจักษ์บนเวทีโลก ทั้งในแง่ของซอฟต์พาวเวอร์และธุรกิจ ซึ่งไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มวยไทยได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศจีน

ด้วยสภาพแวดล้อมทางการตลาดของอุตสาหกรรมฟิตเนสที่เปลี่ยนไปในปี 2024 แต่เนื่องจากชาวจีนให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากและดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายควบคู่กันไป ยิมหลาย ๆ แห่งในประเทศจีนต้องสร้างเอกลักษณ์ให้ธุรกิจตัวเองเพื่อดึงดูดลูกค้า มวยไทยก็เลยเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะฝึกง่าย เผาผลาญพลังงานเยอะ และสามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย

อุตสาหกรรมมวยไทยในประเทศจีน

แหล่งที่มา https://cn.chinadaily.com.cn/a/202309/04/WS64f59398a310936092f2033f.html

ในขณะเดียวกัน OXYGYM  (OXYGYM奥美氧舱运动中心) แบรนด์ฟิตเนสที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่งและทรงอิทธิพลอย่างมาก ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับโรงยิมแห่งอนาคต โดยร่วมมือกับ Shoutai CTC (首泰CTC综合格斗俱乐部) หนึ่งในสโมสรศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง เพื่อสอนและพัฒนาหลักสูตรมวยไทยให้เข้าถึงศาสตร์การใช้อาวุธ ‘หมัด-เท้า-เข่า-ศอก’ อย่างถ่องแท้ โดยมีชาวจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกในยิมหลายพันคน เพราะมวยไทยเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของชาวจีน ตั้งแต่นักเรียนวัยประถมศึกษา มัธยมต้น ไปจนถึงคนวัยกลางคน สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างมาตรฐานการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่เน้นการรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ชาวจีนได้เรียนรู้

พฤติการณ์ข้างต้นสะท้อนอีกนัยหนึ่งว่า รัฐบาลจีนตะหนักได้ถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี และต้องการปลูกฝังให้ประชาชนรักษาสุขภาพ ยกตัวเช่น การสนับสนุนให้บริษัท China Mobile ร่วมกับ UFC เพื่อเปิดตัวมหกรรมการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นการแข่งขันสมรรถภาพทางกายในรูปแบบครบวงจรที่จัดขึ้นโดย มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวคิดของการมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งสร้างบรรยากาศสำหรับการออกกำลังกายในระดับประเทศ โดยโครงการแข่งขันแบ่งออกเป็นโครงการทดสอบทางเทคนิคและทดสอบสมรรถภาพทางกาย ซึ่งโครงการทดสอบทางเทคนิคประกอบด้วยทักษะมวยไทยถึง 4 ทักษะด้วยกัน แสดงให้เห็นว่ามวยไทยเป็น Soft Power ที่มีศักยภาพสูงเป็นอย่างมาก

ข้อคิดเห็น สคต. เซี่ยงไฮ้

ด้วยความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ที่หันมาสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนด้วยการส่งเสริมมวยไทยในฐานะ Soft Power ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยผ่านวัฒนธรรมกีฬา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศอย่างมีประสิทธิผลต่อไปในอนาคต

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

แหล่งที่มา

https://cn.chinadaily.com.cn/a/202309/04/WS64f59398a310936092f2033f.html

https://yn.chinadaily.com.cn/a/202306/27/WS649a4d3da310ba94c56139ce.html

https://caijing.chinadaily.com.cn/a/202306/20/WS649155c9a310ba94c5612ba4.html

https://www.aseanwatch.org/wp-content/uploads/2018/10/ข้อเสนอนโยบาย-soft-power-revised.pdf

thThai