เวียดนามคาดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2567

การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเวียดนาม คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดปี 2567 เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงยังคงดำเนินต่อไปอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

จากข้อมูลของ Fitch Solutions แนวโน้มเชิงบวกสำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในตลาดเวียดนามในปี 2567 ได้รับแรงหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งนำไปสู่รายได้สำหรับใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Disposable Income) ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อย ๆ จางหายไป

ตามรายงานล่าสุดคาดว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว แตะระดับ 3,470.7 ล้านล้านเวียดนามด่ง หรือ 143,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราคาปี 2553 เป็นปีฐาน) ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดที่บันทึกไว้ในปี 2562 ที่ 2,770 ล้านล้านด่ง (113.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ  Fitch Solutions เน้นย้ำว่าการเติบโตนี้สะท้อนถึงการกลับคืนสู่การเติบโตที่มั่นคงใกล้เดียวกันก่อนเกิดการระบาดใหญ่ที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.6 ระหว่างปี 2558 ถึง 2562

นอกจากนี้ การเติบโตที่แข็งแกร่งคาดว่าจะเกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและตลาดแรงงานที่ตึงตัว จากการวิเคราะห์ของ Fitch Solutions คาดว่า ปัจจัยดังกล่าวจะกระตุ้นการใช้จ่าย โดยมีการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงคงที่และสนับสนุนกำลังซื้อตลอดทั้งปี 2567

ยอดค้าปลีกเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ยอดค้าปลีกเติบโตร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งต่ำกว่าระดับร้อยละ 20 ที่บันทึกไว้เมื่อต้นปีอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยยอดค้าปลีกเติบโตในอัตราเลขสองหลักติดต่อกัน 14 เดือน จนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคม 2566 ถือเป็นการเติบโตของยอดค้าปลีกเป็นเดือนที่ 25 ติดต่อกัน

ในปี 2567 Fitch Solutions คาดการณ์ว่า การเติบโตของยอดค้าปลีกจะทรงตัว สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในวงกว้าง และแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเวียดนามในปี 2567 สอดคล้องกับการคาดการณ์ Country Risk ที่ว่า เศรษฐกิจในประเทศจะเติบโตที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ร้อยละ 4.7 ขณะเดียวกัน เวียดนามด่งคาดว่าจะอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐจาก 23,800 เวียดนามด่งต่อเหรียญสหรัฐในปี 2566 เป็น 24,350 เวียดนามด่งต่อเหรียญสหรัฐในปี 2567

Fitch Solutions ระบุว่า เวียดนามยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมากเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ การอ่อนค่าลงของเงินด่ง ซึ่งจะสร้างอุปสรรคต่อการเติบโตของการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากการนำเข้ามีราคาแพงขึ้น อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราการว่างงานที่ต่ำมากและมีเสถียรภาพ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง คาดว่าจะช่วยชดเชยได้บ้าง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคเวียดนามในปี 2567 จะยังคงเติบโตอย่างมั่นคง  ในเวียดนาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศกระตุ้นการนำเข้าและแนวโน้มการลดค่าเงินด่งยังคงส่งผลต่อราคานำเข้า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลล่าสุดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของ Fitch Solutions ในปี 2567 ที่ร้อยละ 4.5 แสดงว่าราคาสินค้าและบริการจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งปี

โอกาสในตลาดเวียดนาม

ตลาดเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงที่แข็งแกร่ง เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนตลาดแรงงานในท้องถิ่นอย่างแข็งขัน ส่งผลให้มีการขึ้นค่าจ้าง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง แต่ตลาดแรงงานที่เติบโตยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเวียดนามตลอดปี 2565 และ 2566อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจหลัก ๆ คาดว่าจะชะลอตัวในปี 2567  Fitch Solutions จึงคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น ระดับการออมส่วนบุคคลที่ลดลง ครัวเรือนปรับพฤติกรรมการซื้อของและลดการใช้จ่าย ตามข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงหลักต่อแนวโน้มการบริโภคเวียดนามในปี 2567

 (แหล่งที่มา https://vietnamnet.vn/ ฉบับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

Fitch Solutions เน้นย้ำว่า การเติบโตนี้สะท้อนให้เห็นถึงการกลับคืนสู่วิถีปกติก่อนการระบาดโควิด-19 ซึ่งสังเกตได้ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 จึงมีส่วนทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเติบโตในเวียดนาม จากข้อมูลของ Fitch Solutions การใช้จ่ายภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 5.5 ช่วยให้ตลาดเวียดนาม คึกคักมากขึ้นกว่าเดิม การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของเวียดนามที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดปี 2567 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีแนวโน้มที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น และมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อเวียดนามซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0 แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบมากต่อการจับจ่ายสินค้าจำเป็นในขีวิตประจำวัน ทำให้ภาคการค้าปลีกของเวียดนามยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ตลาดเวียดนามในปี 2567 ยังคงเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้านำเข้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยมีคาดการณ์การเติบโตการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจโดยรวมยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ คาดการณ์การเติบโต GDP อยู่ที่ร้อยละ 5.5-6.5 ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์การว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกระทบโดยตรงกับกำลังซื้อของผู้บริโภคเวียดนาม อย่างก็ตามสินค้าไทยเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเวียดนามให้ความนิยม เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพ และมีราคาที่สมเหตุสมผล หากแต่ในปัจจุบันเวียดนามมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดเวียดนามสูงขึ้นเช่นกัน

thThai