สถานการณ์ตลาดข้าวในเยอรมนี และแนวโน้มตลาดปี 2024

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

 

สถานการณ์ตลาดข้าวในเยอรมนี

เยอรมนีเป็นหนึ่งในตลาดศักยภาพสำหรับข้าวไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง (GDP PPP per capital 2023 = 66,037 USD) ในปี 2023 เยอรมนีนําเข้าข้าวจากทั่วโลกคิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 367,983 ตัน ลดลงร้อยละ 12.85 เมื่อเทียบกับจํานวน 422,232 ตันของปีที่ผ่านมา

 

ตารางแสดงการนำเข้าข้าวของเยอรมนีจากประเทศที่สาม ปีการตลาด 2023/2024

สถานการณ์ตลาดข้าวในเยอรมนี และแนวโน้มตลาดปี 2024

ข้อมูลจาก EUROSTAT (COMEXT system) ระบุว่า ในปีการตลาด 2023/2024 (ช่วงเวลาระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2023) เยอรมนีนำเข้าข้าว (จากประเทศที่สาม นอกสหภาพยุโรป) คิดเป็นปริมาณ 21,660 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.87 เมื่อเทียบกับจํานวน 17,394 ตัน ของปีการตลาดที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการนําเข้าข้าวสารที่สีแล้วหรือสีบางส่วน (Total Milled & semi-milled) สายพันธุ์ Indica โดยมีตลาดนําเข้าหลัก ได้แก่

(1) อินเดีย 5,032 ตัน (+65.47%) สัดส่วน 23.2%

(2) ปากีสถาน 4,659 ตัน (-3.38%) สัดส่วน 21.5%

(3) กัมพูชา 4,370 ตัน (+49.70%) สัดส่วน 20.2%

(4) เวียดนาม 4,156 ตัน (+79.91%) สัดส่วน 19.2%

(5) ไทย 1,500 ตัน (-18.87%) สัดส่วน 6.9%

 

ทั้งนี้ เยอรมนีใช้ระเบียบข้อบังคับร่วมของสหภาพยุโรปในการนำเข้าข้าว ซึ่งกำหนดลักษณะการนำเข้าและอัตราภาษี แบ่งเป็น การนำเข้านอกโควตา ซึ่งไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลาในการนำเข้า และการนำเข้าในโควตา ซึ่งกำหนดให้นำเข้าข้าวตามช่วงเวลาและปริมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยไทยมีปริมาณโควตาสินค้าข้าวของสหภาพยุโรป ดังนี้

  1. ข้าวขาว (CN code: 1006 30) รหัสโควตา 09.4112 ปริมาณโควตา 4,682 ตัน ช่วงเวลาโควตาระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน
  2. ข้าวขาว (CN code 1006 30) รหัสโควตา 4128 ปริมาณโควตา 17,728 ตัน แบ่งเป็นช่วงเวลาโควตาย่อยระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม จำนวน 8,864 ตัน ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน จำนวน 4,432 ตัน และระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม จำนวน 4,432 ตัน
  3. ข้าวหัก (CN code 1006 40) รหัสโควตา 09.4149 ปริมาณโควตา 17,728 ตัน แบ่งเป็นช่วงเวลาโควตาย่อยระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน จำนวน 34 110 ตัน และระหว่างเดือน – กรกฎาคม กันยายน จำนวน 14 619 ตัน
    การนำเข้าข้าวขาวจากไทยมีอัตราภาษีนำเข้าในโควตา 0 ยูโรต่อตัน และอัตราภาษีนำเข้านอกโควตา 175 ยูโรต่อตัน ในส่วนของการนำเข้าข้าวหักมีอัตราภาษีนำเข้าในโควตา 45 ยูโรต่อตัน และอัตราภาษีนำเข้านอกโควตา 65 ยูโรต่อตัน

ปัจจุบันผู้บริโภคในเยอรมนีหันมานิยมบริโภคข้าวมากกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2022/2023 มีอัตราการบริโภคต่อหัวอยู่ที่ 6.9 กิโลกรัมต่อปี (ปี 2012/2013 อัตราการบริโภคต่อหัวอยู่ที่เพียง 5.5 กิโลกรัมต่อปี) โดยข้าวที่ได้รับความนิยมคือข้าวเมล็ดยาวคุณภาพดี เช่น ข้าวบาสมาติ ข้าวกลิ่นหอมของสหรัฐฯ ข้าวหอมมะลิไทย ช่วงอายุที่มีการผู้บริโภคข้าวมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้
(1) อายุระหว่าง 45 – 54 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.5
(2) อายุระหว่าง 55 – 64 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.7
(3) อายุระหว่าง 35 – 44 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.2
(4) อายุระหว่าง 25 – 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.4
(5) อายุระหว่าง 18 – 24 ปี คิดเป็นร้อยละ 10.3
โดยเป็นคิดการบริโภคข้าวในกลุ่มผู้มีรายได้สูงร้อยละ 35.3 กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางร้อยละ 34.7 และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยร้อยละ 30.0

 

แนวโน้มตลาดปี 2024

สถานการณ์ตลาดข้าวในเยอรมนี และแนวโน้มตลาดปี 2024

แม้การบริโภคข้าวในเยอรมนียังคงน้อยอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับระดับนานาชาติ (โดยเฉพาะในเอเชีย) อย่างไรก็ตาม ตลาดข้าวในเยอรมนีเติบโตทุกปีและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง บริษัทวิจัยตลาด Statista Market Insights ได้ประเมินมูลค่ายอดขายข้าวในเยอรมนีในปี 2024 อยู่ที่ 600 ล้านยูโร (ประมาณ 23,000 ล้านบาท) และคาดการณ์มูลค่าตลาดในปี 2028 จะอยู่ที่ 670 ล้านยูโร (ประมาณ 26,000 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 2.80% (CAGR 2024-2028) จากข้อมูลสถิติจะเห็นได้ว่า ทิศทางมูลค่าตลาดข้าวในเยอรมนีมีลักษณะค่อย ๆ เติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้มูลค่าตลาดข้าวขยายตัวอย่างมากในปี 2022 และคาดว่าจะกลับสู่ภาวะเติบโตปกติตั้งแต่ปี 2024 นี้ เป็นต้นไป

 

โอกาสและอุปสรรคในการขยายตลาดข้าวไทย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพและให้ความสําคัญกับความปลอดภัยของอาหารเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดส่งออกข้าวของไทย โดยนอกจากการนําเสนอข้าวพรีเมียม เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีคุณภาพและรสชาติเป็นที่รู้จักในตลาดเยอรมนีแล้ว ข้าวตลาดเฉพาะอย่างข้าวอินทรีย์ ข้าวโภชนาการสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสี ข้าวไรซ์เบอร์รี เป็นสินค้าที่สามารถเจาะตลาดคนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ราคาคือความท้าทายของการส่งออกข้าวไทย ราคาข้าวไทยที่สูงทําให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ส่งผลให้ผู้นําเข้าหันไปนําเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และกัมพูชามากขึ้น ซึ่งมีต้นทุนการผลิตและราคาขายต่ำกว่าไทย โดยเฉพาะเวียดนามที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

****************************************************

 

ที่มา:

  1. Directorate-General for Agriculture and Rural Development, European Commisision
  2. https://de.statista.com/
  3. Global Trade Atlas
  4. TARIC, the integrated Tariff of the European Union

 

 

 

 

 

 

thThai